นิราศหนองคาย |
|
กวี : หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) |
|
ประเภท : กลอนนิราศ |
|
|
๏ จะเริ่มเรื่องเมืองหนองคายจดหมายเหตุ | | ในแดนเขตเขื่อนคุ้งกรุงสยาม
|
บังเกิดพวกอ้ายฮ่อมาก่อความ | | ทำสงครามกับลาวพวกชาวเวียง
|
ซึ่งเจ้าเมืองเขตขัณฑ์ตะวันออก | | ก็แต่งบอกเขียนหนังสือลงชื่อเสียง
|
ในเขตแดนหนองคายเมืองรายเรียง | | เมืองใกล้เคียงบอกบั่นกระชั้นมา
|
ว่าล้วนพวกอ้ายฮ่อทรลักษณ์ | | ประมาณสักสามพันล้วนกลั่นกล้า
|
เที่ยวรบปล้นขนทรัพย์จับประชา | | ลาวระอามิได้อาจขยาดกลัว ฯ
|
|
|
๏ สมเด็จพระปรมินทร์บดินทร์เดช | | ซึ่งปกเกศร่มเกล้าเจ้าอยู่หัว
|
สดับเรื่องเมืองบนกระมลมัว | | ศึกพันพัวราษฎร์ประเทศในเขตคัน
|
ด้วยไพร่บ้านพลเมืองจะเคืองขุ่น | | ทรงการุญราษฎรคิดผ่อนผัน
|
เชิญสมเด็จเจ้าพระยาปรึกษาพลัน | | พร้อมด้วยพันธุพงศ์พระวงศ์วาน
|
เห็นแต่เจ้าพระยามหินทร์เคาซิลลอ | | เป็นเนื้อหน่อพงศ์เผ่าเหล่าทหาร
|
พอจะเป็นแม่ทัพรับราชการ | | ที่รำคาญขุ่นข้องเมืองหนองคาย
|
แล้วจัดพระยา, พระ, หลวงทั้งปวงอีก | | ให้เป็นปีกซ้ายขวาทัพหน้าหลาย
|
ทั้งเกณฑ์เลขสมฉกรรจ์พันทนาย | | ทั้งเลขจ่ายตามกรมระดมกัน
|
เกณฑ์เลขทาสทั้งที่มีค่าตัว | | ดูนุงนัวนายหมวดเร่งกวดขัน
|
ผู้ที่เป็นมุลนายวุ่นวายครัน | | บ้างใช้ปัญญาหลอกบอกอุบาย
|
ว่าตัวทาสหลบลี้หนีไม่อยู่ | | ข้างเจ้าหมู่เกาะตัวจำนำใจหาย
|
ที่ตัวทาสหนีจริงวิ่งตะกาย | | ทำวุ่นวายยับเยินเสียเงินทอง
|
เกณฑ์ขุนหมื่นขึ้นใหม่ในเบี้ยหวัด | | ขุนหมื่นตัดเกณฑ์ตามเอาสามสอง
|
ท่านนายเวรเกณฑ์กวดเต็มหมวดกอง | | เอาข้าวของเงินตราปัญญาดี
|
เหล่าพวกขุนหมื่นไพร่ต้องไปทัพ | | ที่มีทรัพย์พอจะจ่ายไม่หน่ายหนี
|
สู้จ้างคนแทนตัวกลัวไพรี | | ที่เงินมีเขาไม่อยากจะจากจร ฯ
|
|
|
๏ ฉันจำร้างห่างมิตรขนิษฐ์นาฏ | | หวาน(?)สวาทด้วยจะร้างห่างสมร
|
แสนถวิลจินดาด้วยอาวรณ์ | | สะท้อนถอนฤทัยอาลัยครวญ
|
กางกรประคองกอดแม่ยอดรัก | | พิศพักตร์สาวน้อยละห้อยหวน
|
นึกก็น่าใจหายเสียดายนวล | | ด้วยจำด่วนจากนางไปห่างเรือน
|
แสนสงสารแต่พธูจะอยู่เดียว | | นึกเฉลียวอาลัยใครจะเหมือน
|
พึ่งอยู่กินด้วยพี่สักสี่เดือน | | จะจากเพื่อนพิศวาสแทบขาดใจ
|
ครั้นเห็นน้องนองเนตรสังเวชจิต | | นึกหวนคิดว่าจะเบือนเชือนไถล
|
จะบอกป่วยเสียให้มากไม่อยากไป | | กลัวจะไม่เป็นธรรม์กตัญญู
|
นายมีกิจควรคิดเอาตัวรอด | | คนจะย้อนค่อนขอดได้อดสู
|
ต้องจำใจจำร้างห่างพธู | | จงเชิญอยู่ให้เป็นสุขสนุกดี
|
อย่าร้องไห้จะเป็นลางจงสร่างโศก | | อย่าวิโยคนักน้องจะหมองศรี
|
แม้นตั้งใจไว้ท่าไม่ราคี | | นั่นแลมีความชอบฉันขอบใจ ฯ
|
|
|
๏ ถึงวันพุธเดือนสิบแรมแปดค่ำ | | เป็นวันอำมฤตโชคโฉลกใหญ่
|
ณ ปีกุนสัปตกศกจะยกไป | | จำครรไลโลมลาสุดาดวง
|
น้ำตาไหลพรากพรากออกจากห้อง | | เหลียวดูน้องใจหายไม่วายห่วง
|
ค่อยแข็งขืนฝืนอารมณ์ที่ตรมทรวง | | แล้วเลยล่วงอำลาแม่อาพลัน
|
ท่านก็ร่ำอวยชัยให้เป็นสุข | | อย่ามีทุกข์อันตรายทางผายผัน
|
สวัสดีมีชัยพ้นภัยยัน | | เมื่อกลับนั้นจงเป็นสุขสิ้นทุกข์ร้อน
|
ลงจากเรือนเบือนดูแม่คู่ชื่น | | ถอนสะอื้นโหยไห้ฤทัยถอน
|
สละรักหักใจอาลัยวรณ์ | | ฝืนใจจรรีบเดินเมินไม่มอง
|
มาครู่หนึ่งถึงสถานบ้านเจ้าคุณ | | กำลังวุ่นผู้คนเขาขนของ
|
ฉันฝืนพักตร์เข้าฝาน้ำตานอง | | ใจสยองยิ่งสลดระทดระทม
|
แสนคะนึงภึงมิตรพิศวาส | | ใจจะขาดลงด้วยร้างห่างคู่สม
|
ค่อยแข็งขืนกลืนน้ำตาหักอารมณ์ | | ครั้นวายตรมแล้วมานั่งคอยฟังการ
|
คนพร้อมพรั่งนั่งรอหน้าหอใหญ่ | | ทั้งพวกไพร่เหล่าพหลพลทหาร
|
บ้างขนเสบียงลงเรือเกลือน้ำตาล | | ทั้งข้าวสารข้าวตากและหมากพลู
|
ของเจ้าคุณขนเนื่องทั้งเครื่องใช้ | | คนขนไม่หยุดหย่อนร้องอ่อนหู
|
เกินจะพรรณนาเหลือตาดู | | เครื่องคาวหวานมีอยู่ก็มากครัน
|
เครื่องอาวุธสารพัดท่านจัดซื้อ | | ล้วนเครื่องมอรบทัพดูขับขัน
|
ซื้อเสื้อหมวกแจกจ่ายเป็นหลายพัน | | ล้วนแพรพรรณสักหลาดสะอาดตา
|
ลงทุนซื้อของมีบัญชีเสร็จ | | สักร้อยเจ็ดสิบชั่งก็ยังกว่า
|
เครื่องหน้าไม้เครื่องมือซื้อเอามา | | ทั้งมีดพร้าจอบเสียบก็เตรียมการ
|
และท่านทำแหวนเพชรสิบเอ็ดวง | | หวังใจจงแจกจ่ายนายทหาร
|
ที่ไม่คิดย่อหย่อนเข้ารอนราญ | | ใครทำการศึกสำเร็จบำเหน็จมือ
|
ทั้งเสื้อผ้าสารพัดท่านจัดครบ | | ถ้าใครรบจริงจริงไม่วิ่งตื๋อ
|
เข้าตีข้าศึกแยกให้แตกฮือ | | จดเอาชื่อแล้วจะได้ให้รางวัล ฯ
|
|
|
๏ ครั้นบ่ายสามโมงถ้วนจวนจะฤกษ์ | | เอิกเกริกไพร่นายเตรียมผายผัน
|
พอสมเด็จเจ้าพระยาท่านมาพลัน | | เจ้าคุณนั้นออกมารับคำนับกาย
|
พร้อมสมณพราหมณาโหราศาสตร์ | | นั่งเกลื่อนกลาดเคียงขนานประมาณหลาย
|
พนักงานตั้งเตียงไว้เรียงราย | | ที่อาบสายชลธาร์เบญจางาม
|
เจ้าคุณแม่ทัพคำนับน้อมสมเด็จ | | แล้วก็เสร็จสู่เบญจาหน้าสนาม
|
สรงพุทธมนต์ชลอาบปราบสงคราม | | ขึ้นเหยียบไม้ข่มนามศัตรูพาล
|
พระสงฆ์องค์สมมุตวงศ์พุทโธ | | ชยันโตสำเนียงเสียงประสาน
|
เสียงฆ้องชัยลั่นต้องก้องกังวาน | | โหราจารย์พรามหมณ์เคาะบัณเฑาะว์ดัง
|
พระครูโหรอวยชัยให้เดชะ | | พระหมณะผู้เฒ่าก็เป่าสังข์
|
พร้อมด้วยเหล่าเจ้าพระยาดาประดัง | | ขุนนางนั่งสลอนอวยพรชัย ฯ
|
|
|
๏ ฝ่ายเจ้าคุณแม่ทัพครั้นสรรพเสร็จ | | น้อมสมเด็จเจ้าพระยาอัชฌาสัย
|
ออกมานั่งคอยฤก์เบิกบานใจ | | ผินพักตร์ไปฝ่ายบุรพาทางนาคิน
|
ท่านสมเด็จเจ้าพระยาคอยหาฤกษ์ | | พอเมฆเลิกดูอุดมสมถวิล
|
สุริยงทรงรถหมดมลทิน | | ทางกสิณบริบูรณ์เพิ่มพูนดี
|
สมเด็จท่านขานไขบอกได้ฤกษ์ | | แล้วให้เบิกฆ้องชัยได้ดิถี
|
ก็โห่ร้องเอาชัยปราบไพรี | | ท่านแม่ทัพจรลีลงเรือพลัน
|
ฝีพายพลโห่ร้องก้องสะเทือน | | เสร็จคลาเคลื่อนกองทัพดูคับขัน
|
เรือกระบวนสวนแซงพายแย่งกัน | | เสียงสนั่นเป็นระลอกกระฉอกชล
|
ทั้งสองฟากเรือตลอดจอดเป็นหมู่ | | ล้วนคนดูกองทัพเรือสับสน
|
กลามตลอดจอดแพออกแจจน | | กญิงชายบนตลิ่งดูอยู่สำราญ
|
ดูเรือแพแออัดสงัดหาย | | ไม่อาจพายออกมาตัดหน้าฉาน
|
กลัวจะกีดกันขวางทางชลธาร | | หลบหนีซ่านเข้าจอดตลอดมา ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงตำหนักแพแลไสว | | พวกข้างในนั่งอยู่ดูหนักหนา
|
ปางพระจอมจักรพรรดิ์กษัตรา | | เสด็จมาคอยรับกองทัพเอง
|
เหล่าขุนนางแวดล้อมอยู่พร้อมพรั่ง | | ลงที่นั่งปิกนิกกั้นบดเก๋ง
|
ทอดพระเนตรเรือแพทรงแลเล็ง | | เสียงแซ่เซ็งแตรฝรั่งก้องกังวาน
|
เรือเจ้าคุณจอดเลียบประเทียบลำ | | ถวายคำนับน้อมจอมสถาน
|
แล้วถวายบังคมราบลงกราบกราน | | ตามบูราณประเพณีที่มีมา
|
กรุงกษัตริย์จิ้มเจิมเฉลิมพักตร์ | | ทรงสังข์ทักษิณาวัฏต่อหัตถา
|
เป็นสังข์เวียนซ้ายเรียกทักษิณา | | เป็นภาษาไพร่คิดโดยจิตเดา
|
ด้วยฉันมาหน้าแคร่ท่านแม่ทัพ | | ครั้นได้รับน้ำสังข์ไม่นั่งเหงา
|
เป็นเหตุให้ทุกข์สร่างลงบางเบา | | แต่ยังเมาโศกรักหนักอาวรณ์
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพคำนับน้อม | | ฝ่ายพระจอมบพิตรอดิศร
|
เสด็จทรงสังข์สรรเสริญเจริญพร | | แล้วกรายกรหยิบนาฬิกามาประทาน
|
ทองคำทำตลับระยับย้อย | | ทั้งสายสร้อยสามกษัตริย์จัดประสาน
|
พระจอมนาถมีพระราชโองการ | | ว่าของนานทำไว้จะให้เธอ
|
ฉันลงชื่อเขียนไว้ในตลับ | | เจ้าคุณรับได้ของประคองเสนอ
|
ถวายคำนับซ้ำทำบำเรอ | | เสด็จเผยอเรือออกบอกฝีพาย
|
ครั้นเรือออกประตูฝ่านาวาคล้อย | | พระสงฆ์คอยประน้ำมนต์พลทั้งหลาย
|
คนในเรือรับพลางต่างวางพาย | | น้อมถวายบังคมประนมกร ฯ
|
|
|
๏ ครั้นล่วงพ้นโขลนทวารก็ขานโห่ | | เสียงก้องโกลาหลพลสลอน
|
เอิกเกริกเร่งมาในสาคร | | เรือกระฉ่อนน้ำกระฉอกละลอกโครม
|
เหล่าคนดูเรือจอดตลอดทั่ว | | ล้วนแต่งตัวอ่าอวดประกวดโฉม
|
ที่สาวแท้แลแต่ไกลน่าใคร่โลม | | ฉันหน่งโน้มหักใจอาลัยวอน
|
พวกคนดูถึงว่าที่มีสกุล | | เห็นเจ้าคุณไหว้คำนับสลับสลอน
|
บางคนไหว้แล้วช่วยอำนวยพร | | ประนมกรหยุดจอดตลอดมา ฯ
|
|
|
๏ ถึงตำหนักแพวังหน้านาวาตรง | | มีพระสงฆ์ประน้ำมนต์บ่นคาถา
|
ชยันโตอวยชัยในนาวา | | จอดอยู่หน้าตำหนักแพแซ่สำเนียง
|
พระวังหน้านั้นก็เสร็จเสด็จรับ | | ส่งกองทัพยืนร่าหน้าเฉลียง
|
พร้อมเสนาขวาซ้ายยืนรายเรียง | | บ้างอยู่เคียงพระองค์ผู้ทรงนาม
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพคำนับน้อม | | รองพระจอมจุลจักรหลักสยาม
|
พระกายไทยใจทหารชาญสงคราม | | พระพักตร์งามสง่าชูสุรพงศ์
|
พอกระบวนด่วนล่วงมาเลยลับ | | เรือกองทัพเซ็งแซ่แลระหง
|
สังเกตลมพระพายพัดชายธง | | นิมิตมงคลดีเลิศประเสริฐครัน
|
เรือเขยื้อนเตือนฝีพายทั้งซ้ายขวา | | พระสุริยาเบี่ยงบ่ายลงผายผัน
|
พอเรือไฟพระสุนทราแล่นมาทัน | | เห็นตัวท่านยืนโยกแล้วโบกมือ
|
นึกสงสัยจะเป็นใครที่ไหนหนอ | | แต่งตัวป๋อโบกมือผับบอกนับถือ
|
สังเกตได้แต่ที่มีสี่นิ้วมือ | | นี้คงคือเจ้าคุณพระสุนทรา
|
เพราะนิ้วมือท่านมีสี่นิ้วถ้วน | | นิ้วชี้ด้วนเด็ดชัดข้างหัตถ์ขวา
|
คุมเรือไฟไล่แล่นตามเข้ามา | | ฝีพายคว้าเชือกผูกเรือแล่นเหลือใจ
|
โยงเรือแม่ทัพกับเรือบุตร | | เรือไฟฉุดแล่นลิ่วใจหวิวไหว
|
เรือนายทัพนายกองเนืองนองไป | | เรือกลไฟจูงมาในสาคร ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงวัดเขมาภิรตาราม | | ประทับตามฤกษ์กำหนดให้งดก่อน
|
ด้วยกลางคืนโหรมิให้ครรไลจร | | ก็พอผ่อนแรมกระบวนอยู่ถ้วนกัน
|
พอสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์ | | ลงเรือกลไฟเล็กเล็กทั้งนั้น
|
ขนมาส่งกองทัพด้วยฉับพลัน | | มาถึงทันรอจักรหยุดพักคอย
|
เสด็จลงสู่ยังที่นั่งเก๋ง | | ฝีพายเร่งตึงข้อไม่ท้อถอย
|
พอจวนถึงรอรานาวาคอย | | เรือบ่ายคล้อยหันเรียงให้เอียงลำ
|
เจ้าคุณน้อมบังคมก้มคำนับ | | สมเด็จรับยิ้มนิยมดูคมขำ
|
พระทัยดีมีพระกรุณประจำ | | หยิบเปลป่านซองทองคำมาประทาน
|
เจ้าคุณน้อมคำนับรับสิ่งของ | | สมเด็จพร้องอวยชัยทรงไขขาน
|
แล้วเอื้อนอรรถตรัสเสร็จสำเร็จการ | | ไม่ช้านานกลับหลังคืนวังพลัน ฯ
|
|
|
๏ ฝ่ายข้างพวกกองทัพนั้นสับสน | | บ้างขึ้นบนบกกรายเที่ยวผายผัน
|
บ้างหุงข้าวเผาปลาทูกินอยู่กัน | | บางคนหันเข้าใต้ร่มไม้นอน
|
เจ้าคุณท่านอาศัยในศาลา | | ฉันรักษาอยู่ในเรืออิงเหนือหมอน
|
คำนึงถึงขนิษฐาให้อาวรณ์ | | อุระร้อนรัญจวนหวนคะนึง
|
ป่านฉะนี้แก้วพี่จะโหยหวน | | จะรัญจวนหรือว่าไม่อาลัยถึง
|
แต่อกพี่อาวรณ์ดั่งศรตรึง | | นอนรำพึงถึงแม่ดวงพวงพะยอม
|
แสนเสียดายสายสวาทอนาถจิต | | โอ้าม(?)เอ๋ยเคยชิดแนบถนอม
|
ครั้นยิ่งคิดจิตตรมอารมณ์ตรอม | | ประหนึ่งจอมเขาทับลงกับกาย
|
ซึ่งพี่มาจากนางแต่ร่างเปล่า | | หัวใจเฝ้าเคียงประโลมแม่โฉมฉาย
|
คิดหนังหน่วงห่วงสวาทไม่คลาดคลาย | | โศกไม่วายเสื่อมเศร้าอกเราอา
|
แสนอาวรณ์นอนเผลอละเมอม่อย | | พอเดือนคล้อยดาวเคลื่อนเลื่อนเวหา
|
จวนแจ้งแสงศรีสุริยา | | ตื่นนิทราโหยไห้ฤทัยตรม
|
เสร็จเสพโภชนากระยาหาร | | ทั้งคาวหวานกล้ำกลืนรสขื่นขม
|
กินน้ำใสก็เหมือนกินน้ำดินตม | | ด้วยอารมณ์หวังรักหนักอุรัง ฯ
|
|
|
๏ ครั้นเช้าสองโมงครึ่งกึ่งนิมิต | | สำเร็จกิจเสร็จสมอารมณ์หวัง
|
ฝีพายเตรียมนาวาประดาดัง | | จอดคอยฟังลั่นฆ้องตามองเมียง
|
ครั้นเจ้าคุณลงเรือนั่งเหนือเบาะ | | ฝีพายเกาะโห่ขานประสานเสียง
|
ตีฆ้องหุ่ยหึ่งพลันลั่นสำเนียง | | เรือพร้อมเพรียงออกตามหลั่นหลามมา
|
คระโครมครึกกึกก้องท้องสมุทร | | พายรีบรุดเร็วนักดั่งปักษา
|
คว้างคว้างมาในกลางชลธาร์ | | ดูนาวาเร็วรัดเทียมทัดลม
|
ครั้นจะร่ำระยะทางชมบางบ้าน | | ก็ขี้คร้านหลีกจัดตัดประสม
|
ด้วยนิราศอื่นมีดีอุดม | | ล้วนคารมวิเวกหวานเคยอ่านฟัง
|
ครั้นเรือมาฉิวฉิวแลลิ่วลับ | | ฝีพายขับขบเขี้ยวไม่เหลียวหลัง
|
ชลกระฉอกละลอกเสียงเพียงจะพัง | | กระทบฝั่งกระจายทำลายลง ฯ
|
|
|
๏ ถึงเมืองประทุมธานีบุรีรัตน์ | | วายุพัดน้ำกระเด็นขึ้นเป็นผง
|
พระอาทิตย์เลี้ยวลัดอัสดง | | เรือตัดตรงข้ามฟากพายบากมา
|
รีบรัดมาจอดวัดประทุมทอง | | พินิจมองเห็นพระสงฆ์ทรงสิกขา
|
ล้วนรามัญชยันโตโพธิยา | | ตามภาษาพระมอญอวยพรชัย
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพคำนับน้อม | | มีจิตพร้อมศรัทธาอัชฌาสัย
|
ก็ขึ้นจากเรือเดินดำเนินไป | | ตรงเข้าในศาลาหาสมภาร
|
ถวายเงินแก่พระสงฆ์องค์ละบาท | | ทั้งอาวาสด้วยศรัทธาท่านกล้าหาญ
|
น้อมจิตคิดตั้งปณิธาน | | เจ้าอธิการคำรพจบสัพพี
|
ก็แรมทัพอยู่ที่นั่นพร้อมกันหมด | | พระสุริยงเยื้องรถอับฉวี
|
ทั้งนายไพร่สุขเกษมจิตเปรมปรีดิ์ | | เหล่าโยธีกองทัพบ้างหลับนอน
|
ด้วยวัดนี้ไม่มีที่อาศัย | | เดินไปไหนน้ำท่าเปียกผ้าผ่อน
|
วัดประทุมลุ่มเต็มทีไร้ที่ดอน | | คนต้องซ้อนแซกเสียดยัดเยียดกัน
|
เหมือนตะรางสัสดีที่แคบคับ | | นอนไม่หลับเจียนชีวาแทบอาสัญ
|
ตาบุน(?)ปราบแกขนาบเอาโซ่พัน | | เร่งรางวัลข้าทุเลาเอาเงินมา
|
โอ้พุ่มพวงดวงจิตชีวิตพี่ | | ป่านฉะนี้สาวน้อยจะคอยหา
|
จะโศกเศร้าว้าเหว่อยู่เอกา | | อนิจจาแสนสังเวชน้ำเนตรพราว
|
โอ้อาลัยใจหายไม่วายโศก | | บังเกิดโรคร้างงามเมื่อยามหนาว
|
โอ้ยามรักหนักจิตเหมือนติดกาว | | ไม่มีคราวลืมมิตรยลติดตา
|
ยิ่งหวนหวนห่วงไห้ฤทัยโหย | | อุระโรยร่วงหรุบดั่งบุปผา
|
เมื่อต้องแสงสุริยงส่องลงมา | | เกสรสาโรชร่วงเหมือนทรวงเรา
|
หวนคะนึงถึงมิตรพิศวาส | | ใจจะขาดเสียเพราะทรวงงงง่วงเหงา
|
กำเริบโรคโศกร้างไม่บางเบา | | ยุพเยาว์จะมิได้เห็นใจเรียม
|
ค่อยแข็งขืนฝืนอารมณ์ที่ตรมตรึก | | ครั้นนึกนึกแล้วค่อยวายจิตอายเหนียม
|
คงได้กลับยลโฉมประโลมเลียม | | ไม่ทันเตรียมอย่าเพ่อตรอมจะผอมตาย
|
พอหลับผอยม่อยฟื้นตื่นสว่าง | | ลุกลูบล้างหน้าพลันไม่ทันสาย
|
พออิ่มหนำสำเร็จเสร็จสบาย | | เหล่าฝีพายเตรียมตัวพร้อมทั่วกัน
|
พอได้ฤกษ์แล้วก็บอกออกนาวา | | เสียงเฮฮาปรีดิ์เปรมเกษมสันต์
|
ไม่เห็นใครมีทุกข์สนุกครัน | | จ้วงกระชั้นตึงข้อไม่รอรา
|
เรือละลิ่วปลิวเฉื่อยมาเรื่อยรี่ | | ชมวิถีชลมารคข้างฟากขวา
|
แล้วผันชมฟากซ้ายวายน้ำตา | | ครั้นนาวาแล่นล่วงครรไลเลย ฯ
|
|
|
๏ มาถึงเกาะบางปะอินทินกร | | กำลังร้อนแสงแดดนั้นแผดเผย
|
เห็นรั้ววังข้างขวาสง่าเงย | | น่าชมเชยตึกตั้งเป็นวังเวียง
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพบังคับสั่ง | | จอดหน้าวังขึ้นบูชาหน้าเฉลียง
|
ท่าจุดธูปเทียนถวายอยู่รายเรียง | | นั่งประเนียงน้อมประนมบังคมคัล
|
แล้วก็ออกนาวาจากหน้าวัง | | ดูคับคั่งด้วยพหลพลขันธ์
|
ไม่เลี้ยวลัดถึงวัดชุมพลพลัน | | ก็เหหันเรือประทับกับตะพาน
|
เจ้าคุณก็จำเนียรธูปเทียนจุด | | บูชาพุทธรูปใหญ่ในวิหาร
|
ด้วยวัดชุมพลนี้มีมานาน | | แต่ก่อนกาลกรุงเก่ามีเค้าความ
|
ด้วยเจ้าพระยากลาโหมเล้าโลมไพร่ | | ชุมนุมไว้วัดนี้ที่สนาม
|
แล้วยกพลเกรียวกรูเข้าวู่วาม | | ทำสงครามกับกษัตริย์ขัตติยา
|
จับเจ้าแผ่นดินได้ให้ประหาร | | ครั้นสมการมุ่งมาดปรารถนา
|
ก็ได้ซึ่งสมบัติกษัตรา | | จึ่งราชาภิเษกเป็นเอกองค์
|
ทรงนามท้าวพระเจ้าปราสาททอง | | ได้ครอบครองรั้ววังดั่งประสงค์
|
มีพระราชศรัทธาปัญญายง | | เสด็จทรงสร้างวิหารริมชานชล
|
เสร็จพระราชศรัทธาเป็นอาราม | | ประทานนามโดยวิเศษตามเหตุผล
|
เดิมที่นี่ได้ประชุมชุมนุมคน | | ชื่อชุมพลนิกายาราม
|
ครั้นกรุงเก่าย่อยยับอัปรา | | ซึ่งวัดวาพังลงเป็นดงหนาม
|
โบสถ์พังโครมโทรมทรุดชำรุดตาม | | ได้แจ้งความเริ่มรู้แต่บูราณ
|
ครั้นแผ่นดินพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | | มาสร้างรั้ววังนิวาสราชฐาน
|
แล้วเลยทรงสถาปนาการ | | พระวิหารให้คงดำรงดี
|
แล้วปั้นรูปจอมปราชญ์ปราสาททอง | | ดูเรืองรองงามงดสุกสดศรี
|
ยืนอยู่หน้าอุโบสถปรากฏมี | | ทุกวันนี้คนผู้ยังบูชา
|
ครั้นสำเร็จเสร็จนบเคารพพระ | | ก็เลยละผายผันจิตหรรษา
|
เจ้าคุณให้ร้องบออกออกนาวา | | โห่สามลาบอกยาวเสียงกราวเกรียว
|
เหล่าฝูงชนชาวบ้านละลานหนี | | บ้างหลบลี้วิ่งแต้ไม่แลเหลียว
|
เรื่อไม่พายคลายคล่ำสักลำเดียว | | ปะก็เลี้ยวจอดซบหลบแต่ไกล
|
ฝีพายไม่รอรามาตะบึง | | บรรลุถึงหน้าวัดโปรดสัตว์ใหญ่
|
แวะเรือเรียงเคียงจอดตลอดไป | | เจ้าคุณให้จอดประทับกับตะพาน
|
ท่านจุดธูปเทียนชูขึ้นบูชา | | น้อมศิราหน่วงมนัสหัตถ์ประสาน
|
พวกไพร่พลเริงรื่นชื่นสำราญ | | ใจเบิกบานยินดีที่สบาย
|
วักน้ำมนต์ใส่บนศีรษะทั่ว | | บ้างลูบตัวอาบกินสิ้นทั้งหลาย
|
ที่โกงเขาย่ำแย่แต่ปีกลาย | | ให้ความหายลับลี้อย่าฎีกา
|
รีบรัดมาถึงวักพะแนงเชิง | | พอร่าเริงคึกคักเป็นหนักหนา
|
เจ้าคุณขึ้นบกพลันไปวันทา | | พระปฏิมาองค์ใหญ่ด้วยใจจง
|
จุดธูปเทียนบุปผาบูชาพระ | | คารวะขอความตามประสงค์
|
ขออารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สถิตทรง | | สิงในองค์พระปฏิมากร
|
จงพิทักษ์รักษาโยธาทัพ | | ที่คั่งคับพร้อมหน้ามาสลอน
|
ซึ่งโพยภัยขออย่าเพียรมาเบียนบอน | | จงถาวรสวัสดิ์ทั่วทุกตัวคน
|
เจ้าคุณเสร็จบูชาลีลากลับ | | ผู้คนคับสองข้างหว่างถนน
|
ท่านเจ้าคุณเมตตาประชาชน | | ที่ยากจนผู้ใหญ่เด็กเจ๊กคนโซ
|
แจกเงินให้คนละเฟื้องนั่งเนื่องนับ | | คนที่รับไทยทานประมาณโข
|
บางคนออกวาจาวราโร | | รัตพิโชชนะหมู่ศัตรูพาล
|
เจ้าคุณลงนาวาเสร็จคลาเคลื่อน | | เรือเขยื้อนเป็นละลอกกระฉอกฉาน
|
ละลิ่วมาในวนชลธาร | | บ่ายประมาณห้าโมงเศษสังเกตจำ ฯ
|
|
|
๏ ถึงวังจันทรเกษมจิตเปรมปรา | | แวะนาวาพักผ่อนจอดช้อนสำ
|
เรือเจ้าคุณจอดเลียบประเทียบลำ | | เวลาค่ำแรมทัพต่างหลับนอน ฯ
|
|
|
๏ ครั้นรุ่งแสงสุริยาเวลาสาย | | เหล่าตัวนายคั่งคับสลับสลอน
|
ล้วนแต่งตัวเต็มยศบทจร | | หมู่นิกรเกลื่อนกล่นต่างคนมา
|
ชุมนุมที่ศาลาใหญ่หน้าวัง | | มาพร้อมพรั่งนั่งรายทั้งซ้ายขวา
|
คอยเจ้าคุณแม่ทัพรับบัญชา | | ที่บรรดาตัวนายนั่งรายเรียง
|
เจ้าพระยาแม่ทัพประดับกาย | | เสร็จผันผายขึ้นมานั่งยังเฉลียง
|
ลูกทัพคำนับน้อมอยู่พร้อมเพรียง | | คอยฟังเสียงท่านอยู่ดูชื่นบาน
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพขยับโอษฐ์ | | ภิปรายโปรดทักทายนายทหาร
|
แล้วชักชวนไปวัดมนัสการ | | พระวิหารเสนาสน์เยื้องยาตรา
|
เข้าในวังขึ้นยังพระมนเทียร | | แล้วน้อมเศียรอภิวันท์ด้วยหรรษา
|
จุดธูปเทียนทั้งคู่ขึ้นบูชา | | พระมหาที่นั่งในวังจันทร์
|
ออกจากวังไปยังพระอาวาส | | นามเสนาสน์งามเลิศดูเฉิดฉัน
|
ท่านเจ้าคุณคำนับอภิวันท์ | | ธูปเทียนนั้นจุดถวายธิบายความ
|
ว่าวัดนี้ของพระยาทปราสาททอง | | เป็นเจ้าของสร้างไว้ในสยาม
|
ครั้งแผ่นดินกรุงเก่าเป็นเค้าความ | | แจ้งเหตุตามโดยเรื่องครั้งเมืองกรุง
|
เมื่อเมืองเสียแก่พม่าพากันขุด | | เอาไฟจุดลอกทองแล้วถลุง
|
วัดสลักหักพังออกนังนุง | | แต่ครั้งกรุงร้างรามาช้านาน
|
ครั้นแผ่นดินจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | | ศรัทธาทั่วบพิตรประดิษฐาน
|
เสด็จมาบำรุงผดุงการ | | พระวิหารเสนาสน์สะอาดงาม
|
เจ้าคุณเสร็จบูชาลีลากลับ | | ขึ้นประทับบนศาลาหน้าสนาม
|
ลูกทัพนายกองนั่งคอยฟังความ | | อยู่ออกหลามศาลาที่หน้าวัง
|
บ้างร้องทุกข์ขอข้าวต่อเจ้าคุณ | | ว่าสิ้นทุนจวนจะอดข้าวหมดถัง
|
ขอเบิกข้าวสารพอต่อกำลัง | | เจ้าคุณฟังข้อคำคิดรำคาญ
|
จึงผินผันหันหน้าปรึกษาเรื่อง | | ด้วยว่าเมืองนี้ต้องเลิกเบิกข้าวสาร
|
เพราะได้แจ้งกิจจาเวลาวาน | | กรมการเขาว่าตราไม่มี
|
ท่านเจ้าคุณชักทุนซื้อข้าวสาร | | แจกทหารกล้วยไข่ให้อีกหวี
|
ทั้งของคาวเนื้อเค็มก็เต็มดี | | แจกโยธีกองทัพรับทุกคน ฯ
|
|
|
๏ ครั้นว่าบ่ายชายแสงพระสุริเยศ | | สักโมงเศษเอะอะเตรียมพหล
|
ต่างลงเรือทุกลำประจำพล | | บ้างเตรียมตนคอยฟังระวังตัว
|
เจ้าคุณลงนาวาที่หน้าวัง | | พร้อมสะพรั่งฝีพายซ้ายขวาทั่ว
|
นายน้อยจับตระบองลั่นฆ้องรัว | | ให้รู้ทั่วนัดบอกกันออกเรือ
|
ฆ้องลั่นเสียงแซ่ซร้องก้องกังวาน | | โห่ประสานสามลาสง่าเหลือ
|
ลูกทัพนายกองนั้นไม่ฟั่นเฟือ | | ล้วนสวมเสื้อเต็มยศหมดทุกนาย ฯ
|
|
|
๏ มาประเดี๋ยวเลี้ยวประทะศีรษะรอ | | ดูปราดปร๋อน้ำไหลเชี่ยวใจหาย
|
ฝีพายขึงตึงข้อไม่รอพาย | | บ้างเสียท้ายเรือปะประทะแพ
|
บางฉลาดเลี้ยวพันกระชั้นแหลม | | เรือไม่แพลมแพร่งพรายกระสายแส
|
ที่ตรงศีรษะรอเสียงจอแจ | | ช่วยกันแก้หัวเรือน้ำเหลือทน
|
เรือก็แล่นเฉื่อยฉิวมาลิ่วลับ | | แดดพยับมืดกลุ้มชอุ่มฝน
|
ไม่แรงร้อนอ่อนสีสุริยน | | เหล่าไพร่พลค่อยสบายรีบพายพลัน ฯ
|
|
|
๏ พอถึงวัดทองใหญ่อยู่ในย่าน | | มีนามบ้านพระนอนพักผ่อนผัน
|
เรือกองทัพคับคั่งประดังกัน | | แรมอยู่นั้นอีกคืนต่างรื่นเริง
|
ในวัดทองซ่องซ่วมน้ำท่วมหมด | | น้ำไม่ลดกำลังล้นขึ้นจนเหลิง
|
ไม่มีที่หุงข้าวก่อเตาเพลิง | | อาศัยเพิงโบสถ์ใหญ่พอได้การ
|
พลนิกรต้องนอนอยู่ในเรือ | | คนที่เหลืออาศัยในวิหาร
|
อีกศาลาใหญ่กว้างข้างตะพาน | | เหล่าทหารซ้อนซับขึ้นหลับนอน
|
แต่ตัวฉันอยู่ในเรือเหลือเทวศ | | นองน้ำเนตรโหยไห้ฤทัยถอน
|
เป็นทุกข์ถึงขนิษฐายิ่งอาวรณ์ | | เพราะพี่จรจากเจ้าจะเนานาน
|
ไม่รู้ปีเดือนใดจะได้กลับ | | ด้วยไปทัพจับศึกที่ฮึกหาญ
|
กว่าจะสิ้นสรรพเสร็จสำเร็จการ | | สุดประมาณเหลือเล่ห์คะเนวัน
|
ครวญครวญหวนละห้อยพอผอยหลับ | | ชักหงับหงับกลับตื่นสุดกลืนกลั้น
|
กำสรดแสนแหนหวงแม่ดวงจันทร์ | | โอ้กี่วันจะได้พบประสบนวล ฯ
|
|
|
๏ ครั้นรุ่งแจ้งแสงทองส่องสว่าง | | ค่อยลูบล้างพักตราวิญญาหวน
|
เจ้าคุณสั่งให้บอกออกกระบวน | | เวลาจวนจะรุ่งฟุ้งอัมพร
|
พอนาวาคลาเคลื่อนเขยื้อนโยก | | ธงก็โบกริ้วริ้วปลิวสลอน
|
นาวาเรื่อยเฉื่อยมาในสาคร | | ก็รีบร้อนเร็วมาไม่ราแรม
|
ถึงน้ำวนวนปะประทะคุ้ง | | เรือหันพุ่งข้ามบากไปฟากแหลม
|
ฝีพายจ้ำน้ำเป็นฟองทั้งสองแคม | | ไม่พรอมแพรมพร้อมพรั่งพายตั้งใจ ฯ
|
|
|
๏ ถึงเมืองสระบุรีเรือรี่เรียบ | | เห็นทำเนียบรายเรียงเคียงไสว
|
เขาปลูกตั้งหลังเด่นเห็นแต่ไกล | | พลไพร่ยินดีด้วยปรีดา
|
ต่างมุ่งมาดพอถึงหาดพระยาทศ | | บ่ายกำหนดสี่โมงโปร่งเวหา
|
พระสุริยงจวนจะลับพรรพตา | | แลนาวาจอดเรียบประเทียบเรียง
|
ที่ศาลาท่าน้ำลำกระแส | | เรือนเป็นแพจอดชุมนุมบ้างทุ่มเถียง
|
ชวนกันชิงเรือนที่มีระเบียง | | ขอนของเรียงเข้าไปวางต่างประจำ
|
ต่างคนต่างก็ก็จองปองที่อยู่ | | ถึงก่อนดูเลือกได้เมื่อใกล้ค่ำ
|
พอพักพิงอิงกายวายระกำ | | ไม่ต้องทำเรือนร้านป่วยการคน
|
ที่ลางนายผายผันไม่ทันเพื่อน | | ไม่มีเรือนที่พำนักพักพหล
|
หาไม้ไล่ทำหลังคาประสาจน | | พอบังฝนบังฟ้าเป็นท่าลม
|
ท่านเจ้าคุณใจดีอารีเหลือ | | คิดแผ่เผื่อไพร่แท้แต่ประถม
|
ทำเนียบปลูกไว้มีไม่นิยม | | ด้วยอารมณ์เอ็นดูหมู่นิกร
|
ทำเนียบปลูกไว้ท่าสี่ห้าหลัง | | พร้อมหอนั่งหอเคียงเรียงสลอน
|
สู้อยู่เรือบดเลยตามเคยนอน | | ด้วยอาวรณ์เมตตาประชาชน
|
ถ้าแม้นขึ้นสู่อยู่ทำเนียบ | | ตรองการเรียบเรียงเห็นไม่เป็นผล
|
จะไม่มีที่อาศัยแก้ไพร่พล | | ท่านสู้ทนอยู่ในเรือใจเหลือดี
|
ครั้นพลบค่ำย่ำฆ้องพวกกองทัพ | | บ้างนอนหลับกรนอยู่เสียงฝู่ฝี่
|
แต่ตัวฉันตรึกตรมระทมทวี | | โศกโศกีแสนสวาทไม่ขาดวาย
|
แสนคะนึงถึงนวลหวนเทวศ | | จนดวงเนตรบวมแดงเป็นแสงสาย
|
อยู่ในเรือกัญญาใหญ่ไม่สบาย | | คิดใจหายใจห่างในทรวงครวญ
|
โอ้เจ้าดวงพวงพุ่มอุทุมพร | | เมื่อยามนอนแนบถนอมกลิ่นหอมหวน
|
เวลาตรมชมชูเรณูนวล | | ยามรัญจวนก็วายหายกังวล
|
ยิ่งนึกยิ่งตรึกตรมระทมทุกข์ | | จะต้องบุกเดินป่าไปหน้าฝน
|
จะข้ามดงพงชัฎระมัดตน | | เหล่าฝูงชนคิดกลัวหนังหัวพอง
|
ฤดูฝนความไข้มิได้หยอก | | ผู้ใหญ่บอกเศร้าจิตคิดสยอง
|
ที่ในดงลึกล้ำล้วนน้ำนอง | | จะยกกองทัพไปกลัวไข้ดง
|
ซึ่งปู่ย่าตาลุงครั้งกรุงเก่า | | ฟังเขาเล่าจำไว้ไม่ใหลหลง
|
ฤดูฝนเป็นไม่ไปณรงค์ | | ทำการสงครามแต่ก่อนบ่ห่อนเป็น
|
แต่เมื่อใดฝนแล้งแห้งสนิท | | จึงจะคิดยกทัพไปดับเข็ญ
|
คิดขึ้นมาน้ำตาตกกระเด็น | | ไม่วางเว้นกลัวตายเสียดายตน
|
โอ้กรรมเราเกิดมาเวลานี้ | | พอไพรีมาสู่ฤดูฝน
|
นึกแค้นอ้ายพวกฮ่อทรชน | | จะฆ่าคนเสียด้วยไข้ใช้ปัญญา ฯ
|
|
|
๏ ฉันตรองตรึกนึกพลางพอจ่างแจ้ง | | สว่างแสงสุริเยเยี่ยมเวหา
|
เป็นวันถือน้ำพิพัฒน์สัตยา | | เจ้าพระยาแม่ทัพประดับกาย
|
ก็พร้อมด้วยนายทัพกับนายกอง | | ลงเรือล่องน้ำมาเวลาสาย
|
ล้วนแต่งตัวเต็มยศหมดทุกนาย | | ต่างผันผายล้นหลามตามเจ้าคุณ
|
รีบรัดมาถึงวัดสมุหะ | | พร้อมด้วยพระหลวงยืนแลหมื่นขุน
|
ทั้งหัวเมืองเป็นการวิ่งซานซุน | | คอยคำนับรับเจ้าคุณอยู่เรียงราย
|
เรือเจ้าคุณแม่ทัพจอดกับท่า | | เยื้องยาตราพร้อมพรั่งคนทั้งหลาย
|
ล้วนสวมเสื้อกำซาบดาบสะพาย | | ที่ตัวนายคอยสดับรับบัญชา
|
ต่างคนเข้าไปในวิหาร | | ฟังโองการพร้อมกันด้วยหรรษา
|
แล้วรับน้ำพระพิพัฒน์สัตยา | | ตามตำราบุราณสาบานตัว
|
ท่านเจ้าพระยาแม่ทัพกลับทำเนียบ | | เรือประเทียบแก้ท้ายแล้วบ่ายหัว
|
จอดประทับกับท่าเวลามัว | | แดดสลัวจวนค่ำอยู่รำไร
|
เวลาค่ำย่ำฆ้องครั้นสองทุ่ม | | แตรก็รุมเป่าเสียงสำเนียงใส
|
พวกทหารนั่งยามต้องตามไฟ | | เอาฟืนใส่เรียงรายเป็นหลายกอง
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพกำชับสั่ง | | ให้ประจุปืนประนังนั่งจดจ้อง
|
เหล่าทหารหอกหลาวแลง้าวพลอง | | พวกกองตรวจถือฆ้องกระแตตี
|
ด้วยเรายกโยธามาจากถิ่น | | ประมาทหมิ่นแล้วก็เห็นจะเป็นผี
|
เผื่อพวกฮ่อต่อเข้ามาสระบุรี | | จะเสียทีย่อยยับทั้งทัพชัย ฯ
|
|
|
๏ ครั้นจวนแจ้งแสงสีตีสิบเอ็ด | | ออกอึงเอ็ดเป่าแตรเสียงแซ่ใส
|
ทหารเป่าขลุ่ยนัวรัวกลองชัย | | ฟังเสียงไพเราะวังเวงด้วยเพลงแตร
|
ครั้นรุ่งแสงสุริยาท้องฟ้าฟื้น | | เจ้าคุณขึ้นทำเนียบหน้าท่ากระแส
|
สำหรับขุนนางใช้ต่างแพ | | อยู่ริมแม่น้ำวนชลธาร
|
พวกนายกองนายทัพคำนับน้อม | | มาพรั่งพร้อมนั่งเรียงเคียงขนาน
|
คอยสดับตรับฟังจะสั่งงาน | | จะมีการเหตุผลด้วยกลใด
|
เจ้าพระยาแม่ทัพขยับโอษฐ์ | | ภิปรายโปรดไต่ถามความสงสัย
|
พวกเรามาพร้อมพรั่งหรืออย่างไร | | ใครป่วยไข้ที่บรรดามาด้วยกัน
|
พวกนายทัพนายกองสนองเรียน | | น้อมจำเนียรแจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์
|
คนกองทัพวิบัติอัศจรรย์ | | เกิดปัจจุบันโรคร้ายเป็นหลายคน
|
ท่านเจ้าคุณแจ้งความตามระบอบ | | จึงประกอบยาละลายกระสายฝน
|
ตามตำราหมอด้วงแก่แก้อับจน | | ท่านสู้ทนนั่งปรุงบำรุงยา
|
แล้วก็ให้อนุญาตประกาศสั่ง | | ว่าทีหลังใครป่วยไข้ให้มาหา
|
เพราะใจท่านอารีมีเมตตา | | ตั้งรักษาเป็นธุระไม่ละเลย
|
ถึงเที่ยงนางกลางคืนคนตื่นหลับ | | คนกองทัพป่วยไข้มิได้เฉย
|
สั่งให้ปลุกทุกครั้งเหมือนดังเคย | | ไม่เสบยบอกเราเอาอาการ
|
ด้วยลงทุนสำรองยากว่าสองชั่ง | | ยาฝรั่งมากมายหลายขนาน
|
ด้วยจงหวังตั้งใจจะให้ทาน | | คิดเตรียมการถ้าใครป่วยได้อวยเออ
|
แล้วสั่งการขุนชำนาญภักดีพุก | | เที่ยวตรวจทุกเวลาอย่าได้เผลอ
|
ใครเป็นโรคร้อนหนาวหรือหาวเรือ | | ให้ดอกเตอร์พุกปรุงบำรุงยา
|
ตั้งแต่นั้นท่านก็นั่งคอยฟังทั่ว | | ใครยังชั่วใครจะหนักที่รักษา
|
นายพุกเที่ยวทุกหมวดคอยตรวจตรา | | ตามบัญชามิได้เว้นเช้าเย็นดู
|
คนมากหายตายน้อยนับตัวถ้วน | | นายพุกสวนสอบตรวจทุกหมวดหมู่
|
พวกกองทัพหายฟื้นต่างชื่นชู | | ล้วนแต่รู้จักบุญคุณทุกคน
|
เมื่อหยุดพักอยู่ที่ท่าพระยาทศ | | ต้องรองดช้าอยู่ฤดูฝน
|
ครั้นจะยกทัพไปกลัวไพร่พล | | จะปี้ป่นเสียเพราะไข้ที่ในดง
|
เจ้าคุณสืบสวนกะระยะทาง | | พระยากลางพระยาไฟไพรระหง
|
ให้รู้ที่สำคัญโดยมั่นคง | | ด้วยจิตจงอยากยกขึ้นบกไป
|
ให้พระรัตนกาศประภาษถาม | | ก็แจ้งความมั่นคงไม่สงสัย
|
เขาว่ามรคาพระยาไฟ | | จะคลาไคลเหลือล้ำด้วยน้ำนอง
|
ทั้งเป็นโคลนเป็นหล่มตมตลอด | | จะมุดลอดหลีกลัดก็ขัดข้อง
|
ต้องเดินข้ามแม่น้ำลำธารคลอง | | ข้ามเป็นสองสามหนล้วนชลลึก
|
ท่านเจ้าคุณแจ้งเหตุสังเวชไพร่ | | ด้วยจะไปรบรากับข้าศึก
|
จะมาตายเสียในดงที่พงพฤกษ์ | | อนาถนึกเศร้าใจด้วยไพร่พล
|
จึงแต่งบอกกราบทูลตามมูลเหตุ | | เป็นไปรเวทเรียงความตามนุสนธิ์
|
ขอรอรั้งตั้งพักพำนักพล | | แต่พอฝนฟ้าแล้งทางแห้งดี
|
หนังสือเสร็จแล้วก็ส่งลงบางกอก | | ผู้ถือบอกหมายมุ่งไปกรุงศรี
|
ข้างกองทัพยับยั้งฟังคดี | | พร้อมอยู่ที่พระยาทศหมดด้วยกัน
|
เจ้าพระยาแม่ทัพบังคับการ | | ซ้อมทหารกระบวนรบให้ขบขัน
|
ได้ฝึกสอนเช้าเย็นไม่เว้นวัน | | ตั้งแต่นั้นเป็นคนสุขสนุกจริง
|
พวงหนุ่มหนุ่มกลุ้มเกรียวไปเที่ยวเล่น | | ล้วนแต่เป็นเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง
|
บ้างโกรธขึ้งหึงหวงเที่ยวช่วงชิง | | แล้วค้อนติงพูดกระแทกที่แดกดัน
|
ด้วยลูกสาวลาวชุมหนุ่มหนุ่มเกี้ยว | | บ้างก็เที่ยวหาอวดประกวดประขัน
|
บ้างสู่ขอเป็นเมียได้เสียกัน | | แต่ตัวฉันไม่อยากเที่ยวไปเกี้ยวใคร
|
ด้วยคิดถึงเนื้อคู่อยู่ที่บ้าน | | จึงขี้คร้านยาตรย่างไปข้างไหน
|
ถึงเห็นสาวสวยสดสู้อดใจ | | เพื่อนเขาไปตัวเราอยู่เฝ้าเรือ
|
วันหนึ่งนางแม่ค้าเรือมาขาย | | เฝ้ามาดหมายรักฉันจิตฟั่นเฝือ
|
อุตส่าห์หาเปรี้ยวหวานมาจานเจือ | | ประหลาดเหลือแล้วเราเขาเอาจริง
|
ฉันขี้คร้านผูกรักคิดจักเบือน | | เหล่าพวกเพื่อนเย้ยยั่วว่ากลัวหญิง
|
ควรจะหาที่พักสำนักพิง | | คิดแอบอิงแต่พออุ่นถุนขี้ยา ฯ
|
|
|
๏ ครั้นเดือนสิบเอ็ดเสร็จความขึ้นสามค่ำ | | ได้จดจำจงหวังไม่กังขา
|
บ่ายสามโมงสังเกตเศษเวลา | | เรือไฟมาเปิดหลอดเสียงหวอดดัง
|
เห็นเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ | | จำถนัดเรือห่างอยู่ข้างฝั่ง
|
ลงเรือแหวดแจวร่าเข้ามายัง | | ถึงกระทั่งท่าทำเนียบจอดเทียบพลัน
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพออกรับรอง | | ต่างยิ้มย่องปรีดิ์เปรมเกษมสันต์
|
ขึ้นบนทำเนียบท่าพูดจากัน | | แต่โดยฉันราชการในสารตรา
|
ท่านเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ | | ก็หยิบลายราชหัตถเลขา
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็รับมา | | จิตปรีดาเบิกบานสำราญใจ
|
ท่านเจ้าคุณรับรองของประทาน | | ที่เจ้าคุณทหารนำมาให้
|
ดาบฝรั่งสองร้อยเล่มที่เต็มใน | | หีบใหญ่ใหญ่รับขนขึ้นบนเรือ
|
อีกกับน้ำมันหอมพระจอมเกล้า | | ทรงเสกเป่าไว้เลิศประเสริฐเหลือ
|
ดอกไม้ร้อยแปดอย่างไม่จางเจือ | | กลั่นเอาเหงื่อทำน้ำมันด้วยบรรจง
|
ไว้บำเรอลูกเธอเสด็จทัพ | | เป็นที่นับถือความตามประสงค์
|
ได้ป้องกันสรรพภัยที่ในดง | | ออกณรงค์ไม่ต้องคิดมีจิตกลัว
|
ด้วยเจ้าคุณมีชื่อลือทุกเวียง | | เป็นบุตรเลี้ยงพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
|
จึงประทานน้ำมันมากันตัว | | ครั้นอ่านทั่วราชหัตถ์จัดจำเนียร ฯ
|
|
|
๏ ลุวันเดือนสิบเอ็ดขึ้นแปดค่ำ | | ได้จดจำแน่จิตประดิษฐ์เขียน
|
เรีบยเรียงเรื่องเบื้องต้นไม่วนเวียน | | พระยาเกียรติ์นั้นจึงมาถึงพลัน
|
เชิญท้องตราขึ้นมาหนึ่งฉบับ | | เจ้าคุณรับตามควรไม่ผวนผัน
|
พระยาเกียรติ์ก็กลับไปฉับพลัน | | ยังหาทันที่จะถามเนื้อความใด
|
จึงประชุมลูกทัพกับหลานกอง | | ฟังอ่านท้องตราแจ้งแถลงไข
|
มีบังคับรีบให้ยกขึ้นบกไป | | แจ้งอยู่ในสารตราที่มาวาง
|
ถ้าให้ไปตรวจเสบียงให้เพียงพอ | | กับอีกข้อหนึ่งให้ปรุงปลูกยุ้งฉาง
|
ให้ถ้วนทุกจังหวะระยะทาง | | กับเร่งส่วยด้วยที่ค้างอยู่นมนาน
|
แม้นเงินไม่มีสำรองให้กองทัพ | | ที่จะจับจ่ายเสบียงเลี้ยงทหาร
|
เร่งส่วยเสียที่ท้าวเพี้ยกรมการ | | มาเจือจานสำหรับกองทัพชัย
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพสดับตรา | | บังคับมามั่นคงไม่สงสัย
|
จึงโต้ตอบท้องตราปัญญาไว | | ซึ่งจะไปเร่งส่วยเห็นป่วนการ
|
แล้วจะให้ปลูกปรุงซึ่งยุ้งไว้ | | กับจัดให้ซื้อเสบียงเลี้ยงทหาร
|
ด้วยจะยกนิกรไปรอนราญ | | จะละลานหน้าหลังเป็นกังวล
|
ซึ่งจะให้ยกทัพไปสรรพเสร็จ | | แต่ในเดือนสิบเอ็ดฤดูฝน
|
เป็นที่ลำบากใจแก่ไพร่พล | | น้ำยังล้นลงไม่ลดของดที
|
ครั้นเสร็จสรรพพับผนึกจารึกหลัง | | ส่งไปยังบางกอกบอกวิถี
|
แรมทัพคอยท้องตราหลายราตรี | | บ่ห่อนมีเภทภัยสิ่งใดพาล
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพพูดปรับทุกข์ | | ซึ่งจะบุกไปในป่าน่าสงสาร
|
กลัวผู้คนทั้งหลายจะวายปราณ | | จึงคิดอ่านหาช่องสู่ท้องตรา
|
ถึงจะมีโทษร้ายกฎหมายทัพ | | จะสู้รับเอาผู้เดียวจริงเจียวหนา
|
ที่ข้อขัดบังคับรับอาญา | | ถึงจะฆ่าถือมั่นกตัญญู
|
ขออย่าให้ไพร่พลไปป่นปี้ | | เวลานี้ขืนจรต้องอ่อนหู
|
จะรับบาปคนทั้งเพเหมือนเยซู | | มิให้หมู่ไข้ป่ามันฆ่าคน
|
มิใช่จะคร้านคลาดราชการ | | เพราะสงสารโยธาด้วยหน้าฝน
|
จะพากันไปตายทำลายชนม์ | | แล้วเมืองบนก็ไม่มีไพรีรอน
|
แม้นข้าศึกนับแสนตีแดนร่วม | | ถึงน้ำท่วมให้ตลอดยอดสิงขร
|
จะสู้ยกพหลพลนิกร | | ถึงไฟร้อนต้านหน้าจะกล้าไป ฯ
|
|
|
๏ เดือนสิบเอ็ดขึ้นสามค่ำตามเหตุ | | บ่ายสักสามโมงเศษไม่สงสัย
|
พอสมเด็จเจ้าพระยาท่านมาใน | | เรือกลไฟถึงท่าพระยาทศ
|
บังเอิญเทวดาวลาหก | | ก็เร่งตกลงมาให้ปรากฏ
|
ฝนก็ไม่หายเหือดไม่เงือดงด | | ไม่หยาดหยดซู่ซ่าลงมาพอ
|
ท่านเจ้าคุณไปคำนับรับสมเด็จ | | ฝนสาดไม่ขาดเม็ดลงสอสอ
|
ต้องกางกั้นร่มไปมิได้รอ | | ลงนั่งย่อเรือพายม้ารีบคลาไคล
|
ครั้นถึงเรือสมเด็จจอดเสร็จสรรพ | | น้อมคำนับกราบก้มประนมไหว้
|
แล้วเรียนเรื่องทางบกจะยกไป | | ในดงใหญ่น้ำมากลำบากคน
|
ขอรั้งรอพอให้แห้งแล้งสักหน่อย | | จึงจะค่อยยกไปในไพรสณฑ์
|
ถ้าขืนยกเวลานี้เห็นรี้พล | | จะปี้ป่นตายลงในดงดาน
|
ท่านเจ้าคุณจำเนียนกราบเรียนเสร็จ | | ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาฟังว่าขาน
|
จึงมีพระประศาสน์ประกาศการ | | ให้คิดอ่านรีบยกขึ้นบกไป
|
เจ้าคุณรับโอวาทประศาสน์สั่ง | | โดยข้อบังคับแจ้งแถลงไข
|
จะให้ยกโยธารีบคลาไคล | | รอพอได้ทำบุญเสร็จสักเจ็ดวัน
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพกลับทำเนียบ | | ฝนไม่เรียบตกตวดเป็นกวดขัน
|
พอพลบค่ำย่ำแสงพระสุริยัน | | มีกำปั่นไฟถึงอีกหนึ่งลำ
|
ด้วยท่านหลวงยุทธยานาธิกร | | ท่านด่วนจรก็เห็นสมดูคมขำ
|
เชิญท้องตรามากำลังฝนตกพรำ | | ขึ้นบนทำเนียบท่าชลาธาร
|
ส่งท้องตราให้แก่ท่านแม่ทัพ | | อีกทั้งกับเงินจำแนกแจกทหาร
|
ทั้งเงินห้าสิบชั่งสั่งประทาน | | เป็นเงินงานเตรียมทัพสำหรับไป
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็รับรอง | | แล้วอ่านท้องตราแจ้งแถลงไข
|
มีบังคับจะยกขึ้นบกไป | | แต่โดยในเดือนสิบเอ็ดจงเสร็จพลัน
|
เจ้าพระยาแม่ทัพสดับแจ้ง | | ตอบแถลงตามกระบนไม่ผวนผัน
|
ด้วยโคต่างช้างมามาไม่ทัน | | การติดตันเหลือเขยื้อนเคลื่อนนิกาย
|
แม้โคต่างช้างมาพร้อมมาถึง | | เป็นแน่หนึ่งวันนั้นได้ผันผาย
|
พอได้พาหนะทั่วเหล่าตัวนาย | | จะถวายบังคมลาฝ่าละออง
|
ครั้ยเสร็จสรรพพับผนึกจารึกบอก | | ส่งบางกอกแจ้งความตามสนอง
|
หลวงยุทธยาคำนับแล้วรับรอง | | หนังสือสองสามฉบับแล้วกลับลา ฯ
|
|
|
๏ ครั้นขึ้นสิบสี่ค่ำเดือนสิบเอ็ด | | ได้จำเสร็จโดยหวังไม่กังขา
|
น้ำท่วมถึงกระทั่งเลยหลังคา | | นึกก็น่าอัศจรรย์ขันกระไร
|
เรือต้องขึ้นจอดบกเจียวอกเอ๋ย | | มิได้เคยพบเห็นเป็นไฉน
|
นึ้ขึ้นถึงขนาดประหลาดใจ | | แม้นผู้ใดบอกคงจะสงกา
|
นี่ได้เห็นต่อพักตร์แก่จักขุ | | เจอแลจุปากทักน้ำหนักหนา
|
ขึ้นคืนเดียวเจียวร่วมท่วมหลังคา | | เป็นน้ำป่าเช่นผู้เฒ่าเขาเล่ากัน ฯ
|
|
|
๏ เดือนสิบเอ็ดเสร็จวัสสาสิบห้าค่ำ | | เจ้าคุณทำบุญใหญ่ใจกระสัน
|
สนองคุณบพิตรนิจนิรันดร์ | | ด้วยเป็นวันพระจอมเกล้าฯเข้านิพพาน
|
นิมนต์สงฆ์พร้อมเพรียงประเดียงฉัน | | ในวันนั้นล้วนเป็นสุขสนุกสนาน
|
มีมหาชาติใหญ่แล้วให้ทาน | | มโหฬารสรวลเสเสียงเฮฮา
|
ครั้นพลบค่ำย่ำแสงสุริย์ใส | | จุดดอกไม้ส่องสว่างกลางเวหา
|
แสงดอกไม้กระจ่างสำอางตา | | จับนวลหน้านางลาวขาวเป็นใย
|
ครั้นเทศน์ครบจบตามสิบสามกัณฑ์ | | ตั้งแต่นั้นน้ำลดค่อยงดหาย
|
ซึ่งกองทัพเปป็นสุขสนุกสบาย | | พอหาดทรายผุดพ้นชลธาร
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพหยุดยับยั้ง | | ท่านก็ตั้งซ้อมศึกฝึกทหาร
|
ล้วนเข้าใจไวว่องคล่องชำนาญ | | ท่านเห็นการน้ำลดเงือดงดลง
|
จึงแต่งจัดขุนสัจจวาที | | สืบวิถีแน่กำหนดลงจดหมาย
|
เสร็จสรรพกลับสนองทั้งสองนาย | | กราบเรียนรายระยะทางในกลางดง
|
ก็พอจะไปได้ไม่สู้ยาก | | ที่ลำบากน้ำเผื่อยังเหลือหลง
|
เป็นหล่มลึกตลอดไปในไพรพง | | ก็น้อยลงกว่าแต่ก่อนเป็นดอนไป
|
เจ้าพระยาแม่ทัพสดับแจ้ง | | ว่าทางแห้งไม่สู้ยากลำบากไพร่
|
คิดจะยกซึ่งพหลพลไกร | | แต่ยังไม่มีช้างโคต่างจร
|
เจ้าพระยาแม่ทัพเฝ้าปรับทุกข์ | | ไม่มีสุขเศร้าในฤทัยถอน
|
เที่ยวหาจ้างช้างอำมาตย์ราษฎร | | ก็บ่ห่อนสมคิดจิตรำพึง
|
พอวันหนึ่งมีผู้ถือหนังสือกระดาษ | | ของพระยาราชเสนาลงมาถึง
|
ยังเจ้าคุณแม่ทัพคำนับคำนึง | | เจ้าคุณจึงอ่านได้มีใจความ
|
ใบบอกว่าพระยามหาอำมาตย์ | | กับเจ้าเมืองโคราชเรืองสนาม
|
เข้ารบอ้ายฮ่อนั้นวัดจันงาม | | พอสงครามฮ่อแหกแตกกระจาย
|
กองทัพไทยได้ทีตีกระทบ | | พวกฮ่อรบแหกหันหนีผันผาย
|
พวกกองทัพจับได้ทั้งไพร่นาย | | ที่เหลือตายหลบหลีกตั้งปีกกา
|
ฮ่อยกพลขึ้นบนหลังคาโบสถ์ | | ปืนลูกโดดยิงไทยด้วยใจกล้า
|
พวกอ้ายฮ่อดีนักแผลงศักดา | | บนหลังคาโบสถ์ยืนยิงปืนกัน
|
พระสุริยนสนธยาวลาหก | | เพอิญตกยิ่งยวดเป็นกวดขัน
|
พวกอ้ายฮ่อก็กระโดดจากโบสถ์พลัน | | เข้าฝ่าฟันหนีไปได้ทั้งมวล
|
แต่พระยามหาอำมาตย์นั้น | | ได้จัดสรรคนลอบไปสอบสวน
|
สกัดจับทัพฮ่อที่ก่อกวน | | หลายกระบวนตามกระชั้นไปพันพัว
|
เสมียนอ่านบอกเสร็จสำเร็จจบ | | เจ้าคุณตบมือสรวลสำรวลหัว
|
พวกอ้ายฮ่อเสียกระบวนมันจวนตัว | | ด้วยความกลัวหนีโดดจากโบสถ์ไป
|
คนล้อมถึงสามพันกระชั้นชิด | | อ้ายฮ่อมันมีฤทธิ์จึงหนีได้
|
พวกเราไม่ต้องยกขึ้นบกไป | | ด้วยสิ้นไส้ศึกเสร็จสำเร็จการ
|
ซึ่งตัวฉันได้ฟังแล้วนั่งยิ้ม | | ใจเอิบอิ่มปรีดิ์เปรมเกษมศานต์
|
นึกเดาเอาว่าสำเร็จศึกเสร็จการ | | ได้กลับบ้านแล้วพวกเราอย่าเศร้าใจ
|
คอยฟังกล่าวซึ่งท้องตราให้หากลับ | | ก็ลึกลับเหลือล้นพ้นวิสัย
|
ยิ่งนับวันก็ยิ่งหายกลับกลายไป | | ประหลาดใจเหลือล้ำนั่งคำนึง
|
อนึ่งชั่วตัวฉันลืมวันคืน | | เมื่อจมื่นทิพเสนาลงมาถึง
|
คุมฮ่อมาที่ทำเนียบไม่เงียบอึง | | คนทะลึ่งอยากเห็นฮ่อวิ่งสอมา
|
ฮ่อสองคนใหญ่เล็กเจ๊กแท้แท้ | | ช่างเรียกแห้ฮ่อฟังน่ากังขา
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพรับบัญชา | | เสมียนมาถามฮ่อเขียนข้อคำ
|
จีนคนเล็กคนใหญ่มันให้การ | | ดูเพ่นพ่านฟั่นเฟือนเลื่อนถลำ
|
เห็นผันแปรแชเชือนเป็นเงื่อนงำ | | มิได้จำจดไว้ไม่เป็นการ
|
ทิพเสนาก็พาจีนฮ่อกลับ | | เจ้าคุณแม่ทัพเกษมศานต์
|
แรมทัพอยู่ที่ท่าเป็นช้านาน | | ทำบุญทานด้วยมนัสมีศรัทธา
|
ได้ซ่อมแซมกุฏิพระวิหาร | | ทำไม้กรานค้ำโพธิ์โตสาขา
|
เอาเงินแจกคนชแรแก่ชรา | | ทอดผ้าป่าโดยนิยมพอสมควร
|
พอโคต่างช้างมาลงมาถึง | | เจ้าคุณจึงให้คนลอบไปสอบสวน
|
ให้ได้เห็นจึงรู้ดูจำนวน | | จงถี่ถ้วนช้างตั้งเป็นพังพลาย
|
ช้างเบ็ดเสร็จร้อยเจ็ดสิบช้างกว่า | | โคต่างห้าร้อยถ้วนจำนวนหมาย
|
ท่านเจ้าคุณยินดีเป็นที่สบาย | | พร้อมทั้งนายทัพนายกองปรองดองกัน
|
กำหนดที่จะยกขึ้นบกเดิน | | บอกแต่เนิ่นเตรียมพหลพลขันธ์
|
เดือนสิบสองขึ้นสองค่ำเป็นสำคัญ | | จะผายผันไปตำแหน่งท่าแก่งคอย
|
พลกองทัพรู้ทั่วเตรียมตัวท่า | | บ้างทำม้าสานตะกร้อไม่ท้อถอย
|
ตระเตรียมเป็นธุระไม่ตะบอย | | ไม่อ้อยสร้อยสานกระทอพอตะพาย
|
พวกลาวชาวบ้านพระยาทศ | | รู้กำหนดว่าจะไปแล้วใจหาย
|
ท่านผู้เฒ่าเฝ้าละเหี่ยแสนเสียดาย | | กองทัพอยู่ค่อยคลายพวกคนพาล
|
ไม่อยากให้กองทัพไปลับลี้ | | ตั้งอยู่ที่แสนเป็นสุขสนุกสนาน
|
ทั้งข้าวของไม่หายวายรำคาญ | | พวกชาวบ้านหม่นหมองนองน้ำตา
|
กองทัพมาครั้งนี้เป็นที่ยิ่ง | | ดีจริงจริงปกปักคุ้มรักษา
|
ค่อยว่างเข็ญเย็นเกล้าเหล่าประชา | | บ้างโศกาไห้ร่ำโศกรำพึง ฯ
|
|
|
๏ ณ วันคืนปีเดือนจำเคลื่อนคลาด | | เจ้าคุณราชวราขึ้นมาถึง
|
ขึ้นทำเนียบท่าน้ำดั่งคำนึง | | แล้วเชิญซึ่งท้องตราขึ้นมาพลัน
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพรับหนังสือ | | มาจากมือเจ้าคุณราชแล้วผาดผัน
|
มายังที่ชุมนุมประชุมพลัน | | พร้อมพรักกันทั้งลูกทัพคอยรับรอง
|
แล้วจึงอ่านสารตรามาบังคับ | | ให้กองทัพยกเคลื่อนเดือนสิบสอง
|
จะตอบโต้เบือนบิดผิดทำนอง | | จงเคลื่อนกองทัพยกขึ้นบกไป
|
ท่านเจ้าคุณแจ้งความตามบังคับ | | จึงพูดกับเจ้าคุณราชไม่หวาดไหว
|
โคต่างช้างมีมาจะว่าไร | | อยากจะใคร่กรีพลพหลจร
|
บัดนี้ช้างโคต่างมาถึงหมด | | ได้กำหนดไว้แล้วแต่ก่อน
|
จะยกซึ่งพหลพลนิกร | | ใช่จะนอนเนิ่นใจเมื่อไรมี
|
แล้วแต่งตอบข้อความตามที่กล่าว | | เป็นเรื่องราวน้อมประณตบทศรี
|
ขอถวายบังคมลาฝ่าชุลี | | สิ้นวาทีห่อพับประทับตรา
|
แล้วส่งลงบางกอกบอกนุสนธิ์ | | ตามเหตุผลข้อศึกที่ปรึกษา
|
ครั้นรุ่งแจ้งแสงศรีสุริยา | | เห็นกำปั่นไปมาถึงท่าพลัน
|
เห็นฝรั่งนั่งร่ามาหน้าเรือ | | ประหลาดเหลือมาไยผิดใจฉัน
|
พอเห็นหมวกกะระเซ็นเป็นสำคัญ | | ชาวอเมริกันเขาขึ้นมา
|
ถึงเจ้าคุณแม่ทัพคำนับน้อม | | กับของพร้อมสารพัดเขาจัดหา
|
เล่าแถลงแจ้งจิตตามกิจจา | | ตามบรรดาคนนอกเขาออกทุน
|
ฝรั่งพร้อมกันเสียเงินเรี่ยไร | | ทั้งคนใหญ่คนน้อยพลอยอุดหนุน
|
ทั้งนายห้างกัปตันท่านกงซุล | | เขาทำบุญสู้เสียเงินเรี่ยไร
|
ได้จัดซื้อผ้าห่มขนมปัง | | กับอีกทั้งหยูกยารักษาไข้
|
ยาโกรกกรากใบตองสำรองไป | | ทั้งขีดไฟชาหีบรีบเอามา
|
จะมอบของสิ่งนี้ให้ใครบำเรอ | | มอบดอกเตอร์ดูพิทักษ์ได้รักษา
|
คนกองทัพจับไข้ได้พยา- | | บาลบรรดาคนไข้ของให้ทาน
|
พวกดอกเตอร์เขาก็พากันมารับ | | ของสำหรับที่จำแนกแจกทหาร
|
ช่วยกันขนล้นหลามถ้วยชามจาน | | ทั้งนำตาลทรายกระสอบรับมอบมา
|
ครั้นจวนวันจวนเดือนจะเคลื่อนคลาด | | ไปจากหาดพระยาทศกำสรดหา
|
ซึ่งตัวฉันนี้ไม่วายฟายน้ำตา | | จะจากท่าหาดเหินเดินอรัญ
|
ครั้นนาฬิกาได้ที่ตีสิบเอ็ด | | คนพร้อมเสร็จเตรียมกายจะผายผัน
|
ขนของลงนาวาไม่ช้าพลัน | | บ้างชวนกันกินข้าวเช้าจะไป
|
เหล่าลูกทัพหลานกองพร้อมนองเนือง | | ล้วนแต่งเครื่องเต็มยศแสนสดใส
|
ดูงดงามตามตำแหน่งแกร่งเกรียงไกร | | ต่างคนไปจอดลอยคอยเจ้าคุณ
|
ฉันนั่งที่หน้าแคร่เหมือนแต่ก่อน | | อุระร้อนราวจะโลดกระโดดหมุน
|
พอรุ่งแจ้งแจ่มฟ้าเรื่ออรุณ | | ได้สกุณฤกษ์เบิกกระบวน
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพขยับย่าง | | งามสำอางเฉิดฉินดังอินศวร
|
เสร็จลงนาวาเวลาควร | | เรือก็หวนเหห่างออกกลางชล
|
ฆ้องชัยลั่นสำเนียงเสียงประสาน | | ฝีพายขานยาวรับอยู่สับสน
|
พระสงฆ์เป็นธุระประน้ำมนต์ | | แล้วร่ำบ่นชยันโตโมทนา
|
เหล่าพวกสาวชาวบ้านละลานจิต | | บ้างที่คิดถึงบุญคุณนักหนา
|
เดินตามส่งกองทัพจนลับตา | | บ้างโศกาโหยไห้อาลัยแล
|
ฝีพายขึงตึงไหล่ใส่สวบสวบ | | เรือยวบยวบมาในวนชลกระแส
|
ตัวฉันเฝ้าเพิ่มพูนอาดูรแด | | ทรวงตั้งแต่โศกข้อนอาวรณ์มา
|
เรือรี่เรื่อยเฉื่อยฉิวละลิ่วฉุย | | ฝีพายพุ้ยจ้ำหน่วงจ้างถลา
|
ถึงที่แก่งน้ำนูนไหลพูนมา | | ดังฉ่าฉ่าฉานฉานเสียงชาญชล
|
น้ำพุ่งไหลโพนช่างโชนเชี่ยว | | ฝีพายเหนี่ยวหันรับอยู่สับสน
|
ต้องขึ้นแก่งแรงร้ายหลายตำบล | | ประจวบจนแก่งคอยบ่ายคล้อยโมง
|
น้ำเฉื่อยฉิวลิ่วเหลือพอเรือลอย | | ไพร่พลคอยถ่อค้ำหักต้ำโผง
|
ฝีพายผ่อนอ่อนใจต้องใช้โยง | | ค่อยชะโลงหน่วงเหนี่ยวเต็มเรี่ยวแรง
|
ช่วยกันรั้งช่วยกันลากกระชากฉุด | | พอเรือหลุดล่วงพ้นตำบลแก่ง
|
ถึงทำเนียบที่สร้างไว้กลางแปลง | | เขาตกแต่งคอยรับกองทัพชัย
|
เรือเจ้าคุณจอดประทับกับตะพาน | | พอทหารยืนเรียงเคียงไสว
|
พอเจ้าคุณย่างยกขึ้นบกไป | | กัปตันใหญ่บอกเป็นปรีเซนต์นำ
|
ทหารแถวยึกปืนขึ้นคำนับ | | ไม่สับปลับดังว่าเลขาขำ
|
แล้วบอกให้ยกปืนยืนประจำ | | เขาช่างทำเจนจัดหัดชำนาญ
|
ก็แรมทัพยับยั้งอยู่ที่นั่น | | ครั้น ณ วันแรมสามค่ำได้ทำศาล
|
บวงสรวงเทวดาเจ้าท่าธาร | | ให้ภิบาลกองทัพจงรับรอง
|
แล้วเจ้าพระยาแม่ทัพบังคับสั่ง | | จัดแต่งตั้งลูกทัพบังคับต้อง
|
ตามกระบวนทัพชัยในทำนอง | | ปันหมวดกองด้วยจะยกขึ้นบกเดิน
|
พระอภัยสงครามใจห่ามฮึก | | เคยทำศึกรบรุกถึงฉุกเฉิน
|
ให้เป็นนายทัพหน้าปัญญาเดิน | | คงไม่เยินย่อยยับอัปรา
|
ซึ่งพระไตรภพรณฤทธิ์ความคิดหลาย | | เป็นปักซ้ายสำหรับกองทัพหน้า
|
พระอภัยพลรบจบศักดา | | เป็นปีกขวาเมื่อจะยกขึ้นบกไป
|
พระมนตรีบวรซ้อนประดัง | | เป็นกองหลังทัพหน้าอัชฌาสัย
|
รวมจำนวนบาญชีที่มีไป | | ล้วนคนในเกณฑ์ตั้งวังบวร
|
พระยาชิตณรงค์เคยสงคราม | | ไม่ครั่นคร้ามห้าวหาญชาญสมร
|
เป็นทัพขันธ์เยื้องซ้ายนายนิกร | | ไม่ย่อหย่อนไพรีมีศักดา
|
พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ไม่คิดพรั่น | | เป็นทัพขันธ์หนุนเนื่องข้างเบื้องขวา
|
พลรบถือครบเครื่องศัสตรา | | ประจำหน้าที่ไม่ถอยคอยต่อกร
|
เจ้าคุณกำกับพลคนทั้งปวง | | เป็นทัพหลวงรี้พลคนสลอน
|
ตั้งนายกองนายทัพเป็นตับตอน | | แม้นราญรอนท่วงทีจะมีชัย
|
ซึ่งท่านหลวงทวยหาญเชี่ยวชาญชัด | | กับขุนจัดกระบวนพลเป็นคนใหญ่
|
คุมทหารสำหรับแม่ทัพไป | | ระวังภัยมิได้หมิ่นอรินพาล
|
พระพิบูลไอศวรรย์ตัวกลั่นกล้า | | เป็นปีกขวาทัพใหญ่ใจทหาร
|
ท่วงทีกลศึกฝึกชำนาญ | | ย่อมรู้การแม่นยำทำอุบาย
|
ซึ่งพระชาติสุเรนทร์นั้นเจนทัพ | | การรบรับแล้วไม่หย่อนถอนขยาย
|
คุมขุนหมื่นไพร่ฉกรรจ์พันทนาย | | เป็นปีกซ้ายท่วงทีดีกว่าคน
|
ซึ่งพระยามหานุภาพนั้น | | ก็แข็งขันการศึกได้ฝึกฝน
|
ให้ว่าที่ปลัดทัพกำกับพล | | เพื่อประจญประจัญบานรับด้านกัน
|
หลวงภักดีจุมพลรณดิลก | | เป็นที่ยกกระบัตรทัพเห็นขับขัน
|
ท่วงทีมีอำนาจฉลาดครัน | | รู้สันทัดแท้ไม่แปรปรวน
|
ซึ่งขุนสกลสารบาลใจหาญฮึก | | ในการศึกแล้วไม่พรั่นใจผันผวน
|
เป็นที่จเรทัพจับกระบวน | | เจ้าจำนวนริ้วทัพกำกับการ
|
ซึ่งท่านขุนอินทร์วิเชียรชาติ | | ขุนพรหมราชปัญญาล้วนกล้าหาญ
|
ขุนนราชุมพลคนชำนาญ | | ขันสัจวาทิการทั้งสี่นาย
|
เป็นกองแซงด้านในล้วนใจกาจ | | ด้วยองอาจมิได้พรั่นจิตมั่นหมาย
|
อยากรบศึกฝึกตัวไม่กลัวตาย | | คุมนิกายพลรบครบทุกคน
|
หลวงกิจจานุกิจประกาศนั้น | | ก็เข้มขันชุมนุมคุมพหล
|
หลวงอาสาสำแดงรู้แต่งพล | | เมื่อประจญประจัญรับกับอริน
|
หลวงจัตุรงคโยธาปัญญาลึก | | การรบศึกแล้วไม่หันพักตร์ผันผิน
|
ขุนนราฤทธิไกนใจทมิฬ | | ขุนพิชัยชาญยุทธศิลป์รวมห้านาย
|
ล้วนคุมไพร่ไวว่องเป็นกองหลัง | | ถือโล่ห์ดั้งและดาบกำซาบสาย
|
ทั้งปืนใหญ่ปืนน้อยปล่อยลูกปราย | | ดาบตะพายง้าวทวนกระบวนเรียง
|
ท่านหลวงทรงศักดาปัญญายง | | ดั่งเล่าฮ่องตงเรื่องสามก๊กตีลกเอี๋ยง
|
ท่านขุนอินทรภักดีฤทธีเพียง | | เสมอเกียงอุยอาจฉลาดการ
|
ท่านขุนรักพลพยุห์ใจดุเหลือ | | ยิ่งกว่าเสือฤทธาก็กล้าหาญ
|
ท่านขุนราชเมธาปัญญาชาญ | | ล้วนกองด้านแซงนอกพลหอกแดง ฯ
|
|
|
๏ เจ้าคุณคัดจัดกระบวนครั้นถ้วนพร้อม | | ต่างฝึกซ้อมเหล่าทหารชาญกำแหง
|
ครั้นรุ่งขึ้นอีกเวลาพอฟ้าแดง | | ต่างจัดแจงเบิกช้างโคต่างกัน
|
ท่านยกกระบัตรทัพก็จับจ่าย | | ทั้งช้างพลายพังทั่วล้วนตัวกลั่น
|
พวกนายทัพนายกองเที่ยวมองพลัน | | แล้วเลือกสรรช้างขี่ดีทุกคน ฯ
|
|
|
๏ ครั้นรุ่งขึ้นเดือนสิบสองแรมห้าค่ำ | | เป็นวันกำหนดเคลื่อนเลื่อนพหล
|
ย่ำรุ่งแจ้งแสงศรีสุริยน | | พวกไพร่พลเตรียมพร้อมไม่พลอมแพลม
|
ด้วยว่ายกกระบัตรจัดกระบวน | | งามธงทวนพู่หอกดั่งดอกแขม
|
ที่ในท้องทุ่งนาไม่ราแรม | | สีขาวแซมแดงเขียวงามเทียวทวน
|
เจ้าคุณนั่งคอยฤกษ์คอยเบิกเนตร | | นั่งสังเกตฤกษ์นั้นไม่ผันผวน
|
พอได้สกุณฤกษ์เบิกกระบวน | | ลั่นฆ้องถวนสามครั้งขึ้นยังเกย
|
ขึ้นสู่ช้างกระโจมแดงแสงระยับ | | รูดม่านเยียรบับนั้นเปิดเผย
|
ดูงามงดรจนาสง่าเงย | | ช้างตัวเคยเป็นประเทียบหลังเรียบดี
|
เดินไม่กระเพื่อมเพื้อมกระเทือน | | ค่อยคลาเคลื่อนมาในทางหว่างวิถี
|
เสียงเท้าคนเดินดงเป้นผงคลี | | ดั่งธรณีเพียงจะแยกแตกเป็นคลอง ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงประตูป่าที่อารักษ์ | | คนหยุดพักบูชังสิ้นทั้งผอง
|
เจ้าคุณก็จำเนียรจุดเทียนทอง | | แล้วจึงร้องเรียกคนให้ไปบูชา
|
เสร็จคลาเคลื่อนกองทัพไม่ยับยั้ง | | ถึงกระทั่งห้วยกระบอกเป็นซอกผา
|
ก็ลุยช้างข้ามลำแม่น้ำมา | | ดงพระยาเย็นเชียบเงียบเหงาใจ
|
ล้วนป่าทึบดงชัฏสงัดแท้ | | มองเห็นแต่ยางยูงสูงไสว
|
โศกสักกรักกร่างมะทรางไทร | | แสลงใจจิ่งจ้อคล้อตะคล้อง
|
มะตูมตาดเต็งแต้วแก้วมะกา | | คางมะค่าประคำร้อยและข่อยหยอง
|
กระท้อนกระทุ่มอุทุมพรและค้อนกลอง | | มะพลับพลองพลวงกะเพราสะเดาดง
|
ต้นตะโกสะแกแสมสาร | | ต้นกำยานพระยายาและกาหลง
|
อัมพามะพูดชลูดโรกโลดทะนง | | ทั้งเปรงปรงโปร่งฟ้าและขานาง
|
ต้นก้านเหลืองมะเฟืองมะฝ่อไฟ | | สลัดไดนางรองและทองหลาง
|
มะกอกดอกประดู่ต้นหูกวาง | | มะสังทรางส้มเสี้ยวเล็บเหยี่ยวยล
|
เกดกุ่มพุมเรียงและเหียงหาด | | มะตูมตาดติดดอกบ้างออกผล
|
ตะเคียนเคียงเรียงระดะดูปะปน | | มีทั้งคณฑาไทยลำไยดง
|
ตะแบกกระเบากรันเกราไกร | | ทั้งเนื้อไม้กฤษณามหาหงส์
|
ต้นกระทิงกระท่อมพะยอมประยงค์ | | ทั้งคนทรงแส้ม้าพระยารัง
|
ต้นดีหมีตาเสือมะเกลือมะกล่ำ | | เหลือจะรำพันไม้เหมือนใจหวัง
|
ด้วยอกฉันแทบพองเป็นหนองพัง | | เหลือประทังที่จะทนหมองหม่นมัว
|
คิดเกรงด้วยความไข้อกใจฝ่อ | | ฤทัยท้อแดดแฝงแสงสลัว
|
เข้าใต้พงดงรังระวังตัว | | เพราะใจกลัวไข้ป่าจะฆ่าตาย
|
ไหนจะคิดถึงคู่ที่ชูจิต | | ครั้นหวนคิดถึงไข้แล้วใจหาย
|
ไหนจะคิดถึงญาติไม่ขาดวาย | | ทั้งพี่ชายน้องสาวและอาวอา ฯ
|
|
|
๏ ครั้นมาถึงลำโศกวิโยคเศร้า | | โอ้โศกเราเหลือลึกพ้องพฤกษา
|
มีลำธารน้ำเฉื่อยไหลเรื่อยมา | | เหมือนน้ำตาฉันไหลใจรัญจวน
|
ต้นโศกเคียงเรียงรายอยู่ชายทาง | | แลสล้างเหมือนหนึ่งว่าพฤกษาสวน
|
เหมือนโศกฉันรายทางไม่ห่างครวญ | | ไห้โหยหวนมาในทางกลางอรัญ
|
ซึ่งหนทางเดินยากลำบากเหลือ | | แม้นมาเมื่อหน้าน้ำจะทำขัน
|
เหล่าไพร่พลคงตายวายชีวัน | | ตั้งนับพันนับร้อยไม่น้อยตน
|
ด้วยหนทางพอช้างจุตัวย่อง | | เหมือนลำคลองแม่หมูฤดูฝน
|
น้ำคงท่วมเลยประศีรษะคน | | จะยกพลขึ้นบนบกก็รกเกิน
|
ด้วยไม้ใหญ่เรียงชิดติดเป็นพื้น | | ตลอดยืนถึงลำเนาภูเขาเขิน
|
ถึงจะให้คนถางหนทางเดิน | | ตลอดเนินแล้วคงตายลงหลายพัน
|
จะทำแพต่อเรือก็เหลือคิด | | ไปสักเส้นเห็นจะติดศิลากั้น
|
จะหามเรือไปก็ยากลำบากครัน | | ด้วยเป็นหลั่นเป็นตอนลุ่มดอนไป
|
จะหาที่ต่อเรือเหลือลำบาก | | จะโค่นถากถางดงที่ตรงไหน
|
นอนค้างดงหลายวันคงบรรลัย | | ด้วยความไข้มิใช่ชั่วกลัวระวัง
|
ฤดูนี้เรามาเหมือนหน้าแล้ง | | ยังไม่แห้งน้ำเฉอะล้วนเลอะขัง
|
ถ้าแม้นมาหน้าฝนพ้นกำลัง | | เป็นต้องฝังกันในดงลงสักพัน
|
มิใช่เขาตัวเราเป็นหนึ่งแน่ | | ไม่เที่ยงแท้โดยคำธรรมขันธ์
|
อนิจจาว่าไม่เบี่ยงไม่เที่ยงธรรม์ | | ไม่รู้วันที่จะตายทำลายตน
|
ไม่รู้ตัวว่าจะตายทำลายแท้ | | เว้นเสียแต่ผู้วิเศษแจ้งเหตุผล
|
จึ่งรู้ตัวว่าจะตายวายกังวล | | ปุถุชนหาได้น้อยไม่ค่อยมี
|
ฉันคิดถึงความตายใจหายวาบ | | เหมือนเกิดลาภตามทางกลางวิถี
|
หากว่าบุญเราหลายได้นายดี | | ไม่อินทรีย์ของเราเน่าอยู่ไพร
|
หากว่าเดชะบุญเจ้าคุณโข | | สู้ตอบโต้ท้องตราหามาไม่
|
ถ้าเหมือนเขาเมายศไม่อดใจ | | คงพาไพร่มาล้างเรี่ยทางเดิน
|
คนอื่นก็พูดกันเช่นฉันว่า | | เหล่าโยธาชวนกันสรรเสริญ
|
บ้างนบนอบขอบบุญเจ้าคุณเกิน | | บ้างอวยชัยให้เจริญยิ่งภิญโญ
|
ตัวฉันนั่งแล้วลองคิดตรองตรึก | | ถ้าปะศึกท่วงทีจะดีโข
|
ด้วยฝูงไพร่พร้อมพรั่งตั้งมโน | | แผลงเดโชเอาชนะกะศัตรู
|
ของสนองพระเดชคุณอุดหนุนแท้ | | เจ้าคุณแม่ทัพนี่อารีอยู่
|
ค่อยเคลื่อนคลายหายเข็ญท่านเอ็นดู | | ช่วยชื่นชูชีวังเรายั่งยืน
|
เหล่าพวกไพร่พูดจาว่ากันวุ่น | | ขอแทนคุณท่านเมตตาจะฝ่าฝืน
|
จะเอากายเป็นค่ายตับรับลูกปืน | | พูดกันดื่นเจียวอย่างนี้เห็นมีชุม
|
ค่อยเดินช้างมาในกลางพนมวัน | | หัวอกฉันร้อนใจดั่งไฟสุม
|
แสนกระสันเศร้าโศกเหมือนโรครุม | | ให้กลัดกลุ้มตรมใจไม่เสบย ฯ
|
|
|
๏ มาถึงห้วยหินลับดูลับลี้ | | เหมือนกับพี่ลับมานิจจาเอ๋ย
|
ทั้งลับตาลับหูลับคู่เชย | | เมื่อไรเลยจะหายลับกลับได้ยล
|
ตั้งแต่มาหาได้ลืมแม่ปลื้มจิต | | เฝ้าแต่คิดถึงวันหลายพันหน
|
ถึงยามกินยามนอนให้ร้อนรน | | เป็นกังวลคะนึงคิดถึงนาง
|
ทั้งคิดถึงมารดาและอาพี่ | | ปานฉะนี้จรดลจิตหม่นหมาง
|
คงคิดถึงลูกหลานข้ามด่านทาง | | มาในกลางดงป่าพระยาไฟ
|
ชาวบางกอกออกชื่อพระยาเย็น | | แล้วก็เป็นสั่นหัวกลัวความไข้
|
ซึ่งเรามานี้จะรอดตลอดไป | | หรือจะไม่พ้นดงจะปลงชนม์ ฯ
|
|
|
๏ ครั้นมาถึงคันยาวขึ้นเขาโขด | | สูงเด่นโดดแลเยี่ยมเทียมเวหน
|
ช้างปีนขึ้นตัวตั้งระวังตน | | ขึ้นสุดบนยอดเขาลำเนาเนิน
|
ข้างทางแลเป็นเปลวล้วนเหวผา | | หนทางมาสูงโดดบนโขดเขิน
|
เป็นคันน้อยริมทางพอช้างเดิน | | สะทกสะเทิ้นกลัวจะตกหกคะมำ
|
ภูเขาเล่าก็ชันเป็นหลั่นลด | | ช้างค่อยจดเดินเรียงกลัวเพลี่ยงพล้ำ
|
ค่อยค่อยคุกขาหน้าอุตส่าห์คลำ | | แม้นถลำแล้วเป็นเหลวด้วยเหวลึก
|
ซึ่งคนอยู่บนสัปคับนั้น | | มือถือมั่นตัวโยกอยู่โงกหงึก
|
ดูเหวเห็นใจเต้นอยู่ทึกทึก | | ช้างพลาดกึกคนงูบจับกูบงัน
|
คนเดินเท้าเล่าก็ล้าทำหน้าจืด | | คันยาวยืดใช่ง่ายเดินผายผัน
|
ซึ่งหนทางนั้นเล่าภูเขาชัน | | ช้างยังดันเต็มแย่อ้อแอ้ไป
|
ฉันขี่ท้ายช้างเจ้าคุณเป็นบุญเกิน | | แม้นต้องเดินเคี่ยวเข็ญเป็นไม่ไหว
|
นี่ไม่ต้องล้าเลื่อยเหน็ดเหนื่อยใจ | | เพราะว่าได้ขี่ช้างทางกันดาร ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงทับมะค่าเห็นน่าหยุด | | พี่แสนสุดเป็นสุขสนุกสนาน
|
แลตลอดโล่งเตียนเลี่ยนเป็นลาน | | แลเชิงชานภูผาเห็นน่าชม
|
ที่นั่นมีอารักษ์อันศักดิ์สิทธิ์ | | สิงสถิตมาแท้แต่ประถม
|
คนกองทัพพรั่งพร้อมน้อมประนม | | ที่ใต้ร่มไม้รังตั้งบูชา
|
แล้วคลาเคลื่อนกองทัพไม่ยับยั้ง | | ดูคับคั่งพลนิกายทั้งซ้ายขวา
|
บ้างเป็นหลุมเป็นบ่อมรคา | | บ้างตั้งท่าชันตรงลดลงดิน
|
ทางขึ้นขึ้นลงลงในดงชัฏ | | บ้างเดินลัดหลีกออกทางซอกหิน
|
บ้างสูงเยี่ยมเทียมฟ้าเมฆาฆิน | | บางแห่งเห็นเหม็นกลิ่นมาไม่ดี
|
ในดงชัฏฝูงสัตว์ไปไหนหมด | | ไม่ปรากฏเจอพักตร์ฝูงปักษี
|
ไม่ยินเสียงลิงค่างบ่างชะนี | | ไม่เห็นมีนึกประหลาดอนาถใจ ฯ
|
|
|
๏ ครั้นมาถึงมวกเหล็กเป็นที่เลี่ยน | | สะอาดเตียนที่ทางช่างกว้างใหญ่
|
ก็หยุดซึ่งพหลพลไกร | | เอาผ้าใบดาดหลังคามีฝาบัง
|
ทำเป็นที่สำหรับประทับผ่อน | | คนล่วงหน้ามาก่อนปลูกสองหลัง
|
ดีกว่าคาแฝกมุงไม่รุงรัง | | ยกกูบตั้งในสำหรับแม่ทัพนอน
|
ครั้นเวลาคำรบเมื่อพลบค่ำ | | คนประจำหน้าที่มีสลอน
|
คอยนั่งยามตามไฟที่ในดอน | | บางคนผ่อนพักหลับระงับกาย
|
ฟังเสียงฆ้องกระแตแซ่เสนาะ | | ทั้งเสียงเกราะหวั่นไหวน่าใจหาย
|
ซึ่งละอองน้ำค้างลงพร่างพราย | | ร่วงโปรยปรายต้องทั่วทุกตัวคน
|
ตัวฉันนอนในแต๊นท์แสนสบาย | | พอค่อยวายตากน้ำค้างอย่างเม็ดฝน
|
ก็พอค่อยเป็นสุขไม่ทุกข์ทน | | นอนเหนือบนพรมลาดสะอาดกาย
|
แสนคะนึงถึงคู่ที่ชู้ชื่น | | ในกลางคืนนอนไม่หลับกระสับกระส่าย
|
โศกถึงมิตรคิดถึงเมียยิ่งเสียดาย | | เฝ้านอนฟายชลนาไห้จาบัลย์
|
โอ้พวงพะยอมหอมไม่หายวายระเหย | | เมื่อไรเลยจะได้กลับไปรับขวัญ
|
พี่จากเจ้าลี้ลับมานับวัน | | จะไกลกันไปทุกทีตั้งปีเดือน
|
แสนเป็นห่วงดวงจิตขนิษฐ์นาฏ | | เป็นห่วงญาติน้อยใหญ่ใครจะเหมือน
|
ห่วงสมบัติพัสถานห่วงบ้านเรือน | | เป็นห่วงเพื่อนพิสมัยอาลัยลาญ
|
เวลาตีสิบทุ่มยิ่งกลุ้มจิต | | ขุนพินิจรัวฆ้องเพรียกเรียกทหาร
|
ให้ผูกช้างผูกม้าไม่ช้านาน | | มาเตรียมการพร้อมพรั่งช้างพังพลาย
|
แล้วบอกให้ช้างคุกบรรทุกของ | | ทุกหมวดกองเตรียมกันจะผันผาย
|
เจ้าพระยาแม่ทัพประดับกาย | | ขึ้นช้างพลายสีดอลออตา
|
ตีสิบเอ็ดเสร็จเขยื้อนคลาเคลื่อนทัพ | | พร้อมเสร็จสรรพไพร่นายทั้งซ้ายขวา
|
กระบวนทัพขับขันอรัญวา | | ล้วนแต่ป่าดงชัฏสงัดใจ
|
แสงพระจันทร์สว่างกระจ่างแสง | | แต่บังแฝงยงยูงสูงไสว
|
ส่องสว่างอยู่บนกลางนภาลัย | | แต่ว่าในดงคลุ้มเป็นพุ่มพฤกษ์
|
คนเดินเท้าแสนขยาดอนาถเหลือ | | คิดกลัวเสือสัตว์ป่าเวลาดึก
|
ที่ลางคนคร้ามขลาดอนาถนึก | | ต่างโห่ฮึกเสียงกันอันตราย
|
หนทางก็เหลือเลอะน้ำเฉอะชุ่ม | | ล้านแต่หลุมหล่มเลอะเปรอะใจหาย
|
ครั้นจวนแจ้งแสงเมฆาเวลางาย | | ฉันไม่วายคิดถึงน้องจิตหมองมล ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงทุ่งใช้วานฉันวานหน่อย | | ไปบอกสร้อยเสาวเรศแจ้งเหตุผล
|
ว่าฉันไม่มีสุขเฝ้าทุกข์ทน | | แลไม่ยลผู้ใดจะใช้วาน
|
ยิ่งโหยหวนครวญหานิจจาเอ๋ย | | ผู้ใดเลยจะช่วยกล่าวนำข่าวสาร
|
ไปถึงมิตรขนิษฐายุพาพาล | | แจ้งเหตุการณ์ว่าพี่ดีสบาย
|
ไม่เจ็บปวดป่วยช้ำมีความสุข | | เป็นแต่ทุกข์เศร้าโทรมถึงโฉมฉาย
|
เป็นสุดงดที่จะคลาดสวาทคลาย | | คิดถึงสายสุดที่รักที่จากทรวง ฯ
|
|
|
๏ ถึงสระคุดเห็นสระมีประจักษ์ | | ประหลาดนักสระอะไรช่างใหญ่หลวง
|
ฝูงคนมาวิดวักอาบตักตวง | | น้ำในห้วงถึงว่าแล้งไม่แห้งใน
|
เวลาเช้าฟ้าโล่งสี่โมงครึ่ง | | เจ้าคุณจึ่งหยุดพหลพลไพร่
|
เสพโภชนาหารสำราญใจ | | แล้วยกไปเข้าพงดงวนา
|
ที่ผืนแผ่นดินบางแห่งบ้างแดงล้ำ | | บ้างก็ดำเหมือนแสร้งแกล้งมุสา
|
บางแห่งเหลืองสีล้ำดอกจำปา | | พื้นสุธาบางแห่งขาวไม่ร้าวราน
|
ที่ในดงพงพฤกษ์นึกประหลาด | | ด้วยอากาศดงร้ายหลายสถาน
|
บางแห่งร้อนบางแห่งเย็นเป็นวิการ | | บ้างสะท้านจับเท้าหนาวขึ้นมา
|
บ้างครั่นเนื้อตัวร้าวชักหาวนอน | | บ้างก็ร้อนวิบัติขัดนาสา
|
บางแห่งวิงเวียนหัวมืดมัวตา | | บ้างจับนาสิกให้ชักไอจาม
|
บ้างก็เหม็นขื่นเขียวเหม็นเปรี้ยวบูด | | ไม่อาจสูดด้วยว่าจิตนั้นคิดขาม
|
ด้วยอายแร่แต่ดินมักกินลาม | | ตลอดตามสองข้างหนทางจร
|
อีกอายว่านอายยาในป่าชิด | | ล้วนมีพิษขึ้นอยู่ดูสลอน
|
ครั้งต้องแสงสุริยาทิพากร | | กำเริบร้อนด้วยพิษฤทธิ์วิกล
|
อายพื้นดินนำพาให้อาพาธ | | วิปลาสแรงกล้าเมื่อหน้าฝน
|
ตกแล้งหมาดขาดเหงื่อยังเหลือทน | | จึงพาคนให้เป็นไข้ได้รำคาญ
|
คนเดินเท้าก้าวหล่มบ้างล้มลุก | | ช้างเดินบุกหล่มล้าน่าสงสาร
|
เหล่าโคต่างล้าล้มอยู่ซมซาน | | บ้างวายปราณกลิ้งตายเป็นหลายโค
|
ช้างบุกหล่มบ้างล้มด้วยเต็มล้า | | ดูก็น่าสมเพชสังเวชโข
|
เจ้าของช้างเสียใจร้องไห้โฮ | | ว่าพุทโธ่ซื้อมาราคาแพง
|
ที่ช้างใหญ่ไม่สู้ล้ามาติดติด | | พระอาทิตย์คล้ายบ่ายลงชายแสง
|
คนเดินเท้าอ่อนล้าระอาแรง | | บ้างย่องแย่งเท้าพุปะทุพอง ฯ
|
|
|
๏ ครั้นออกจากป่าดงพ้นพงชัฏ | | โสมนัสยินดีไม่มีสอง
|
ก็หยุดยั้งฝั่งน้ำลำตะคลอง | | ต่างขนของปลงช้างกูบวางราย
|
คนปลูกแต๊นท์สำเร็จโดยเสร็จสรรพ | | เจ้าพระยาแม่ทัพเสร็จผันผาย
|
เข้าพักในร่มแต๊นท์แสนสบาย | | พลนิกายล้อมรอบขอบมณฑล
|
ครั้นรุ่งแสงสุริยาภานุมาศ | | จึ่งประกาศแก่เหล่าชาวพหล
|
จะต้องพักอยู่นี่คอยรี้พล | | ที่เหลือล้นล้าหลังยังไม่มา
|
ซึ่งชาวบ้านอยู่ยังแขวงจังหวัด | | ในดงชัฏล้วนลาวคนชาวป่า
|
เขาก็ชักชวนกันมาวันทา | | เจ้าพระยาแม่ทัพออกรับรอง
|
บ้างเอาส้มหน่วยและกล้วยหวี | | ใจอารีมาคำนับรับสนอง
|
บ้างก็หาพริกผักและฟักทอง | | ทำเป็นของกำนัลจัดสรรมา
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็รับรอง | | กล่าวคำพร้องถามดั่งจิตกังขา
|
อยู่ในพนมวันอรัญวา | | เจ้าคิดหากินนั้นด้วยอันใด
|
ซึ่งคนเป็นผู้ดีอย่างมีทรัพย์ | | คะเนนับของเจ้าสักเท่าไหร่
|
พวกลาวเรียนแอ่ออพูดจ้อไป | | บ้างวาได้ปีหนึ่งตำลึงเดียว
|
บ้างว่ามีพอหยิบสิบสลึง | | บ้างว่ามีบาทหนึ่งขอดจนเขียว
|
ที่เศรษฐีอย่างยิ่งมีจริงเจียว | | ตระหนี่เหนียวห้าตำลึงนั้นพึ่งมี
|
ท่านเจ้าคุณได้ฟังคิดสังเวช | | ครั้นแจ้งเหตุพวกลาวชาววิถี
|
คิดสมเพชเวทนานึกปรานี | | ใจอารีแก่คนที่จนจริง
|
ท่านแจกเงินคนละบาทไม่ขาดหน้า | | ลาวที่มานั่งรายทั้งชายหญิง
|
บางคนกลัวจะไม่ได้ใจประวิง | | ไม่นั่งนิ่งลุกขยับมาฉับพลัน
|
ล้วนได้เงินคนละบาทสมมาดหมาย | | ทั้งหญิงชายปรีดิ์เปรมเกษมสันต์
|
บ้างไหว้แล้วไหว้เล่าเฝ้ารำพัน | | อวยพรท่านเจ้าคุณให้บุญมี ฯ
|
|
|
๏ พอรุ่งเช้าเจ้าคุณท่านทำศาลเจ้า | | ปลูกไว้เคียงศาลเก่าริมวิถี
|
พร้อมหลังคาปกปิดมิดชิดดี | | ดูท่วงทีเรือนฝรั่งด้วยช่างทำ
|
วิไลเลิศเฉิดฉายถวายเจ้า | | อีกรูปเสาวลึงค์ดูขึงขำ
|
ใหญ่โตคะเนตาสักห้ากำ | | สง่าง้ำอยู่ในศาลสะอ้านตา
|
เครื่องบางสรวงเป็ดปูหัวหมูเหล้า | | ถวายเจ้าให้พิทักษ์ช่วยรักษา
|
พวกนายทัพนายกองเนืองนองมา | | ซึ่งบรรดาพลไพร่ได้เอ็นดู
|
ซึ่งโรคภัยอันตรายอย่ากรายกล้ำ | | เจ้าจงบำบัดภัยอย่าให้สู้
|
ขอจงช่วยบำรุงผดุงชู | | ทุกหมวดหมู่กองทัพจนกลับมา
|
ด้างอยู่นั้นสองวันกับสามคืน | | พอคนชื่นหายเหนื่อยที่เมื่อยขา
|
ก็ยกซึ่งพยุหบาตรเยื้องยาตรา | | ข้ามช้างม้าที่แม่น้ำลำตะคลอง
|
แล้วเดินตามวนาป่าละเมาะ | | ชมว่านเปราะพอพ้นหายหม่นหมอง
|
ทั้งว่านแรดว่านช้างว่านยางทอง | | ทั้งว่านปล้องว่านปลามหากาฬ
|
มีทั้งว่านเสน่ห์จันทน์ว่านฟันม้า | | ว่านพระยาสามรากว่านสากสาร
|
ว่านนิลเพทเจ็ดศีรษะหนุมาน | | มีทั้งว่านตะง้าวว่านสาวพึง
|
อีกว่านตูมว่านเต่าว่านเฒ่าหง่อม | | และว่านหอมว่านเห็ดว่านเพ็ชหึง
|
ว่านกำแพงเพชรเจ็ดชั้นสามพันตึง | | อีกว่านอึ่งว่าคางคกว่านนกยาง
|
ว่านเพ็ดน้อยเพ็ดม้าว่านสาโรช | | ว่านกำโหมดว่านมัวว่านหัวสาง
|
ว่านแพทว่านรภิมอยู่ริมทาง | | ว่านกระดางนางกวักว่านจักบัว
|
ว่านเพชสงฆาว่านอาสพ | | ว่านบุตรลบมีเป็นจุกสิ้นทุกหัว
|
อีกว่านอุกว่านอาบว่านคราบวัว | | อีกว่านพลั่วว่านพลวกว่านหมวกคน
|
ว่านอีดำอีแดงแสงอาทิตย์ | | และว่านพิษขึ้นหมู่ฤดูฝน
|
อีกว่านเจ็ดช้างสารว่านกำพล | | ทั้งว่านต้นหลายหลากมีมากนัก
|
ว่านดีดีมีถมน่าชมชิด | | อยู่ติดติดแลดูล้วนรู้จัก
|
จะวานเพื่อนก็ไม่พบประสบพักตร์ | | นึกแสนรักแลดูหมู่อรัญ
|
คิดคิดจะลงช้างวิ่งวางหา | | เกรงอาญาเจ้าคุณจะหุนหัน
|
ถ้ามาตรแม้นท่านโกรธทำโทษทัณฑ์ | | นึกหาอันจะรำคาญด้วยว่านยา ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงพุนกยูงมุ่งเขม้น | | มิได้เห็นนกยูงฝูงปักษา
|
นกยูงไปไหนนะไม่ปะตา | | ขอเชิญมาตรงนี้ขอพี่ชม
|
ฟ้อนหางให้พี่วายหายกำสรวล | | ช่วยชักชวนพอให้ปลื้มลืมประถม
|
คิดถึงน้องหมองในฤทัยตรม | | อกระทมอยู่เจียวฉันแต่วันมา
|
ครั้นกองทัพลับพุนกยูงแล้ว | | ไม่ผ่องแผ้วเหือดสิ่นถวิลหา
|
ช้างก็เดินโดยทางกลางวนา | | พระสุริยาบ่ายน้อยคล้อยอำพน ฯ
|
|
|
๏ ถึงนครจันทึกนึกสงสัย | | เมืองอะไรกลางป่าน่าฉงน
|
ไม่เห็นมีที่อยู่เหล่าผู้คน | | หรือว่าต้นไม่บังเมืองตั้งไกล
|
ครั้นพ้นท้องทุ่งกว้างมีทางตรง | | แลเห็นธงปักแพ้วอยู่แหววไหว
|
เขาบอกว่าเสือกินคนฉงนใจ | | เสืออะไรมีอยู่มากฉันอยากยล
|
ถามนายแขวงนายกำนันนั้นเขาว่า | | กองทัพมาเมื่อหมู่ฤดูฝน
|
มาเจ็บนอนอยู่ในป่ารักษาตน | | เพื่อนสองคนอยู่รักษาพยาบาล
|
ครั้นว่าฝนตกหนักเพื่อนผลักหนี | | เจ้าคนเจ็บเต็มทีน่าสงสาร
|
ก็นอนอยู่เอกีราตรีกาล | | เสือก็คลานเข้าฟัดขบกัดกิน
|
แล้วคนเขาเดินพบอศภเหลือ | | เป็นรอยเสือกัดไว้ยังไม่สิ้น
|
ทำธงปักให้คนเขายลยิน | | ว่าตรงถิ่นที่นี่มีรังควาน
|
ซึ่งตัวฉันได้ฟังคิดสังเวช | | นึกสมเพชมิได้วายหายสงสาร
|
ถ้าแม้นเราเจ็บลงอยู่ดงดาล | | เป็นอาหารเสือเหมือนเขาอกเราอา
|
ถึงเราเจ็บเจ้าคุณเห็นเป็นไม่ทิ้ง | | เป็นความจริงใช่แสร้งแกล้งมุสา
|
คงไม่ต้องว้าเหว่อยู่เอกา | | ด้วยเรามาริมเท้าแห่งเจ้านาย
|
แต่คนอื่นเป็นไข้อยู่ในทาง | | ยังให้ช้างขี่มารักษาหาย
|
แล้วเจ้าคุณสั่งทั่วทุกตัวนาย | | พลนิกายเจ็บจริงอย่าทิ้งกัน ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงกุดผักหนามเหมือนหนามยอก | | ไม่หลุดออกจากอกวิตกฉัน
|
เฝ้าแปลบปลาบอยู่เช่นนี้ทุกวี่วัน | | โศกกระสันนี้เหมือนหนามยอกตามทรวง
|
ซึ่งหนามผักหนามพงพอบ่งได้ | | หนามในใจสุดจักคิดหนักหน่วง
|
แม้นได้ยลพักตราสุดาดวง | | หนามคงร่วงหลุดตกจากอกพลัน
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพบังคับสั่ง | | ให้ยับยั้งซึ่งพหลพลขันธ์
|
พลไพร่ตั้งล้อมอยู่พร้อมกัน | | พักอยู่นั่นนอนคืนเช้าตื่นไป
|
ก็คลาเคลื่อนเขยื้อนยาตรคลาดกระบวน | | ดูธงทวนแลเป็นทิวปลิวไสว
|
ก็รีบเร่งพหลพลไกร | | ถึงเขาใหญ่เขื่อนลั่นกั้นหนทาง
|
เดินตามตรอกซอกผาศิลาลื่น | | ไสช้างขึ้นลำเนาภูเขาขวาง
|
ดูสูงเยี่ยมเทียมเวหานภาพางค์ | | เจ้าแม่นางงามสถอต(?)ศักดิ์สิทธิ์ครัน
|
พวกกองทัพนับถือบูชาเจ้า | | ที่เชิงเขาน้อมถวายแล้วผายผัน
|
ขึ้นหนทางดูช้างขึ้นตัวชัน | | อุตส่าห์ดันขึ้นเขาค่อยเทาเดิน
|
ชมพูผาแลเลื่อมเป็นเหลื่อมย่อ | | ตะแง้ตะงอเงื้อมชะงักตะพักเผิน
|
บ้างเวิ้งวุ้งรุ้งตะเพิงดั่งเชิงเทิน | | บ้างเป็นเนินลาดเตียนเลี่ยนเป็นลาน
|
เดินช้างข้ามตลอดพ้นยอดเขา | | ช้างก็เหย่าเดินใหญ่ในไพรสาณฑ์
|
ข้ามดงออกป่ามาไม่นาน | | ข้ามท้องธารออกทุ่งฝุ่นฟุ้งทาง ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงลาดบัวขาวเช้าสังเกต | | สี่โมงเศษหยุดสำนักพักตามอย่าง
|
เสพโภชนาหารสำราญพลาง | | อยู่ที่หว่างร่มรุกขะเรียงราย
|
เห็นหนองน้ำใหญ่โตมีโกมุท | | บ้างพ้นผุดจากวนชลสาย
|
น้ำใสสะอาดเย็นมองเห็นกาย | | มัจฉาว่ายอยู่ในวนชลธาร
|
ซึ่งพักอยู่ที่นั่นไม่ทันช้า | | เสร็จคลาดคลาเคลื่อนพหลพลทหาร
|
เดินดงออกแดนแสนสำราญ | | แล้วลงธารเลยท่าเดินผ่าพง ฯ
|
|
|
๏ ถึงสีคิ้วเหมือนน้องรักของพี่ | | หล่อนเคยสีผึ้งวาดพาดขนง
|
ประจงจัดดัดง้อมน้อมเป็นวง | | ดั่งศรองค์หริรักษ์พระจักรี
|
เห็นเรือนลาวชาวย่านบ้านสีคิ้ว | | เป็นแถวทิวตลอดทางหว่างวิถี
|
เห็นคอกโคเขื่อนรอบเป็นขอบดี | | กว้างสักสี่ห้าเส้นเห็นวิไล
|
มีทั้งอาวาสสะอาดเอี่ยม | | ปักไม้เสียมเขื่อนเคียงเรียงไสว
|
นี่ใครหนอสามารถประหลาดใจ | | มาสร้างไว้กลางดอนแต่ก่อนกาล
|
แลเห็นที่ทำเนียบประเทียบพัก | | ดูคึกคักใหญ่โตรโหฐาน
|
เมืองโคราชเกณฑ์ระดมกรมการ | | ในแขวงบ้านทำสำหรับกองทัพชัย
|
พวกกรมการพร้อมพรั่งคอยนั่งรับ | | เชิญเจ้าคุณแม่ทัพพักอาศัย
|
ท่านเจ้าคุณฟังแถลงครั้นแจ้งใจ | | ก็สั่งให้หยุดพักสำนักพลัน
|
พวกทหารอยู่รอบริมขอบค่าย | | พลทั้งหลายปรีดิ์เปรมเกษมสันต์
|
ครั้นพลบค่ำย่ำสงพระสุริยัน | | ต่างชวนกันหลับนอนผ่อนสบาย
|
ยกกระบัตรท่านจัดให้คนอยู่ | | ทุกหมวดหมู่พร้อมพรั่งสิ้นทั้งหลาย
|
ตามด้านนอกด้านในทั้งไพร่นาย | | อยู่เรียงรายตามรอบโดยขอบควร
|
เวลาค่ำย่ำยามตามตำหรับ | | ผู้ตรวจทัพเดินรอบเที่ยวสอบสวน
|
โดยพิชัยสงครามตามกระบวน | | ดูถี่ถ้วนฟืนไฟระไวระวัง
|
ฝ่ายขันโลกนัยนาโหราเฒ่า | | แกนั่งเฝ้าดูฟ้าเหมือนบ้าหลัง
|
ฉันร้องถามด้วยเสียงสำเนียงดัง | | ว่าท่านนั่งดูอะไรไม่ได้การ
|
แกร้องบอกว่าเปล่าดูดาวเล่น | | ด้วยเห็นเป็นนิมิตผิดสัณฐาน
|
ดาวพระเสาร์กับดาวพระอังคาร | | เห็นพบพานเข้าเคียงอยู่เรียงกัน
|
เหล่าคนอื่นตื่นตรูกันดูหมด | | เห็นปรากฏตาคนบนสวรรค์
|
คนตื่นดูมิใช่น้อยสักร้อยพัน | | เจ้าคุณท่านก็ออกข้างนอกดู
|
แล้วถามว่าตาโหรเป็นอย่างไร | | ขุนโลกนัยนาก้มหน้าอยู่
|
แล้วเรียนตามศึกษาตำราครู | | ที่ได้รู้เรียนมาก็ว่าดี
|
ต่างคนก็กลับไปหลับนอน | | ครั้นทินกรสว่างกระจ่างศรี
|
มิได้ยกพหลโยธี | | เจ้าคุณมีใจสังเวชสมเพชพล
|
เพราะด้วยว่าล้าเลื่อยยังเมื่อยนัก | | จะต้องพักผ่อนแรงแห่งพหล
|
แรมอยู่นี่เสียอีกคืนพอชื่นตน | | ด้วยผู้คนใช้เขาต้องเอาแรง ฯ
|
|
|
๏ ยังมีผู้มาร้องฟ้องเจ้าคุณ | | ว่ากรมการทำวุ่นขึ้นในแขวง
|
ด้วยข้าวสารซื้อหาราคาแพง | | ใจโกงแกล้งเก็บข้าวสารทุกบ้านเรือน
|
ว่าจะไปจำแนกแจกกองทัพ | | ทำสับปลับโกงใหญ่ใครจะเหมือน
|
คิดเบียดเบียนผันแปรให้แชเชือน | | อ้างป้ายเปื้อนกองทัพอัประมาณ
|
เจ้าพระยาแม่ทัพสดับเรื่อง | | บัญชาเยื้องถามไถ่ปราศรัยสาร
|
สั่งขุนศรีกระดาลพลคนชำนาญ | | เป็นตระลาการชำระความถามซัก
|
ท่านขุนศรีคำนับรับบัญชา | | แล้วออกมาถามไถ่ให้ประจักษ์
|
กรมการรู้ตัวคิดกลัวนัก | | ไม่เยื้องยักสารภาพลงกราบลน
|
ท่านขุนศรีเรียกเอาซึ่งข้าวสาร | | คืนชาวบ้านก็มารับอยู่สับสน
|
ล้วนยกมือไหว้ทั่วทุกตัวคน | | ต่างก็ขนข้าวสารไปบ้านเรือน ฯ
|
|
|
๏ ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันพร้อมกันหมด | | รู้กำหนดจะคลาลีลาเคลื่อน
|
เหล่าผู้คนพร้อมพรักบ้างตักเตือน | | ชักชวนเพื่อนหุงข้าวแต่เช้ากิน
|
ครั้นรุ่งแสงสุริยาทิพามาศ | | เสร็จเยื้องยาตรรัถาเปล่งราสิน
|
เจ้าพระยาแม่ทัพประดับอินท- | | ทรีย์เสร็จผินขึ้นช้างสำอางพราว
|
เหล่าพหลพลไพร่น้ำใจคึก | | บ้างโห่ฮึกอึงลั่นสนั่นฉาว
|
พลรบขบเขี้ยวมาเกียวกราว | | เสียงฝีเท้าคนเดินแทบเนินพัง
|
แล้วเดินทัพออกทุ่งมุ่งเขม้น | | เหลียวหลังเห็นกองทัพตอนตับหลัง
|
ยาวเป็นพืดยืดมาประดาดัง | | ดูคับคั่งพวกพหลพลนิกร
|
เห็นน่าเพลิดเพลินใจมาในทุ่ง | | กว้างเวิ้งวุ้งแลเด่นเห็นสิงขร
|
ก็ขับช้างเดินผ่าทุ่งนาดอน | | เร่งรีบร้อนเดินมาไม่ช้านาน ฯ
|
|
|
๏ พอข้ามลำตะคองถึงสองเนิน | | ดูน่าเพลินวัดมีพร้อมวิหาร
|
ในใจฉันบันเทิงเริงสำราญ | | เห็นมีบ้านไม่น้อยหลายร้อยเรือน
|
มองเห็นลาวหญิงชายนั่งรายเรียง | | ถือข้าวห่อนั่งเคียงอยู่กลาดเกลื่อน
|
แถวยาวนั่งตั้งจิตไม่คิดเชือน | | พอช้างเคลื่อนถึงที่ลงอยู่ตรงกัน
|
พอเจ้าคุณคลาไคลออกไปดู | | ลาวก็ชูเหนือหัวบ้างตัวสั่น
|
บ้างก็เรียนว่าของถวายเจ้านายพลัน | | เจ้าคุณท่านเมตตาประชาชน
|
แจกเงินคนละเฟื้องดูเปลืองโข | | มีมโนศรัทธาหากุศล
|
ชอบทำบุญวณิพกยาจกจน | | แจกจบพ้นทั่วแล้วทั้งแถวยาว
|
พวกกองทัพรับเอาห่อข้าวเหนียว | | วิ่งกรูเกรียวยินดีเสียงมี่ฉาว
|
แก้ดูกันออกสอข้าวห่อลาว | | เกลือสินธาวมีอยู่ริมให้จิ้มกิน
|
ก็แรมอยู่ที่นั่นไม่ผันผาย | | เวลาสายสุริยาเปล่งราศิน
|
เช้าสักสามโมงเศษสังเกตชิน | | ต่างก็กินข้างปลาหาสบาย
|
กรมการอักโขเมืองโคราช | | มาเกลื่อนกลาดคอยรับกองทัพหลาย
|
ล้วนแต่หลวงพระทั่วลาวตัวนาย | | ต่างผันผายเข้าหาคุณขุนสกล
|
ผู้ว่าที่มาเหจเรทัพ | | ให้พานำคำนับจอมพหล
|
ข้างฝ่ายท่านจเรทัพรับยุบล | | มากราบเรียนโดยนุสนธิ์ตามมีมา
|
ท่านเจ้าคุณยินดีมีประภาษ | | อนุญาตนำเขาเข้ามาหา
|
ข้างท่านจเรทัพรับบัญชา | | แล้วออกมานำท่านเหล่านั้นไป
|
กรมการถึงพร้อมน้อมคำนับ | | ต่อจอมทัพเรียนแจ้งแถลงไข
|
ด้วยพระยากำแหงนั้นแจ้งใจ | | จึ่งใช้ให้มาคำนับรับเจ้าคุณ
|
เจ้าพระยาแม่ทัพสดับแจ่ม | | จึ่งเยื้อนแย้มตอบพลันไม่หันหุน
|
ภิปรายโปรยบัญชาด้วยการุณ | | ขอบใจคุณโคราชประภาษดัง
|
แล้วถามเรื่องไปพบรบอ้ายฮ่อ | | ยังเหลือหลออยู่บ้างหรือข้างหลัง
|
กรมการเรียนตามความสัจจัง | | ว่าเหลือยังมีน้อยสักร้อยคน
|
แล้วเจ้าคุณแม่ทัพก็กลับถาม | | โดยข้อความที่วิเศษตามเหตุผล
|
การบ้านเมืองเป็นสุขหรือทุกข์ทน | | ซึ่งฟ้าฝนบริบูรณ์หรือสูญทราม
|
กรมการกราบเรียนจำเนียรนึก | | ว่าเกิดศึกราชประเทศเขตสยาม
|
ต้องยกทัพจับฮ่อต่อสงคราม | | ไพร่ได้ความยากเย็นเพราะเกณฑ์ไป
|
เสร็จคำขานกรมการก็ลากลับ | | ค่อยขยับออกมาหาช้าไม่
|
ครั้นเวลาพลบค่ำลงรำไร | | พลไพร่พรักพร้อมนั่งล้อมวง
|
ครั้นเวลาประมาณยามสักสามทุ่ม | | เสียงปืนตูมติดติดพิศวง
|
ท่านขุนสกลสารบาญหาญณรงค์ | | มาปลุกแอตดิกงทั้งสองคุณ
|
ได้ยินอีกเสียงปืนใหญ่ครืนลั่น | | อัศจรรย์จริงจริงคนวิ่งวุ่น
|
เตรียมปืนใหญ่เอะอะชุลมุน | | ดินกระสุนพร้อมพรักเตรียมคักคึก
|
ท่านยกกระบัตรทัพกำชับคน | | ให้เตรียมตนด้วยว่าเวลาดึก
|
หรือมีปัจจามิตรต่างคิดลึก | | ทัพหน้าพบข้าศึกเสียงลั่นปืน
|
จึ่งใช้มาเร็วไปให้รู้เหตุ | | ผิดสังเกตปลุกไพร่ไว้ให้ตื่น
|
เป็นเวลาเที่ยงนางค่ำกลางคืน | | ใช่การอื่นแม้นเลินเล่อจะเผลอตัว
|
กรมการผูกช้างให้มั่นคง | | จัตุรงค์เตรียมรบอยู่ครบทั่ว
|
ล้วนทะนงองอาจไม่หวาดกลัว | | บ้างก็หัวเราะชอบจริงอยากชิงชัย
|
สักครู่หนึ่งพอม้ากลับมาบอก | | เขาจุดดอกไม้พลุประจุใหญ่
|
บ้านกุดจิกหนทางยังห่างไกล | | จุดดอกไม้ฉลองวัดเขาศรัทธา
|
ครั้นต่างคนตระหนักประจักษ์แจ่ม | | ก็ยิ้มแย้มเกาหัวอวดตัวกล้า
|
คิดว่าอ้ายฮ่อยกทัพวกมา | | ตีกองหน้าเราไม่เว้นจักเล่นมัน
|
ต่างคนก็คืนกลับไปหลับนอน | | ครั้นทินกรพวยพุ่งรุ่งแสงสัน
|
เสร็จเคลื่อนคลายไพร่พลพหลพลัน | | เลยตะบันล่วงตำบลพ้นนิคม ฯ
|
|
|
๏ มาถึงบ้านกุดจิกเห็นจิกต้น | | นี่บุคคลใดหรือตั้งชื่อสม
|
ไม่สนุกสนานขี้คร้านชม | | ด้วยอารมณ์ฉันร้อนอาวรณ์ครวญ ฯ
|
|
|
๏ มาถึงบ้านสลัดไดเหมือนใจพี่ | | สลัดหนีสลัดนางห่างสงวน
|
เพราะจำเป็นจำใจอาลัยนวล | | ใช่จะหวนใจตัดสลัดจริง ฯ
|
|
|
๏ มาถึงบ้านนครคำเหมือนคำพี่ | | เมื่อพาทีคำพร้องกับน้องหญิง
|
แลเหมือนคำสายสมรแม่วอนวิง | | กลัวจะทิ้งน้องไว้หาใหม่เชย
|
หล่อนสั่งแล้วสั่งเล่าเฝ้ากำชับ | | ไปแล้วกลับมาดีดีหนาพี่เอ๋ย
|
ซึ่งเมียใหม่แล้วอย่าพาลงมาเลย | | แล้วภิเปรยพูดฉอ้อนวอนรำพัน ฯ
|
|
|
๏ มาถึงบ้านโคกกรวดกรวดระดะ | | ในพื้นพระธรณีงามสีสัน
|
น้ำฝนเซาะบางเกาะเป็นหลืบลัน | | เป็นชั้นชั้นน่าชมอารมณ์เฟือน ฯ
|
|
|
๏ ถึงสระกระแบกเหมือนแบกซึ่งความรัก | | เหลือจะหนักอกใจใครจะเหมือน
|
แบกข้าวของเหลือแรงพอแบ่งเบือน | | หรือวานเพื่อนช่วยแบกแยกออกไป
|
ที่แบกรักหนักใจวางไม่ลง | | เหลือจะทรงกายตั้งนั่งไม่ไหว
|
เป็นสุดแบกความรักหนักฤทัย | | ประจำใจทรวงพี่ทุกวี่วัน ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงหนองเป็นน้ำมีน้ำจิต | | วิปริตแปรปรวนดูผวนผัน
|
นกเป็ดน้ำดีเหลือหนอเนื้อมัน | | ในใจฉันอยากกินด้วยยินดี
|
ครั้นรู้สึกนึกพุทโธมโนกรรม | | คิดจะทำลายสัตว์น่าบัดสี
|
ชีวิตเขาสิเราจะย่ำยี | | ของตัวมีใจรักเขาจักปอง
|
ซึ่งคนเหล่าชาวบ้านแถวย่านนั้น | | บ้างชวนกันจัดเอาซึ่งข้าวของ
|
บ้างมันต้มจิ้มน้ำตาลใส่พานรอง | | คอยนั่งมองตั้งใจให้เจ้าคุณ
|
เจ้าพระยาแม่ทัพก็รับของ | | ชาวบ้านช่องนี่ก็สุดตามอุดหนุน
|
ท่านก็แจกเงินเฟื้องต้องเปลืองทุน | | ท่านทำบุญมิได้ว่างเรี่ยทางมา ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงบ้านมะขามเฒ่าโตเท่าไหน | | กับทุกข์ฉันนั้นใครจะโตกว่า
|
หรือมะขามเฒ่าชแรแก่ชรา | | ฉันจ้องตามิได้ยลต้นบุราณ ฯ
|
|
|
๏ ครั้นมาถึงเขาลาดอนาถจิต | | ชำเลืองพิศดูประเทศเขตสถาน
|
มีสวนหมากยืดยาวมะพร้าวตาล | | จะเปรียบปานราชบุรณะดาวคะนอง
|
|
|
๏ ครั้นถึงที่หยุดพักสำนักกว้าง | | ก็ปลงช้างผู้คนเข้าขนของ
|
เข้าในแต๊นท์ที่เขาทำไว้สำรอง | | ยกจำลองเข้าไปวางอยู่ข้างใน
|
พระอาทิตย์เลี้ยวลัดอัสดง | | คนล้อมวงพร้อมเพรียงเรียงไสว
|
นั่งยามตามทำนองก่อกองไฟ | | พลไพร่พร้อมพรั่งอยู่คั่งคับ ฯ
|
|
|
๏ ครั้นเช้าตรู่สุริยาส่องอากาศ | | กรมการโคราชมาเป็นตับ
|
ต่างคนก็นอบน้อมเจ้าจอมทัพ | | แล้วคอยรับบัญชาพร้อมหน้ากัน
|
เจ้าพระยาแม่ทัพออกรับรอง | | ไม่ขัดข้องรังเกียจคิดเดียดฉันท์
|
แล้วให้เสื้อให้ผ้าพร้อมหน้าพลัน | | บางคนนั้นได้แหวนแสนวิไล
|
กรมการดีใจด้วยได้ลาภ | | ต่างคนกราบนบนิ้วอยู่ไสว
|
ครั้นสิ้นแสงสุริโยอโณทัย | | ต่างคนไปที่พักสำนักตัว
|
แรมอยู่นั้นสองวันกับสามคืน | | พอคนชื่นล้าเลื่อยหายเหนื่อยทั่ว
|
ก็เตรียมคนเตรียมช้างเตรียมต่างวัว | | มาเตรียมมั่วสุมไว้ในกลางคืน ฯ
|
|
|
๏ ครั้นวันอาทิตย์ขึ้นหนึ่งค่ำเดือนอ้าย | | พระสุริยฉายส่องฟ้าขึ้นฝ่าฝืน
|
ยกกระบัตรจัดทวนกระบวนปืน | | ต่างก็ยืนคอยอยู่ทุกหมู่กอง
|
ทัพหน้าแล้วก็มาถึงทัพขันธ์ | | เข้ารวมกันประดังอยู่ทั้งสอง
|
ปีกขวาปีกซ้ายก็จัดไว้ถัดรอง | | ตามทำนองพยุหบาตรเยื้องยาตรา
|
ล้วนทหารถือปืนยืนสะพรั่ง | | ถือโล่ห์ดั้งหลาวแหลนดูแน่นหนา
|
ปืนปื่นพื้นนกสับอันดับมา | | รวมทั้งห้ากองทัพพร้อมสรรพกัน
|
ล้วนสวมเสื้อเขียวแดงแสงระยับ | | พร้อมเสร็จสรรพพหลพลขันธ์
|
เหล่าตัวนายขี่ช้างพลายตัวสำคัญ | | ล้วนแต่กั้นสัปทนทุกคนไป
|
ธงสำหรับนายทัพทั้งหลายนั้น | | ต่างสีสันแลเป็นทิวปลิวไสว
|
บ้างสีเขียวแดงเหลืองเรืองประไพ | | บางคนใช้ต่างสีมีสำคัญ
|
แล้วถึงกองทัพใหญ่วิไลเหลือ | | ล้วนสวมเสื้อดีดีต่างสีสัน
|
ยกกระบัตรจัดทัพอันดับกัน | | ถึงธงไทยใหญ่สนั่นแดงประทาน
|
แล้วถึงหม่อมราชวงศ์กระจ่าง | | ขี่ม้าสะบัดย่างนำทหาร
|
ดูท่วงทีเจนจัดหัดชำนาญ | | ล้วนถือขวานฝรั่งทั้งกระบวน
|
แล้วถึงปืนปะเหรี่ยมล้อเทียมลาก | | คนกระชากล้อหันไปผันผวน
|
อยู่เรียงรายข้างทางห่างพอควร | | แต่แล้วล้วนปืนใหญ่ไสวตา
|
แล้วถึงกองขุนสิทธิ์ติดกระชั้น | | มีซายันควงกระบองคล่องหนักหนา
|
ทหารแถวสองข้างหนทางมา | | ล้วนถืออาวุธสิ้นดูภิญโญ
|
แล้วถึงกอโปราลภมดูคมขำ | | ขี่มานำทหารประมาณโหล
|
คุมปืนแคทะริงกันสนั่นโต้ | | มีเดโชยิ่งกว่าปืนอื่นทั้งปวง
|
แล้วก็ถึงธงทหารสะอ้านแท้ | | ถัดก็แตรขลุ่ยกลองล้วนของหลวง
|
ยกกระบัตรจัดงามตามกระทรวง | | เดินทักท้วงเตรียมตรวจทุกหมวดกอง
|
แล้วถึงทหารอย่างยุโรปครบทหาร | | งามตระการเสื้อสีไม่มีสอง
|
ทั้งข้างแขนพู่บ่าระย้าทอง | | ล้วนแต่ของใหม่ใหม่ได้ประทาน
|
ทั้งตัวนายขี่ม้าอาชาชาติ | | ดูองอาจสมกายนายทหาร
|
ประดุจดังยังพยัคฆ์จักทะยาน | | ศัตรูพานพ้องพบรบระอา
|
ช้างน้ำมันกอโปราลเกศขี่คอ | | พลายสีดอท่วงทีดีหนักหนา
|
สวมเสื้อยศอย่างทหารประทานมา | | ดูสง่าท่วงทีเห็นดีควร
|
เหล่าทหารเดินข้างช้างเป็นแถว | | แต่ล้วนแล้วถือปืนยืนอยู่ถ้วน
|
และขุนหมื่นดาบตะพายรายกระบวน | | ตามจำนวนริ้วทัพอันดับมา
|
กระบวนช้างตั้งเชือกเป็นเทือกแถว | | ถัดมาแล้วช้างเขนคเชนทร์กล้า
|
อีกช้างทรงองค์พระปฏิมา | | แล้วถึงช้างเจ้าพระยากระโจมแดง
|
เหล่าผู้คนคั่งคับอันดับมา | | ขุนบำรุงโยธาตัวเข้มแข็ง
|
คุมขุนหมื่นเหล่าพวกเสื้อหมวกแดง | | คอยเดินแซงสองข้างหนทางมา
|
สี่เท้าช้างเจ้าคุณคือขุนรักษ์ | | ขุนอินทรภักดีเนื่องอยู่เบื้องขวา
|
ขุนนราจุมพลคนปัญญา | | กับขุนราชเมธาอยู่ซ้ายมือ
|
พวกขุนหมื่นทนายเรียงรายเดิน | | ล้วนแต่เชิญสมรสเครื่องยศถือ
|
ใส่เสื้อดำริ้วเข้มดูเต็มลือ | | ล้วนขุนหมื่นมีชื่อทุกตัวนาย
|
หลวงพิชัยเสนาสง่าเหลือ | | สอดสวมเสื้อแดงสีมณีฉาย
|
เข็มกลัดคาดสายกระบี่มีตะพาย | | ขี่คอพลายประชญมารชาญศักดา
|
กรกุมขอข้อขึงดูผึ่งผาย | | แล้วยักย้ายท่วงทีดีหนักหนา
|
ว่าที่แอดดิกงยงศักดา | | เผ็นผู้รักษาแม่ทัพรบไพรี
|
แล้วถึงช้างคุณบุตรแอดดิกง | | สวมเสื้อส่งสดแสงดูแดงสี
|
ขี่ช้างพลายโพยมกระโจมมี | | ดูท่วงทีผุดผาดสะอาดตา
|
แล้วถึงทหารหัดใหม่สไนเด้อร์ | | ไม่เซอะเซ่อท่วงทีดีหนักหนา
|
เดินในทางสองข้างมรคา | | จ้างมาเป็นนายไม่ร้ายรอง
|
แล้วถึงคุณพลอยกับคุณนิล | | ดูเฉิดฉินท่วงทีดีทั้งสอง
|
ใส่เสื้อดำสักหลาดปักคาดทอง | | ดูเรืองรองรจนาโอฬาฬาร
|
แล้วถึงช้างคุณขาวกับคุณพิน | | ล้วนขี่คอทั้งสิ้นดูอาจหาญ
|
มือจับขอยอเยื้องเปรื่องชำนาญ | | ล้วนเป็นหลานแม่ทัพกำกับพล
|
แล้วถึงกองปลัดทัพดูขับขัน | | พร้อมด้วยพันพวกเหล่าชาวพหล
|
ล้วนแต่ถือเครื่องรบครบทุกคน | | เสื้อสวมตนต่างต่างสำอางตา
|
แล้วถึงกองยกกระบัตรช่างจัดสรร | | ทหารอย่างวาลันเตียซ้ายขวา
|
ล้วนถือเครื่องอาวุธยุทธนา | | ทั้งปืนผาครบเครื่องกระบวนพล
|
หลวงภักดีขี่คอพลายจักรกรด | | ถือขอจดตั้งใจไม่ฉงน
|
ตั้งขอขึงผึ่งผายหมายประจญ | | เหล่าพหลเดินทางข้างสัตว์โต
|
ถึงกองจเรทัพอันดับมา | | ทหารหน้าท่วงทีเห็นดีโข
|
สวมเสื้อดำเฉิดฉินดูภิญโญ | | ล้วนใส่หมวกกะโล่ผ้าขาวคลุม
|
ตัวขุนสกลสารบาญจเรทัพ | | ขี่คอพลายประดับแก้วโกสุม
|
ดูผายผึ่งขึงข้อมือขอกุม | | ก็ควบคุมเหล่าพหลพลฉกรรจ์
|
ถึงกองซีเกร็ตตอรี่ที่เสมียน | | สำหรับเขียนหนังสือมือขยัน
|
ใส่เสื้อริ้วทองสวยหมดด้วยกัน | | ดูเฉิดฉันแลพิศสนิทเนียน
|
ขุนวิสูตร์เสนีขุนศรีกระดาลพล | | ทั้งสองคนขวาซ้ายนายเสมียน
|
ตามยกกระบัตรจัดพลไม่วนเวียน | | ด้วยว่าเขียนฉลากไว้ปักไม้ราย
|
แล้วถึงท่านขุนอินทรวิเชียรชาติ | | ขุนพรหมราชปัญญาโยธาหลาย
|
ยังขุนศรภักดีมีอีกนาย | | ขุนสัจจวาทีรายอยู่รวมกัน
|
ล้วนแต่คุมทหารกองด้านใน | | ขุนหมื่นไพร่ยกกระบัตรช่างจัดสรร
|
เหล่าพหลล้นหลามมาครามครัน | | ล้วนถือมั่นอาวุธยุทธนา
|
กองหลังถัดหลวงจัตุรงค์นั้น | | ขี่คอพลายกุมภัณฑ์คเชนทร์กล้า
|
ดูท่วงทีองอาจประหลาดตา | | คุมโยธากองหลังตั้งกระบวน
|
ขุนนราฤทธิไกรผู้ใจอาจ | | ขี่คอพลายสีประหลาดงามผาดผวน
|
รูปขำคมสมทหารชำนาญทวน | | เห็นสมควรท่วงทีมีศักดา
|
ขุนพิชัยชาญยุทธ์ก็สุดใจ | | ขี่คอพลายประลัยดูแกล้วกล้า
|
สมควรเป็นกองหลังตั้งปีกกา | | อยู่เบื้องขวาเบื้องซ้ายเรียงรายกัน
|
ท่านหลวงทรงศักดาก็กล้าหลาย | | ขี่ช้างพลายทองแดงเข้มแข็งขัน
|
คุมทหารด้านนอกหอกทั้งนั้น | | ถือปืนสั้นใหญ่น้อยหลายร้อยคน
|
ซึ่งขุนสัตยากรผ่อนลำเลียง | | กองเสบียงคุมกระบวนล้วนพหล
|
ทั้งโคต่างช้างมีพร้อมรี้พล | | สำหรับขนจัดจบครบกระบวน
|
ดูนายกองนายทัพอันดับมา | | พรรณนาจัดสรรไม่ผันผวน
|
บ้างถือหอกพู่ขาวถือง้าวทวน | | ถือง้าวญวนถือตรีกระบี่ยาว ฯ
|
|
|
๏ ครั้นว่าได้พิชัยฤกษ์แล้ว | | ก็คลาดแคล้วโยธีเสียงมี่ฉาว
|
ยิงปืนฤกษ์สัญญานัยน์ตาพราว | | สองหูร้าวด้วยเสียงสำเนียงปืน
|
เสียงคนเดินราวกับเนินจะโทรมทรุด | | ดั่งมหาสมุทรเกิดลมคลื่น
|
เหล่าทหารเริงร่าเฮฮาครืน | | เพียงพ่างพื้นธรณินแผ่นดินพัง
|
ตัวฉันอยู่ท้ายช้างเหมือนอย่างเคย | | เฝ้าแหงนเงยเชยชมอารมณ์หวัง
|
ดูเรือนบ้านรายเรียงเคียงประดัง | | เห็นคับคั่งคนดูอยู่ริมทาง
|
คนแก่สาวนั่งเป็นหมู่ฉันดูทั่ว | | ล้วนรูปชั่วตัวดำปี๋เหมือนผีสาง
|
ถึงที่ขาวดูเหมือนลาวไม่สำอาง | | เห็นรูปร่างป๋อหลอฉันงองัน ฯ
|
|
|
๏ ถึงวัดแจ้งเห็นเขาแต่งประตูป่า | | ไว้คอยท่ากองทัพดูขับขัน
|
ยายมดท้าวนั่งเคียงอยู่เรียงรัน | | คอยทำขวัญขับผีป่าหน้าประตู
|
ยายคนหนึ่งตีโทนโยนจังหวะ | | เสียงจ้ะจ้ะตุ้มตุ้มฟังกลุ้มหู
|
เครื่องสังเวยเรียงรายตัวยายครู | | ออกนั่งอยู่หน้าคนบ่นพึมพำ
|
พอเจ้าคุณเดินมาถึงหน้าฉาน | | กรมการเรียนตามเนื้อความขำ
|
เชิญเจ้าคุณลงช้างอย่างบุรำ | | โดยมีทำเนียมการเพศบ้านเมือง
|
พอช้างเหยียบประทับเข้ากับเกย | | เจ้าคุณมิได้เฉยค่อยย่างเยื้อง
|
ลงนั่งที่พรมปูดูชำเลือง | | เขาจะเปลื้องผีป่านั้นท่าไร
|
ซึ่งยายมดบอกขยดให้เหยียดท้าว | | เอาด้วยขาวลากฟาดตวาดไล่
|
แล้วผูกกรทำขวัญคุ้มกันภัย | | ก็เลยให้ศีลพรบทกลอนดี
|
เสร็จสรรพเจ้าคุณขึ้นสู่ช้าง | | แล้วลีลามาในทางหว่างวิถี
|
เข้าในประตูป่าไม่ราคี | | สองข้างมีสงฆะประน้ำมนต์ ฯ
|
|
|
๏ ถึงโพธิ์กลางสองข้างมีโรงร้าน | | ขายโตกพานเชี่ยนขันและพรรณผล
|
ทั้งของกินเครื่องใช้ฉันได้ยล | | เหล่าฝูงคนนั่งดูเป็นหมู่กัน
|
เห็นตึกทาฝาแดงทุกแห่งหน | | หลังข้างบนมุงแฝกแปลกแปลกขัน
|
ล้วนตึกดินดิบต่อมาก่อกัน | | ข้างฝ่ายชั้นล่างหลังคาเขาทาดิน
|
ชมลูกสาวชาวโคราชไม่ผาดผิว | | ช่างขี้ริ้วไม่ตำหนิแกล้งติฉิน
|
จะหายสวยสักคนไม่ยลยิน | | จนหมดสิ้นย่านทางโพธิ์กลางมา ฯ
|
|
|
๏ ถึงสามสักยักแยกมาเบื้องซ้าย | | คนเรียงรายนั่งดูอยู่หนักหนา
|
เห็นโรงผู้หญิงคนชั่วดูทั่วมา | | เหมือนหญิงข่าไม่น่ารักเลยสักคน
|
มาประเดี๋ยววกเลี้ยวซ้ายมือแว้ง | | เห็นกำแพงโคราชสูงผาดโผน
|
แม้นข้าศึกหมายจะมาประจญ | | ซึ่งจะปล้นเมืองได้เห็นไม่มี
|
ด้วยกำแพงสูงมีสักสี่วา | | ดูแน่นหนาคึกคักเป็นศักดิ์ศรี
|
ซึ่งข้างนอกกำแพงวุ้งแวงดี | | ล้วนแต่มีคูรอบขอบสีมา
|
มีเชิงดินชั้นนอกห้าศอกสูง | | แม้นมีฝูงปรปักษ์เรารักษา
|
เพียงเชิงเทินชั้นนอกออกประดา | | ศัตรูอย่าเข้าไปถึงในคู
|
เมืองโคราชกว้างใหญ่มิใช่น้อย | | ข้าศึกเพียงสิบร้อยเห็นพอสู้
|
เมืองใหญ่โตทำไมมีสี่ประตู | | หอรบอยู่ข้างบนชอบกลดี ฯ
|
|
|
๏ ถึงทำเนียบค่ายพักสำนักอยู่ | | ด่านประตูท่าน้ำทำถ้วนถี่
|
อยู่ริมกับอารามสามัคคี | | ทำเนียบมีเขื่อนค่ายปลูกรายเรียง
|
สำหรับเจ้าคุณมีสี่ห้าหลัง | | พร้อมหอนั่งเรือกรั้วครัวเฉลียง
|
ทิมทหารรอบล้อมดูพร้อมเพรียง | | แถวระเบียงหอนั่งตั้งนอกชาน
|
ที่ลูกทัพนายกองเสร็จเจ็ดแปดหลัง | | มีพร้อมพรั่งโรงยาวเหล่าทหาร
|
ข้างเจ้าคุณเทียบเกยไม่เลยนาน | | กรมการคอยรับคำนับพลัน
|
ทหารปืนยืนรายทั้งซ้ายขวา | | ทหารหน้าหทารหลังช่างขยัน
|
นายใหญ่บอกปรีเซนต์เป็นสำคัญ | | ก็พร้อมกันยกปืนยืนคำนับ
|
เจ้าคุณค่อยประจงลงจากเกย | | แล้วก็เลยขึ้นหอนั่งยั้งสดับ
|
กรมการพร้อมพรั่งมาคั่งคับ | | นั่งคอยรับบัญชาพร้อมหน้ากัน
|
พอหยุดพักอยู่นั่นสองวันครบ | | เจ้าพระยาปรารภจะผายผัน
|
นายทัพนายกองมาพร้อมหน้ากัน | | ไปอภิวันท์เทพารักษ์เจ้าหลักเมือง
|
พร้อมนายทัพนายกองมาซ้องแซ่ | | ท่านเจ้าคุณขี่แคร่ไม้ลายเหลือง
|
พร้อมนายทัพนายกองตามนองเนือง | | เสร็จย่างเยื้องเข้าไปในประตู
|
ครั้นถึงศาลอารักษ์พระหลักเมือง | | พร้อมด้วยเครื่องบูชาไก่ปลาหมู
|
ทั้งบายศรีซ้ายขวาน่าเอ็นดู | | เสร็จแล้วบูชาเจ้าทั้งเหล้ายา
|
แล้วเรียกคนขลุ่ยกลองกระบองควง | | แกว่งบวงสรวงอารักษ์เป็นหนักหนา
|
ทั้งต่อยมวยรำละครฟ้อนบูชา | | พิณพาทย์สาธุการประสานตี
|
ครั้นเสร็จสรรพก็กลับมาทำเนียบ | | ไม่เงียบเชียบต่างเปรมเกษมศรี
|
ฝูงพหลพลนิกายสบายดี | | บห่อนมีเจ็บป่วยพร้อมด้วยกัน ฯ
|
|
|
๏ เมื่อวันหนึ่งเจ้าคุณจึ่งออกจากหอนั่ง | | พร้อมสะพรั่งนายพหลพลขันธ์
|
จึ่งปรึกษาไต่ถามเนื้อความพลัน | | ว่าวันนั้นเข้าไปที่ในเมือง
|
เห็นเจดีย์องค์ใหญ่ในวัดกลาง | | ทำลายร้างอยากบำรุงให้ฟุ้งเฟื่อง
|
จึงหันหน้าปรึกษาท่านเจ้าเมือง | | ก็พูดเยื้องชักเชือนบิดเบือนไป
|
เพราะว่าในเมืองนี้สุดที่คิด | | ด้วยปูนอิฐไม่มีอยู่ที่ไหน
|
เจ้าคุณฟังยุบลเป็นจนใจ | | ก็มิได้ตอบความตามยุบล
|
เจ้าพระยาจอมนิกรอาวรณ์ตรึก | | การทัพศึกสารพัดจะขัดสน
|
ไม่ทราบเรื่องหนองคายร้ายกังวล | | ต้องแต่งคนไปสืบตามความระแวง
|
จึงให้ท่านขุนวิสูตร์เสนี | | นายซีเกร็ตตอรี่คนเข้มเข็ง
|
ไปสืบการหนองคายที่ร้ายแรง | | มาให้แจ้งข้อความตามกระบวน
|
ให้ขุนพินิจนิกรนั้นไปด้วย | | จะได้ช่วยกันลอบไปสอบสวน
|
กับนายทัตคนลาวชาวเมืองพวน | | รู้ถี่ถ้วนนำร่องไปหนองคาย
|
ให้ขุนสัตยากรไปขอนแก่น | | สืบให้แม่นอย่าให้เฟือนในเงื่อนสาย
|
กับอุปฮาดไปช่วยด้วยอีกนาย | | ซึ่งแยบคายขอนแก่นคงแม่นยำ
|
เป็นอุปฮาดอยู่ก่อนเมืองขอนแก่น | | ในแว่นแคว้นไล่เลียงไม่เพลียงผลำ
|
ควรให้ไปสืบส่อเอาข้อคำ | | เพราะว่าชำนาญใจในหนทาง
|
แล้วสั่งเบิกช้างให้ใส่เสบียง | | ให้พอเพียงสารพัดไม่ขัดขวาง
|
ทั้งเงินทองจัดให้ไปใช้พลาง | | กระโจมข้างเลือกคัดดูจัดเอา
|
ขึ้นหกค่ำเดือนอ้ายห้านายนั้น | | กำหนดวันที่จะไปมิได้เศร้า
|
ออกจากที่ตนพักสำนักเนา | | ไปตามเจ้าคุณบัญชาไม่ช้าวัน ฯ
|
|
|
๏ ถึง ณ วันเดือนอ้ายขึ้นแปดค่ำ | | ได้จดจำแจ้งจริงทุกสิ่งสรรพ์
|
เห็นผู้คนช้างม้าลงมาพลัน | | พระวิชิตณรงค์นั้นคุมฮ่อมา
|
พวกกองทัพรู้จริงบ้างวิ่งสอ | | มาดูฮ่อพร้อมพรักคนหนักหนา
|
อ้ายพวกฮ่อใส่คอตะโหงกคา | | คนรักษาเดินกลุ้มคอยคุมตัว
|
เจ้าพวกฮ่อเหล่านี้ล้วนขี่แคร่ | | เจ้าพวกลาวหามแย่ยิ่งเจ้าสัว
|
กองทัพฝ่ายเราว่าไม่น่ากลัว | | ตัวต่อตัวแล้วไม่หนีฟันตีกัน
|
บ้างว่าฮ่อรูปนี้กระจิริด | | สักสามคนก็ไม่คิดจะพรึงพรั่น
|
ไม่มีจิตคร้ามกลัวเห็นตัวมัน | | ต่างคนสันต์สรวลเสเสียงเฮฮา ฯ
|
|
|
๏ ท่านเจ้าคุณให้ไปขอฮ่อมาถาม | | ให้คนล่ามมั่นคงส่งภาษา
|
นายเสมียนเขียนความตามบัญชา | | ฮ่อหนึ่งมาให้ความตามกระบวน
|
ว่าเป็นจีนเกิดยังเมืองกวางตุ้ง | | ใจมาดมุ่งเลี้ยงชีวิตไม่ผิดผวน
|
มาค้าขายในเขตประเทศญวน | | ไปเมืองพวนแล้วเยื้องไปเมืองลา
|
ก็หากินโดยยุติสุจริต | | เลี้ยงชีวิตมุ่งหมายขายของป่า
|
อ้ายพวกฮ่อยกทัพจับเอามา | | จนเวลาทัพไทยไปเอาตัว
|
จีนล่ามถามต่อฮ่อคนไหน | | มันชี้ใส่ว่าคนนั้นไม่ผันผวน
|
คนนั้นว่าข้าเป็นลาวชาวเมืองพวน | | ให้การล้วนข้อรับจับเอามา
|
นี่ก็เจ๊กนั่นก็ลาวชาวเมืองพวน | | โน่นก็ญวนนุงนังน่ากังขา
|
ให้ล่ามถามทั้งหมดจดวาจา | | เที่ยวถามหาฮ่อคนไหนมิได้มี
|
ก็มิได้จดจำคำทั้งหลาย | | ครั้นบ่ายชายแสงพระสุริยศรี
|
สักห้าโมงสังเกตเศษนาที | | ตราพระราชสีห์มีขึ้นมา
|
จึ่งประชุมลูกทัพนายกองพร้อม | | มานั่งล้อมเรียงรายทั้งซ้ายขวา
|
ฉันผนึกออกอ่านซึ่งสารตรา | | แจ้งกิจจาโดยความตามคดี
|
ในบังคับกองทัพให้ยับยั้ง | | รอคอยฟังเหตุการณ์ตามสารศรี
|
อยู่นครราชเสมาอย่าช้าที | | แล้วห้ามมิให้เยื้องไปเมืองบน
|
อ้ายพวกฮ่อนั้นยังก่อรังแก | | หรือพ่ายแพ้สืบให้แจ้งทุกแห่งหน
|
จักนายทัพนายกองสักสองคน | | ที่ชอบกลเป็นผู้ใหญ่เข้าใจการ
|
ไปสืบเรื่องเมืองหนองคายจะร้ายดี | | ยังเหลือมีข้าศึกที่ฮึกหาญ
|
แม้นกองทัพหลวงพระบางทางเชียงคาน | | จะเข้าราญรอนประจญตำบลไร
|
มีหนังสือรีบรัดมานัดหมาย | | จงผันผายขึ้นไปช่วยด้วยจงได้
|
ตระเตรียมยกซึ่งพหลพลไกร | | รีบขึ้นไปอย่าให้ขาดราชการ ฯ
|
|
|
๏ เจ้าพระยาแม่ทัพสดับแจ้ง | | ประดิษฐ์แต่งความตอบระบอบสาร
|
โดยถ้วนถี่สารพัดไม่ทัดทาน | | แล้วส่งเจ้าพนักงานให้ถือมา
|
ครั้นสำเร็จเสร็จพร้อมจอมพหล | | จึ่งแต่งคนนึกมองตรึกตรองหา
|
จะได้ผู้ใดดีมีปัญญา | | สืบกิจจาหนองคายเอารายงาน
|
จะต้องทำตามดั่งข้อบังคับ | | จึ่งปรึกษานายทัพนายทหาร
|
จะได้ใครไปดีที่ชำนาญ | | ไปสืบการหนองคายคือนายใด
|
เห็นแต่ว่าพระยาพิชิตณรงค์ | | ค่อยมั่นคงจะเห็นเป็นไฉน
|
นายทัพคำนับน้อมต่างพร้อมใจ | | คนอื่นไปไม่เสร็จสำเร็จมา
|
ท่านเจ้าคุณอารีท่านมีจิต | | พระยาวิชิตณรงค์นั้นหนักหนา
|
จึ่งจัดเสบียงให้ใจเมตตา | | อีกทั้งผ้าขนยาวห่มหนาวนอน
|
พระยาวิชิตณรงค์บรรจงรับ | | น้อมคำนับด้วยศิโรสโมสร
|
แล้วหมอบราบกราบก้มประนมกร | | กล่าวสุนทรโดยความตามอัชฌา
|
ขอขุนนราฤทธิไกรนั้นไปด้วย | | แม้นเจ็บป่วยได้พิทักษ์ช่วยรักษา
|
เป็นวงศ์วานหลานชิดสนิทมา | | พอเห็นหน้าเพื่อนไปในหนทาง
|
เจ้าพระยาอนุญาตตามคาดหมาย | | กล่าวอถิปรายตามสัตย์ไม่ขัดขวาง
|
มิได้มีแหนงจิตคิดระคาง | | ด้วยไว้วางใจแท้เห็นแน่นอน
|
พระยาวิชิตณรงค์ประสงค์สม | | ตามนิยมภิญโญสโมสร
|
เสร็จจะลาคลาไคลครรไลจร | | มาที่ผ่อนเคยพักสำนักตน ฯ
|
|
|
๏ ครั้น ณ เดือนอ้ายขึ้นสามค่ำ | | เป็นวันกำหนดฤกษ์เลิกพหล
|
พระยาวิชิตณรงค์ไม่วงวน | | ก็กรีพลมาดหมาดหนองคายพลัน
|
เดินเป็นกระบวนมาหน้าทำเนียบ | | ดูเรียงเรียบเหล่าพหลพลขันธ์
|
ขุนนราฤทธิไกรใจฉกรรจ์ | | ก็ผายผันตามไปในกระบวน
|
เจ้าพระยาแม่ทัพออกรับรอง | | เสร็จส่งกองทัพขันธ์ไม่ผันผวน ฯ
|
|
|
๏ เมื่อวันหนึ่งฟั่นเฟือนจำเคลื่อนคลาด | | เจ้าเมืองอุปฮาดเข้าผายผัน
|
เอาม้าแดงช้างดำมากำนัล | | อุปฮาดเมืองสุวรรณภูมิมา
|
หลวงสารสิทธิ์ผู้นำเข้าคำนับ | | ท่านเจ้าคุณออกรับด้วยหรรษา
|
ซึ่งช้างม้าที่มาให้ไม่นำพา | | เป็นแต่ว่าขอบใจที่ให้เรา
|
ท่านคืนช้างม้าไปให้เจ้าของ | | ไม่หมายปองอยากได้ของใครเปล่า
|
ถึงว่าของสิ่งไรท่านไม่เอา | | แม้นที่เหล่าคนชอบรับตอบแทน
|
ซึ่งกองทัพตั้งแต่มาหลายราตรี | | เหล่าโยธีบ้างเป็นสุขบ้างทุกข์แสน
|
ด้วยไข้คงติดมาในป่าแดน | | ดูหนาแน่นชุกชุมตายสุมไป
|
บางคนไม่ตายหายมีแรง | | กินของผิดสำแลงก็ตักษัย
|
บ้างกินกล้วยน้ำว้าพุทราไป | | แต่พอใส่ถึงคอชักงองัน
|
บ้างก็กินลูกสมองอก่อม้วย | | บ้างกินกล้วยอ้อยแล้วอาสัญ
|
กินของสิ้นชีวิตผิดผิดกัน | | ฝูงคนบรรลัยรุมชุมสุดใจ
|
ได้มีบัญชีนามจดตามเหตุ | | คนร้อยยี่สิบเศษม้วยตักษัย
|
ตั้งแต่ยกหมายมุ่งจากกรุงไกร | | คนตายได้ร้อยเศษสังเกตจำ
|
ซึ่งตัวฉันหฤทัยหัวใจสะท้อน | | เห็นคนนอนครางอยู่ดูออกสำ
|
คิดถึงตัวกลัวตายกายระกำ | | เฝ้าแต่ร่ำโหยไห้อาลัยวอน
|
ยามหนึ่งคิดถึงตัวกลัวความไข้ | | ยามสองให้คะนึงถึงสมร
|
ยามสามคิดรำคาญถึงมารดร | | ยามสี่นอนคิดถึงญาติแทบขาดใจ
|
เป็นอย่างนี้เจียวฉันทุกวันคืน | | บ่มีชื่นเศร้าหมองไม่ผ่องใส
|
โศกถึงมิตรคิดถึงญาติแทบขาดใจ | | เหลือหทัยที่ทุกข์คงจุกตาย
|
แสนระกำช้ำกายเสียดายโฉม | | เสียดายเชยเคยประโลมไม่ห่างหาย
|
ไม่ห่างเหเสน่ห์นุชจะหยุดอาย | | จะหยุดเว้นเป็นอย่าหมายว่าจักมี
|
ว่าจะม้วยเสียด้วยเพราะความเศร้า | | เพราะความโศกโรคเร้าหม่นหมองศรี
|
หม่นหมองทรวงโอ้แม่ดวงสุมาลี | | สุมาลัยของพี่อย่าไกลตา
|
อยู่ใกล้ตัวเพราะผัวมาห่างห้อง | | มาห่างเห็นเว้นน้องไห้โหยหา
|
ไห้โหยหวนครวญคร่ำไม่นำพา | | ไม่น่าพึ่งหนึ่งว่าจำใจจร
|
โอ้อกเอ๋ยเคยแอบประคองอุ่น | | หอมกลิ่นกรุ่นสาเรแก้วเกสร
|
เสียดายดวงพวงพุ่มอุทุมพร | | มาไกลกรมิได้กอดประคองเชย
|
สงสารสร้อยเสาวคนธ์จะมลหมอง | | จะเฝ้าร้องไห้หานิจจาเอ๋ย
|
ใครจะช่วยปลอบปลื้มให้ลืมเลย | | เหมือนพี่เคยประคองน้องนิทรา
|
เวลาดึกตรึกตรองถึงน้องสาว | | อนาถหนาวเนื้อหนังเย็นมังสา
|
เมืองโคราชเหลือล้นพ้นปัญญา | | หนาวยิ่งกว่าบางกอกยอกทั้งตัว
|
ห่มผ้าปิดเหมือนหนึ่งว่าห่มผ้าเปียก | | มันเย็นเยียกหนาวยวดจนปวดหัว
|
หนาวอัปรีย์หนาวระยำพอค่ำมัว | | มันเย็นทั่วสารพางค์นอนครางฮือ
|
ต้องสวมเสื้อสามชั้นไว้กันหนาว | | ทั้งถุงเท้าเกือกซื้อลงนอนซื่อ
|
กางเกงสามชั้นนุ่งสวมถุงมือ | | ตัวหนักตื้อหมวกผ้าปิดหน้าตึง
|
แต่อย่างนั้นไม่กันความหนาวได้ | | มันหนาวในตับปอดตลอดถึง
|
ผ้าห่มสุมคลุมซ้อนนอนตะบึง | | คิดรำพึงใจอนาถไม่คลาดคลาย
|
|
|
[กลอนตรงนี้สัมผัสขาด]
|
|
|
ถ้ารู้ที่ว่าไม่มีข้าศึกรบ | | คงหาครบซื้อสรรค์เครื่องกันหนาว
|
หมายจะได้ชิงชัยกันใหญ่ยาว | | จนถึงคราวฉุกเฉินคิดเกินไป
|
ด้วยกลัวว่าผ้าเสื้อจะเหลือมือ | | จึ่งหาซื้อจัดหาเอามาไม่
|
ถ้าแม้นว่ารู้แท้เป็นแน่ใจ | | ว่าพวกไอ้สลัดบกมันยกมา
|
เที่ยวปอกลอกทองพระไปถลุง | | การรบพุ่งห่สู้จักจะหนักหน้า
|
ซึ่งเครื่องหนาวสารพัดได้จัดมา | | ไม่ซื้อหาก็เพราะการประมาณเกิน
|
บุญคุณคิดขุนสนิทอักษรนุ่ม | | ให้เครื่องคุ้มกันหนาวเมื่อคราวเฉิน
|
ขอให้เขาสวัสดีมีจำเริญ | | สรรเสริญคุณเขาทุกเช้าเย็น
|
ป้องกันหนาวนอกเนื้อเขาเกื้อหนุน | | เพราะบุญคุณพ่อนุ่มพอคุ้มเข็ญ
|
แต่น้ำจิตมิได้วายคลายลำเค็ญ | | บ่วางเว้นมีสุขเฝ้าทุกข์ทน ฯ
|
|
|
๏ ฝ่ายเจ้าพระยาแม่ทัพเมื่อยับยั้ง | | ท่านก็ตั้งปรารถนาหากุศล
|
ด้วยศึกเสือนั้นไม่มีพักรี้พล | | ชักชวนคนก่อสร้างทางนิพพาน
|
เจดีย์ใหญ่วัดกลางร้างชำรุด | | ยังโทรมทรุดล้มทอดตลอดฐาน
|
ไม่มีใครศรัทธาล้มมานาน | | จะประมาณนับยิบหลายสิบปี
|
ท่านเจ้าคุณมีใจอยากใคร่สร้าง | | พระเจดีย์วัดกลางเป็นศักดิ์ศรี
|
จะซื้ออิฐปูนใครที่ไหนมี | | ไม่รู้ที่แห่งหนตำบลเลย
|
ท่านก็เที่ยวสืบถามตามชาวบ้าน | | ด้วยหวังการจริงจริงไม่นิ่งเฉย
|
เฝ้าสืบเสาะหาแห่งตำแหน่งเคย | | ท่าภิเปรยถามไถ่มิได้วาย
|
จิตศรัทธาอาจิณไม่สิ้นสูญ | | ครั้นอิฐปูนได้สมอารมณ์หมาย
|
มีผู้มาบอกแจ้งไม่แพร่งพราย | | ว่ามากหลายบริบูรณ์อิฐปูนมี
|
อยู่ถึงทางหนองกะบกวัดโคกพรม | | อิฐเผารมแก่ไฟงามได้สี
|
เจ้าคุณทราบระบิลแสนยินดี | | จึงป่าวร้องโยธีทุกหมวดกอง
|
บอกคุณเหล่าพหลไปขนอิฐ | | ต่างคนคิดยินดีไม่มีหมอง
|
คานสาแหรกจัดไว้ใส่สำรอง | | ต่างคนปองเอาบุญไม่ขุ่นเคือง ฯ
|
|
|
๏ ครั้นแรมสิบสามค่ำ ณ เดือนอ้าย | | เวลางายสุริยาส่องฟ้าเหลือง
|
พวกกองทัพโห่ร้องไปนองเนือง | | ทั้งชาวเมืองพลอยไปอยากได้บุญ
|
บ้างก็หาบก็หามตามถนัด | | ล้วนแต่ศรัทธาชื่นทั้งหมื่นขุน
|
ไม่ว่าไพร่ผู้ดีมีสกุล | | ชุลมุนแบกอิฐไม่คิดอาย
|
พวกกองทัพชาวเมืองขนเนืองแน่น | | ยกอิฐแผ่นใส่บ่าแบกหน้าหงาย
|
ล้วนแต่งตัวกรุ้งกริ้งทั้งหญิงชาย | | ทั้งสาวแส้แม่หม้ายก็มีมา
|
ล้วนแต่งตัวอ่าอวดประกวดกัน | | ห่มสีสันสุกแสงออกแดงจ้า
|
ทั้งพระเถรเณรชีมีศรัทธา | | สู้อุตส่าห์ขนอิฐน้ำจิตทน
|
ทั้งเกวียนล้อโคลากไปมากหลาย | | ดูเรียงรายเต็มหลามตามถนน
|
ทั้งแรงโคแรงควายนิกายพล | | ไปหาบขนอิฐแผ่นแน่นหนทาง
|
ล้วนสรวลสันต์บันเทิงระเริงรื่น | | เฮฮาครืนมิได้อายระคายหมาง
|
ทั้งเจ๊กไทยมอญลาวสาวสำอาง | | ขนอิฐมาวัดกลางดูเกรียวกราว
|
คนชาวเมืองพร้อมใจทั้งไทยจีน | | ออกทรัพย์สินซื้ออาหารข้าวสารขาว
|
ต้มเลี้ยงคนขนอิฐด้วยคิดยาว | | ทั้งของคาวหวานเค็มเต็มศรัทธา
|
สองวันเสร็จลงมือรื้อจับขุด | | ด้วยของเก่าชำรุดอยู่หนักหนา
|
พบกรุซึ่งบรรจุของนานา | | ทั้งรูปพระปฏิมาเงินทองคำ
|
จึงเอาพระเงินทองของบุราณ | | มอบให้พระอธิการอุปถัมภ์
|
จงเก็บให้มิดชิดปกปิดงำ | | แล้วให้ทำที่กรุบรรจุลง ฯ
|
|
|
๏ เจ้าพระยาจอมทัพจะจับงาน | | แล้วตรึกการโดยจิตคิดประสงค์
|
ในบาลีมีตามเนื้อความตรง | | พระพุทธองค์บัญญัติอธิบาย
|
ว่าผู้ใดจะสร้างทางกุศล | | ไม่ป่าวร้องฝูงคนสิ้นทั้งหลาย
|
แม้นว่าใครศรัทธาเอกากาย | | ไม่ป่าวร้องหญิงชายประชาชน
|
ได้แต่โภคสมบัติพัสถาน | | บริวารสมบัตินั้นขัดสน
|
แม้นป่าวร้องนำจูงเหล่าฝูงคน | | บันดาลดลพบพ้องสองศฤงคาร
|
ท่านคิดเห็นโดยงามตามทำนอง | | จึ่งป่าวร้องทั่วประเทศเขตสถาน
|
ราษฎรชาวนิคมกรมการ | | จังหวัดบ้านเมืองโคราชประกาศไป
|
ให้ปราศจากอามิสมาติดเทียน | | ตามทำเนียมโดยศรัทธาอัชฌาสัย
|
กำหนดนัดความแจ้งไม่แคลงใจ | | ให้มาในวัดกลางสร้างศรัทธา ฯ
|
|
|
๏ ครั้นวันขึ้นสิบสองค่ำจำคดี | | ในเดือนยี่สัจจังไม่กังขา
|
ตะวันบ่ายชายแสงพระสุริยา | | เป็นเวลากำหนดที่จะมีการ
|
ฝ่ายท่านเจ้าพระยาจอมพหล | | เชิญพระทนต์พระจอมเกล้าเจ้าสถาน
|
พร้อมด้วยเหล่ากระบวนแห่แลละลาน | | ไปมีงานสมโภชใหญ่ในวัดกลาง
|
นิมนต์สงฆ์ทั่วประเทศเขตนคร | | มาสดับปกรณ์ตามแบบอย่าง
|
เหล่าพระสงฆ์ดีใจไม่ระคาง | | ถึงหนทางไกลนั้นไม่พรั่นพรึง
|
พระชราฐานาสมภารวัด | | ก็แต่งจัดเหล่าพระครูไว้หมู่หนึ่ง
|
ถวายปัจจัยถ้วนล้วนตำลึง | | พระสงฆ์ซึ่งลูกวัดไว้ถัดรอง
|
ถวายปัจจัยงามตามทำเนียม | | พระสงฆ์เปี่ยมยินดีไม่มีสอง
|
นิมนต์หมดบ้านเมืองมาเนืองนอง | | ได้รับของไทยทานสำราญใจ ฯ
|
|
|
๏ ฝ่ายเจ้าจอมโยธามีปราโมทย์ | | ท่านสมโภชพระทนต์พ้นวิสัย
|
จัดเหล่าพวกกองทัพโดยฉับไว | | มาเล่นโขนโรงใหญ่ได้อย่างดี
|
พร้อมทั้งเครื่องเรืองรองทองระยับ | | สร้างเสร็จสรรพงามงดแสงสดสี
|
ทั้งโรงโขนใหญ่ปลูกผูกคิรี | | โตยาวมีกว้างขวางสำอางตา
|
โขนเล่นเรื่องก่อนวันนอนโรง | | เล่นพิธีอุโมงค์ดีหนักหนา
|
ครั้นว่าดึกสองยามตามสัญญา | | ก็เลิกลาโรงกลับมาหลับนอน ฯ
|
|
|
๏ ครั้นว่ารุ่งสุริยาท้องฟ้าแดง | | ก็เตรียมแต่งกระบวนแห่แลสลอน
|
เชิญพระบรมทนต์เสร็จเสด็จจร | | ไปสดับปกรณ์อีกเวลา
|
โขนก็เล่นตามเรื่องแต่เบื้องหลัง | | เมื่อวิรุญจำบังออกอาสา
|
พวกคนดูพรูพรั่งประดังมา | | คนชราแก่สาวมากราวกรู
|
ชาวบ้านนอกขอกนามาออกฮือ | | แจ้งข่าวลือแน่ใจไม่ไขหู
|
หนทางเดินสองคืนตื่นมาดู | | เพราะไม่รู้จักโขนโยนอย่างไร
|
คนชราอายุเจ็ดสิบเลย | | ยังไม่เคยดูเห็นเป็นไฉน
|
บ้างหาเสบียงอาหารด้วยบ้านไกล | | ล้วนตั้งใจมาดูออกกรูเกรียว
|
ล้วนสาวสาวชาวป่าก็มาสิ้น | | ทาขมิ้นล้นเหลือจนเนื้อเขียว
|
อยากดูโขนอย่างยิ่งจริงจริงเจียว | | บ้างจูงเหนี่ยวลูกหลานมาลานลน
|
สัปปุรุษคั่งคับออกทรัพย์สิน | | ติดข้าวบิณฑ์เบี้ยศรัทธาหากุศล
|
เข้าส่วนสร้างพระเจดีย์ตามมีจน | | ออกสับสนตั้งจิตมาติดเทียน
|
ครั้นเล่นโขนถ้วนตามครบสามวัน | | รวมเงินพันบาทมีบัญชีเขียน
|
สัปปุรุษมาพร้อมน้อมจำเนียร | | เงินติดเทียนที่วัดล้วนศรัทธา
|
จึงได้เงินพันบาทยังขาดไป | | พระเจดีย์องค์ใหญ่เป็นหนักหนา
|
แต่โดยสูงถึงเส้นนับเป็นวา | | เจ้าพระยาจอมทัพรับออกทุน
|
แม้นเงินใช้ไม่พอก่อเจดีย์ | | ท่านรับเป็นกงสีออกเกื้อหนุน
|
สร้างเจดียฐานเป็นการบุญ | | ท่านเจ้าคุณรับสำเร็จโดยเสร็จการ ฯ
|
|
|
๏ แรมสิบเอ็ดมิได้เคลื่อนในเดือนยี่ | | ขุนวิสูตรเสนีสืบข่าวสาร
|
ที่ไปเมืองหนองคายเอารายงาน | | แจ้งราชการข่าวทัพแล้วกลับมา
|
เขากราบเรียนพณะหัวจอมพหล | | โดยเหตุผลที่สัจจังไม่กังขา
|
แล้วนำคนชาวเวียงชื่อเชียงทา | | เป็นหลวงราชรักษาสุเรนทร
|
ท่านเจ้าคุณออกยังหอนั่งรับ | | เหล่านายทัพพร้อมพรั่งนั่งสลอน
|
ทั้งกรมการนายทัพคำนับกร | | หลวงราชสุเรนทรก็ให้การ
|
ว่าเดิมพวกอ้ายฮ่อมาก่อเหตุ | | ในประเทศราชทำอาจหาญ
|
ทั้งจีนลาวญวนสมทบเข้ารบราญ | | คนประมาณหลายร้อยไม่น้อยตัว
|
เหล่าพวกลาวยั่นฮ่อไม่ต่อสู้ | | ต้องเข้าทูเงินเสียทั้งเมียผัว
|
ที่ไม่มีเงินให้มีใจกลัว | | เหมือนควายวัวยอมให้ฮ่อใช้การ
|
อ้ายฮ่อเก็บเงินทั่วทุกครัวลาว | | เรือนละเก้าหกเจ็ดตำลึงหวาน
|
ฮ่อเขียนหนังสือให้ใส่กระดาน | | เรียงว่าไม้บางบ้านสำหรับตัว
|
พวกฮ่อเห็นหนังสือลงชื่อเขียน | | ไม่เบียดเบียนคิดยั่นมันสั่นหัว
|
ไม่คุมเหงคะเนงร้ายเกรงนายกลัว | | ตลอดทั่วบ้านลาวพวกเข้าทู
|
อ้ายพวกฮ่อเรียงรายตั้งค่ายมั่น | | ย่อมแข็งขันยิ่งยวดเป็นหมวดหมู่
|
ไม้ระเนียดเรียงรายทำค่ายคู | | มันตั้งอยู่มากมายหลายตำบล
|
ราชบุตรหนองคายนั้นใช้ข้า | | ไปสืบซึ่งกิจจาเอาเหตุผล
|
ข้าก็จะสืบตามไปสามคน | | ลอบไปจนแจ้งความตามกระบวน
|
กลับมาบอกอุปฮาดราชบุตร | | จนสิ้นสุดที่ได้ลอบไปสอบสวน
|
บัดนี้ทัพอ้ายฮ่อที่ก่อกวน | | มันเกือบจวนยกปองมาหนองคาย
|
ในวันนั้นคืนนั้นมันจะมา | | ซึ่งตัวข้ารู้หมดกำหนดหมาย
|
ราชบุตรรู้แจ้งไม่แพร่งพราย | | เกณฑ์พหลพลนิกายหัวเมืองมา
|
เกณฑ์คนเก้าร้อยไว้ไม่ได้ครบ | | ได้พลรบสามร้อยน้อยหนักหนา
|
ราชวงศ์ราชบุตรสุดปัญญา | | ก็ตรึกตราการสู้หมู่ไพรี
|
ครั้นลาวมากอยู่ข้างฟากเวียงจันท์เก่า | | ต้อนให้เข้าเมืองหนองคายกลัวนายหนี
|
แล้วเก็บชายฉกรรจ์บรรดามี | | แล้วซ้อมสีข้าวลำเลียงเสบียงพล
|
บ้านละสิบหยิบเอาห้ารักษาครัว | | ล้วนมีตัวส่งลำเลียงเลี้ยงพหล
|
ราชบุตรจัดโยธีที่มีตน | | แล้วยกพลข้ามฟากไปปากทาง
|
ตั้งคอยรับทัพฮ่อไม่ย่อยั่น | | หาที่มั่นตั้งท่าปีกกากว้าง
|
จัดคนรักษาการในด่านทาง | | แล้วไว้วางกองซ่อนคอยรอนราญ
|
ครั้นเดือนแปดแรมสี่ค่ำได้จำข้อ | | พวกอ้ายฮ่อพร้อมพรักเข้าหักหาญ
|
ได้รบราฆ่าฟันประจัญบาน | | ลาวต้านทานทัพฮ่อไม่รอรา
|
ราชวงศ์ยกหลีกตีปีกซ้าย | | ราชบุตรยักย้ายตีปีกขวา
|
พวกอ้ายฮ่อยิงปืนโครมครืนมา | | ช้างพลายกล้าต้องปืนวิ่งตื่นไป
|
คือว่าช้าวผู้ช่วยเมืองหนองคาย | | เป็นน้องชายราชบุตรฉุดไม่ไหว
|
ช้างพลายกล้าต้องปืนตื่นตกใจ | | ลงขอไม่ยั่งยืนตื่นกระจาย
|
ซึ่งกองทัพราชบุตรไม่หยุดแยก | | ก็วิ่งแตกหลบลี้บ้างหนีหาย
|
เหล่าไพร่พลซานซมบ้างล้มตาย | | ก็แตกพ่ายหนีฮ่อไม่ต่อกร
|
ทัพฮ่อบากละจากราชบุตร | | เข้ายงยุทธราชวงศ์ตรงไม่ถอน
|
อาวุธสั้นเข้ารุมตะลุมบอน | | ฮ่อตีต้อนล้อมรอบเป็นขอบคัน
|
กองราชวงศ์เจ้าเมืองหงสาสถิต | | สิ้นชีวิตสูญชีวาถึงอาสัญ
|
ตายอยู่ในที่รบได้พบกัน | | ไพร่พลนั้นล้มตายวายชีวี
|
ราชวงศ์เหลือกำลังก็พังแยก | | ลาวตื่นแตกข้ามลำแม่น้ำหนี
|
พลลาวยั่นพรั่นฮ่อไม่ต่อตี | | ต่างหลบหนีข้างของมาหนองคาย
|
ราชบุตรสุดท้ออ้ายฮ่อมาก | | จะข้ามฟากมาได้ดั่งใจหมาย
|
ไพร่พลเรายับย่อยเหลือน้อยกาย | | จึ่งยักย้ายผ่อนครัวทั่วทุกกอง
|
มาพักไว้หนองหาญติดการต่อ | | แต่งคนยอกำลังเมืองทั้งสอง
|
ให้มาช่วยสงครามตามทำนอง | | ได้รับรองทัพฮ่อพอประทัง
|
ครั้นได้ทัพขอนแก่นเมืองภูเวียง | | มาพร้อมเพรียงโดยสมอารมณ์หวัง
|
ราชบุตรดีใจได้กำลัง | | จึงคิดตั้งรักษาอยู่หน้าเมือง
|
แล้วต้อนครัวลาวที่หนีเข้าป่า | | ให้เข้ามาคืนถิ่นเสร็จสิ้นเรื่อง
|
ราชบุตรจัดการในบ้านเมือง | | มิให้เคืองขุ่นใจแก่ไพร่พล ฯ
|
|
|
๏ ครั้นเจ้าเมืองหนองคายผายผันกลับ | | ถึงเสร็จสรรพโยธาเหล่าพหล
|
กลับมาแต่ฝ่ายเบื้องเมืองอุบล | | ก็จัดคนขึ้นรักษาหน้าเชิงเทิน
|
พวกหนึ่งถูกให้ไปปลูกทำเนียบคอย | | ที่ทุ่งโพนช้างน้อยการฉุกเฉิน
|
รับพระยามหาอำมาตย์ไม่ขาดเกิน | | การไม่เนิ่นจวนเวลาไม่ช้านาน
|
แล้วขับต้อนลาวครัวทั่วทั้งสิ้น | | ให้คืนถิ่นตามตำแหน่งแห่งสถาน
|
มาสีข้าวไว้อย่าขาดราชการ | | ทำข้าวสารมามายไว้จ่ายคน
|
เมื่อวันหนึ่งพระยามหาอำมาตย์ | | หัวเมืองอื่นดื่นดาษมาสับสน
|
เสร็จถึงเมืองหนองคายพร้อมนายพล | | ออกเกลื่อนกล่นพร้อมพรั่งไพร่คั่งคับ
|
ราชบุตรราชวงศ์เมืองหนองคาย | | ต่างผันผายมาฟังสั่งสดับ
|
ยังพระยามหาอำมาตย์ท่านแม่ทัพ | | มาคำนับให้แจ้งที่แคลงใจ
|
ข้างท่านพระยามหาอำมาตย์ | | จึ่งถามราชบุตรตามความสงสัย
|
ซึ่งรบฮ่อปากทางนั้นอย่างไร | | มึงจึงได้แตกมาดูน่าอาย
|
ไม่คุมพี่ป้าน้าสาวและอาวอา | | จงก้มหน้าสิ้นชีวิตอย่าคิดหมาย
|
ตั้งปรับโทษทัณฑ์มึงให้ถึงตาย | | แล้วส่งนายเพชฌฆาตให้ฟาดฟัน
|
ตัดหัวเสียบประจานร่าไว้หน้าเวียง | | แม้นใครดูอย่างเยี่ยงต้องอาสัญ
|
ครั้นรุ่งขึ้นหลายเวลาสี่ห้าวัน | | ก็เตรียมกันพร้อมไว้เหล่าไพร่พล
|
จึ่งเข้าเมืองหนองคายใช้ให้ข้า | | สืบกิจจาให้แจ้งแห่งนุสนธิ์
|
ข้าก็ไปสืบความพร้อมสามคน | | เข้าไปจนค่ายวัดจันไม่พรั่นพรึง
|
ให้ทิดลุนขึ้นบนต้นน้อยแหน่ | | เห็นพวกฮ่อซ้อแซ้บ้างนอนขึง
|
บ้างสูบฝิ่นเล่นไพ่ใส่กันอึง | | ข้าเจ้าจึ่งแอบดูเหล่าผู้คน
|
พวกอ้ายฮ่อไม่รักษาอยู่หน้าที่ | | ล้วนแต่ขี้เซาหลับอยู่สับสน
|
ไม่เป็นเยี่ยงอย่างทัพกำกับพล | | ดูชอบกลผิดในพิชัยสงคราม
|
อ้ายพวกฮ่อปองปองทองพระพุทธ | | พระเจดีย์มันก็ขุดทำหยาบหยาม
|
ข้าพเจ้าลอบดูครั้นรู้ความ | | กลับมาตามฝั่งน้ำคืนค่ำมัว
|
เห็นเรือฮ่อทิ้งทอดจอดอยู่ท่า | | ไม่มีผู้รักษาทั้งท้ายหัว
|
จอดอยู่ชิดชิดกันไม่พันพัว | | แลดูทั่วเรียงรายหลายสิบลำ
|
ข้าพเจ้าจึ่งแฝงเฝือตัดเรือปล่อย | | เรือก็ลอยตามละลอกแลออกลำ
|
ด้วยค่ายไทยคับคั่งตั้งประจำ | | อยู่ใต้น้ำตัดเรือปล่อยลอยลงไป
|
ครั้นสืบการเสร็จสรรพข้ากลับมา | | พระยาประทุมเทวาก็ถามไถ่
|
ข้าให้การทุกสิ่งตามจริงใจ | | ตามที่ได้ยินแก่หูรู้แก่ตา ฯ
|
|
|
๏ ครั้นกองทัพหัวเมืองถึงพร้อมหมด | | จึ่งกำหนดการศึกคิดปรึกษา
|
จะใคร่ตีค่ายฮ่อต่อศักดา | | ทั้งด้านหน้าด้านในจัดไพร่พล
|
กองพระพรหมยกกระบัตรเมืองโคราช | | นั้นองอาจกำลังหนุ่มคุมพหล
|
ไปตีค่ายสี่สถานริมชานชล | | จัดแจงคนฉุกเฉินไม่เนิ่นนาน
|
สมทบกองทัพลาวและท้าวเพี้ย | | มิได้เปลี้ยใจพลั่นคิดหยันหย่อน
|
แต่ล้วนคนชำนาญเคยราญรอน | | เหล่านิกรโยธีเคยมีชัย
|
ตัวพระยามหาอำมาตย์เป็นแม่ทัพ | | นั้นก็รับด้านหน้าท่าน้ำไหล
|
จะตีทัพเรือกระทบรบเข้าไป | | จัดแจงไว้เสร็จตามโดยความควร ฯ
|
|
|
๏ ครั้นเดือนสิบเอ็ดขึ้นค่ำ(?)นัดกำหนด | | พร้อมทั้งหมดเตรียมกันไม่ผันผวน
|
ตัวพระพรหมยกกระบัตรจัดกระบวน | | ยกทัพสวนเข้าไปล้อมรบพร้อมกัน
|
เข้าตีค่ายสี่สถานทหารแยก | | รบฮ่อแตกทิ่งค่ายหนีผายผัน
|
อ้ายฮ่อหนีเข้าในค่ายวัดจัน | | ทัพไทยไล่กระชั้นติดตามมา
|
ซึ่งพระยาโคราชไม่หวาดไหว | | ตีค่ายใหญ่สี่สถานหาญหนักหนา
|
อ้ายพ่อฮ่อย่อยยับจึ่งกลับมา | | ต่างหนีพากันไปค่ายวัดจัน
|
กองพระยาโคราชก็อาจหาญ | | เข้าล้อมด่ายใต้รบดูขบขัน
|
กองพระพรหมยกกระบัตรก็จัดกัน | | ล้อมตั้งมั่นด่านเหนือเห็นเหลือดี
|
พระยายกกระบัตรจัดคนเข้าปล้นค่าย | | พังทลายฮ่อแหกแตกวิ่งหนี
|
เข้าในโบสถ์วัดจันด้วยทันที | | ประตูมีมันก็ปิดคิดอุบาย
|
รื้อกระเบื้องขึ้นบนฝ้าหลังคาโบสถ์ | | มันยิงปืนลูกโดดพิฆาตหมาย
|
มาถูกกองทัพไทยขาดใจตาย | | ต้องทำค่ายระเนียดตั้งบังลูกปืน
|
กองทัพไทยพรั่งพร้อมล้อมอ้ายฮ่อ | | ไม่ย่นย่อตั้งหน้าเข้าฝ่าฝืน
|
เหล่าพวกพลโห่โหมเสียงโครมครืน | | ล้วนแต่พื้นพลรอบขอบกำแพง
|
ทั้งทัพไทยลาวเข้าล้อมอยู่พร้อมเพรียง | | อยู่จนเที่ยงสุริยาส่องจ้าแสง
|
เห็นเรือแหยบหลังกันยาหุ้มผ้าแดง | | ข้ามพายแซงจอดยังฝั่งชลา
|
สักครู่หนึ่งกลับเรือเมื้อสำนัก | | ไม่ประจักษ์ว่าผู้ใดใจกังขา
|
ข้าจึ่งถามพลไพร่เรือใครมา | | เห็นหลังคาแดงฉาดประหลาดใจ
|
เขาบอกว่าเรือพระยามหาอำมาตย์ | | ข้าหลวงราชพิศวงไม่สงสัย
|
ครั้นว่าค่ำสุริโยอโณทัย | | ฝนตกใหญ่พรมพรำในค่ำคืน
|
พวกอ้ายฮ่อเปิดโบสถ์กระโดดหนี | | แผลงฤทธีแกล้วกล้าฟันฝ่าฝืน
|
กองทัพไทยไล่วิ่งบ้างยิงปืน | | อ้ายฮ่อตื่นหนีได้ทั้งไพร่นาย
|
พระยายกกระบัตรจัดไพร่ตามไปจับ | | ได้รบรับฮ่อแหกวิ่งแตกหาย
|
บ้างจับได้ตัวเป็นที่เดนตาย | | ทั้งหญิงชายกองทัพจับมาตาม
|
ทั้งทองลิ่มเงินตราเครื่องอาวุธ | | ทั้งปืนชุดหอกดาบเก็บหาบหาม
|
ทั้งม้าเมียม้าผู้ดูงามงาม | | ทำสงครามมีชัยจับได้มา
|
ต่างมอบให้พระยามหาอำมาตย์ | | ของประหลาดมากจริงหลายสิ่งสา
|
เสมียนทำบัญชีมีบรรดา | | ทั้งเงินตราข้าวของทองตระการ
|
พวกนายทัพต้องรับสาบานบอก | | ว่ามิได้ยัยอกพัสถาน
|
ต่างคนกระทำสัตย์ปฏิญาณ | | ก็สิ้นคำให้การความสัตย์จริง ฯ
|
|
|
๏ เจ้าพระยาจอมทัพสดับชัด | | ให้เสมียนเขียนคัดสั่งนายสิ่ง
|
ระดมเสมียนมาอย่าประวิง | | เขียนอย่าทิ้งตกซ้ำคำให้การ
|
ครั้นสำเร็จเสร็จส่งลงบางกอก | | กับใบบอกเมืองลาวแจ้งข่าวสาร
|
ซึ่งในเมืองหนองคายทราบรายงาน | | ซุ่ง(?)ภัยพาลมิได้มีไพรีรอน
|
ส่งไปกราบทูลพระกรุณา | | ตามเลขาลายจำหลักคำอักษร
|
กรมการรับหมดบทจร | | จากนครราชสีมาเร่งคลาไคล ฯ
|
|
|
๏ ครั้นเดือนยี่แรมแปดค่ำมีกำหนด | | ได้จำจดมั่นคงไม่สงสัย
|
พอท้องตรามาถึงอีกนึ่งใบ | | พลไพร่บันเทิงเริงสำราญ
|
หมายใจว่าท้องตราให้หากลับ | | คนกองทัพปรีดิ์เปรมเกษมศานต์
|
ด้วยหนองคายวายศึกนึกประมาณ | | ไม่มีการคงหาทัพกลับนคร
|
เหล่าไพร่พลกองทัพมาคับคั่ง | | อยากจะฟังท้องตราหน้าสลอน
|
เหมือนสัตว์นรกหมกไหม้ในไฟฟอน | | ที่รนร้อนเหลือกำลังประทังตน
|
เหมือนเห็นพระมาลัยเสร็จเสด็จมา | | ปรารถนาจะให้โปรดประโยชน์ผล
|
สัตว์นรกวิ่งแซ่มาแจจน | | เหมือนไพร่พลกองทัพที่คับใจ
|
ครั้นฉีกผนึกออกอ่านซึ่งสารตรา | | บังคับมาความแจ้งแถลงไข
|
ว่าเมืองหนองคายนี้ไม่มีอะไร | | สิ้นจากภัยอ้ายฮ่อมาก่อกวน
|
แต่ว่าทางเมืองเหนือยังเหลือหลอ | | ยังมีฮ่อแว่นแคว้นแดนเสฉวน
|
มาตั้งค่ายรายเนื่องอยู่เมืองพวน | | เขตแดนญวนมากมายหลายตำบล
|
แล้วให้เจ้าพระยามหินทร์เคาน์ซิลลอร์ | | ให้พักรอทัพตั้งฟังนุสนธิ์
|
ให้รวบรวมพร้อมไว้เหล่าไพร่พล | | จงปรือปรนตั้งใจระไวระวัง
|
แม้นทัพเจ้าพระยาภูจะจู่โจม | | เข้าหักโหมชิงชัยเหมือนใจหวัง
|
มีหนังสือมาขอต่อกำลัง | | อย่ารอรั้งรีบยกทัพบกไป
|
อย่าคอยฟังท้องตราจะช้าเนิ่น | | การฉุกเฉินอย่าพะวงคิดสงสัย
|
จงรีบยกขึ้นไปช่วยด้วยไวไว | | เป็นอย่าให้เสียขาดราชการ ฯ
|
|
|
๏ อ่านท้องตราสำเร็จจบเสร็จสรรพ | | พวกกองทัพที่มาฟังนั่งขนาน
|
ต่างคนต่างรู้จะอยู่นาน | | ต้องทรมานทรมาคิดอาวรณ์
|
ต่างคนโศกเศร้าบ้างเหงาหงอย | | ล้วนหน้าจ๋อยเสียใจฤทัยทอน
|
ซึ่งตัวฉันแจ้งใจดังไฟฟอน | | ตามลมร้อนอยู่ในใจรำคาญ ฯ
|
|
|
๏ เดือนยี่แรมสิบเอ็ดค่ำจะร่ำเรื่อง | | บ้านเจ้าเมืองเหลือสนุกโกนจุกหลาน
|
พี่นี้จะดูเขาทำน่ารำคาญ | | เสมือนการมหรสพครบลำเนา
|
ปลูกเขาไกรลาสใหญ่ที่ในสระ | | มีที่พระสวดมนตร์บนภูเขา
|
สี่สิบองค์สวดสำเนียงเสียงไม่เบา | | ที่บนเหย้าบนเรือนสวดเหมือนกัน
|
มีขารำสำเหนียกเรียกกะแจะ | | ตบมือแปะทะลึ่งโลดกระโดดขัน
|
เจ้าผู้ชายรำล่อดูงองัน | | พิณพาทย์นั้นโทนกับปี่ตีกันอึง
|
ท่านเจ้าเมืองคิดเห็นให้เป็นสุข | | เชิญเจ้าคุณตัดจุกคำนับถึง
|
เป็นมงคลนับถือไม่ดื้อดึง | | เจ้าคุณจึ่งไปเหย้าตามเขาเชิญ
|
เอาละครกองทัพไปเล่นช่วย | | พวกละครมิได้ขวยสะเทินเขิน
|
เล่นในการโกนจุกสนุกเกิน | | คนดูเพลินกระไรเลยไม่เคยดู
|
การละเล่นอื่นอื่นมีดื่นบ้าน | | ทั้งเพลงการแอ่วลาวลั่นสนั่นหู
|
เวลาค่ำสนธยาหน้าประตู | | ดอกไม้รุ่งมีอยู่เขาจุดไฟ
|
ดอกไม้กระถางรายตั้งจุดปังโปง | | จุดพลุโพลงตึงลั่นเสียงหวั่นไหว
|
ดอกไม้เทียนพุ่งจุดสะดุดใจ | | แสงสุกใสสว่างกลางนภา
|
ไฟพะเนียงเสียงลั่นสนั่นคึก | | คะโครมครึกอึงหูดังซู่ซ่า
|
ทั้งดอกไม้ช้างร้องช่องสทา | | ดอกไม้ม้าวิ่งถนนคนกระจาย
|
ทั้งอ้ายตื้อและตะไลโคมลอยลิ่ว | | ลมพัดปลิวเทียมฟ้าดูหน้าหงาย
|
ครั้นดอกไม้ไฟจุดพอหยุดงาย | | ครั้นรุ่งสายสุริยาทิวาการ
|
คนโกนจุกเดินไปเขาไกรลาส | | ตีพิณพาทย์บรรเลงวังเวงหวาน
|
ยิงปืนต้นสับสนอลมาน | | เสียงสะท้านสะเทื้อนสะเทือนกาย
|
ครั้นเมื่อจะตัดจุกเขาคุกคาม | | คนร้องห้ามปากเสียงสำเนียงหาย
|
ห้ามพิณพาทย์มิให้ตีมีระคาย | | ครั้นโกนแล้วผันผายเบญจาพลัน
|
เหล่าพระสงฆ์ทุกองค์ตักน้ำสาด | | คนเกลื่อนกลาดล้วนมือจับถือขัน
|
ต่างคนตักน้ำสาดพัลวัน | | เข้าช่วยกันรดน้ำทำชอบกล
|
คนโกนจุกเสร็จมาผลัดผ้าสี | | กลับนุ่งผ้าขาวนี้น่าฉงน
|
ต้องนุ่งขาวสามวันมันเต็มทน | | แจ้งยุบลน่าหัวร่อให้งองัน
|
หรือทำตามเพศลาวชาวบ้านนอก | | ผิดบางกอกจริงจริงทุกสิ่งสรรพ์
|
ซึ่งประดิษฐ์คิดคำกล่าวรำพัน | | จริงทั้งนั้นมิได้แกล้งมาแต่งการ ฯ
|
|
|
๏ ฝ่ายว่าพณะหัวจอมพหล | | เห็นไพร่พลไม่มีสุขสนุกสนาน
|
ล้วนง่วงเหงามิได้มีที่สำราญ | | จึ่งคิดอ่านแก้ไขในปัญญา
|
จัดละครเล่นสนุกแก้ทุกข์ทน | | เห็นไพร่พลพร้อมกันด้วยหรรษา
|
ต่างคนต่างแก้ทุกข์สนุกตา | | บ้างเฮฮาเอิกเกริกเบิกสบาย
|
พวกชาวเมืองต่างดูมากรูกราว | | ทั้งแก่สาวพรั่งพรูมาดูหลาย
|
ทั้งเด็กเดินเด็กวิ่งพร้อมหญิงชาย | | ตะเกียกตะกายชักพากันมาอึง
|
พวกละครตัวดีมีฝีมือ | | ได้ฝึกปรือซ้อมประสมเล่นคมขึง
|
พวกสาวชาวโคราชหวาดคะนึง | | เสียงกลองตึงเป็นต้องมาตั้งตาดู
|
ลางอนงค์จงภักดิ์รักละคร | | มาหลับนอนตามยศไม่อดสู
|
พวกละครไม่อดอยากซึ่งหมากพลู | | ล้วนจับคู่ได้เมียเสียทุกคน
|
พวกละครน้อยตัวไม่ทั่วสาว | | ต่อยืดยาวทั้งกองทัพดูสับสน
|
ล้วนมีชู้คู่ทั่วทุกตัวตน | | ผู้หญิงยลรักงามติดตามมา
|
ที่ผู้ดีหาที่รักตามศักดิ์สูง | | ที่เหล่าฝูงหญิงโคราชทาสทาสา
|
ก็รักพวกนิกายฝ่ายโยธา | | ติดตามมาอยู่กันออกพันพัว
|
หญิงโคราชแสนสวาทพวกกองทัพ | | อยากขยับจะใคร่ได้เป็นผัว
|
ที่มีลูกสาวแซ่ฝ่ายแม่กลัว | | ต้องคุมตัวซ่อนเร้นเป็นโกลา
|
ที่บางคนมีบ่าวเป็นสาวแส้ | | ลั่นกุญแจโซ่ใหญ่ต้องใส่ขา
|
กลัวกองทัพนั้นจักไปลักพา | | ต้องรักษาบ่าวไพร่ไม่สบาย
|
ข้างเจ้าเมืองโคราชให้หวาดไหว | | กลัวบ่าวไพร่ลูกเมียจะเสียหาย
|
จะตามพวกกองทัพไปลับกาย | | เกณฑ์ผู้ชายนั่งยามตามประตู
|
ตั้งระวังยิ่งยวดเป็นกวดขัน | | ด้วยพวกกองทัพนั้นมาเที่ยวอยู่
|
จะลอบรักเมียน้อยคอยเล่นชู้ | | มิให้หมู่กองทัพลอบลับมา ฯ
|
|
|
๏ วันหนึ่งค้นได้เสื้อหมวกพวกกองทัพ | | ในห้องหับหม่อมตัวโปรดโกรธหนักหนา
|
ท่านพระยากำแหงแผลงศักดา | | ชำระหาแม่สื่อคือผู้ใด
|
ซึ่งได้ผ้ากับหมวกพวกกองทัพ | | สองสำรับนี้หวามาแต่ไหน
|
ถามหม่อมปลั่งตัวรักซักว่าใคร | | เอามาให้กับมึงจนถึงมือ
|
หม่อมอึดอัดซัดป้ายนายทหาร | | ได้ว่าวานอีพุ่มรู้เป็นผู้ถือ
|
ท่านพระยาโคราชตวาดอือ | | หมวกผ้าหือเอามาไว้ทำไมกัน
|
หม่อมเรียนตามจริงจิตจะคิดหนี | | แปลงอินทรีย์เป็นผู้ชายลอบผายผัน
|
พระยาโคราชเตะตบเข่นขบฟัน | | สั่งผูกพันอีพุ่มเฆี่ยนเจียนชีวัน
|
อีพุ่มให้การชัดแล้วซัดใส่ | | หลวงอะไรท่านมาหาดีฉัน
|
ให้เอาเสื้อหมวกดำเป็นสำคัญ | | นำผายผันมาให้หม่อมของพร้อมเพรียง
|
ท่านพระยาโคราชตวาดอึง | | ร้องเหม่น้อยหรือมึงจนสุดเสียง
|
เตะอีพุ่มกลุ้มกลมลุกล้มเอียง | | อีพุ่มเพียงบรรลัยขาดใจตาย
|
แล้วใส่ตรวนขานกยางลูกยางโต | | ซ้ำสวมโซ่กลัวจะลี้หลบหนีหาย
|
สั่งคนคุมอีพุ่มอยู่เรียงราย | | ทั้งหญิงชายพิทักษ์พร้อมพรักกัน
|
เจ้าเมืองนำเสื้อหมวกพวกกองทัพ | | มาร้องกับพระยาราชเสนานั่น
|
พระยาราชเสนารับมาฉับพลัน | | แล้วกล่าวกลั่นจดหมายตามรายความ
|
มากราบเรียนพณฯ หัวจอมพหล | | ตามเหตุผลชู้สาวที่กล่าวถาม
|
ในเรื่องราวมีหมดปรากฏนาม | | ให้เจ้าเมืองติดตามมากราบเรียน
|
เจ้าพระยาแม่ทัพรับหนังสือ | | กรายกรถืออ่านความตามเกษียน
|
สดับเรื่องเบื้องต้นดูวนเวียน | | เห็นผิดเพี้ยนเหลือคิดในจิตแคลน
|
ด้วยหญิงหนึ่งมาดหมายผู้ชายสอง | | เหมือนวันทองครั้งเบื้องเรื่องขุนแผน
|
ซึ่งเรานั้นต้องพันวสาแทน | | ก็สุดแสนที่ถวิลตัดสินความ
|
จึ่งบัญชาถามนายฝ่ายทหาร | | จงให้การโดยจริงสิ่งที่ถาม
|
ด้วยเรื่องราวกล่าวฉลุระบุนาม | | จงแจ้งตามจริงใจหมวกใครมี
|
นายทหารคำนับรับบัญชา | | กราบเรียนว่าเสื้อหมวกพวกที่นี่
|
ของเก่ากระนั้นไซร้มิได้มี | | ไม่เหมือนอีพุ่มซัดความสัตย์จริง
|
เจ้าพระยาแม่ทัพกลับประภาษ | | ถามพระยาโคราชไปทุกสิ่ง
|
ซึ่งจะให้ชำระความตามประวิง | | ต้องขอตัวผู้หญิงมายืนยัน
|
แม้นจะให้สำเร็จแล้วเด็ดขาด | | ให้เจ้าเมืองโคราชคิดผ่อนผัน
|
ส่งตัวคนกลางมาได้ว่ากัน | | โดยเที่ยงธรรม์ยุติธรรมคำหารือ
|
นี่ซัดเขาเขาไม่รับจับไม่ได้ | | เป็นจนใจชำระความตามหนังสือ
|
หรือใครจับเสื้อผ้าได้คามือ | | จะผูกถืออย่างไรการไม่ควร
|
แม้นจะให้สำเร็จความเท็จจริง | | ส่งตัวหญิงมาจึ่งชอบให้สอบสวน
|
พระยาโคราชได้ฟังนั่งเรรวน | | ทำหน้าม้วนเหมือนอย่างงูนางอาย
|
หนังสือพระยาราชเสนากล่าวหาฟ้อง | | ความข้อสองปรากฏในจดหมาย
|
พวกกองทัพหมกมุ่นทำวุ่นวาย | | เที่ยวลักนายพาบ่าวของเขาไป
|
ล้วนหญิงทาสชาวนิคมกรมการ | | บ่าวชาวบ้านเชยชิดพิศมัย
|
พวกกองทัพลักพามาร่ำไป | | อยู่ที่ในเขื่อนค่ายมากหลายคน
|
เจ้าพระยาแม่ทัพสดับเรื่อง | | ว่าชาวเมืองตามกองทัพมาสับสน
|
เป็นสุดจะห้ามใจของไพร่พล | | ล้วนเต็มทนพลัดพรากมาจากเมีย
|
หญิงสมัครรักชายเรื่องรายนี้ | | เป็นสุดที่ปราบปรามห้ามเขาเสีย
|
หญิงก็อยากชายก็ยั่วจึ่งปัวเปีย | | ต่างคลอเคลียรักใคร่ใจของมัน
|
ถึงว่าตัวเรานี้หากมีศักดิ์ | | เป็นสุดจัดยอกย้อนคิดผ่อนผัน
|
หาไม่ก็เที่ยวไปพามาเหมือนกัน | | เขาเต็มกลั้นจะห้ามปรามอย่างไร
|
ด้วยหญิงมันสมัครรักผู้ชาย | | จึงหนีหายพยายามตามวิสัย
|
แม้นกองทัพลักพาบ่าวข้าใคร | | ใจต่อใจมันพร้อมยินยอมกัน
|
ให้เจ้าเงินมาร้องฟ้องเถิดนะ | | จะชำระให้จริงทุกสิ่งสรรพ์
|
ทาสชาวบ้านที่มีสารกรมธรรม์ | | ทั้งสองนั้นรักใคร่ไม่เรรวน
|
จะคิดเงินค่าตัวให้ยอมใช้ทุน | | มิให้ขุ่นเคืองจิตทำผิดผวน
|
ทั้งนอกกรมในกรมให้สมควร | | เร่งชักชวนกันมาร้องฟ้องต่อเรา
|
ล้วนนายทัพนายกองมานองเนือง | | คอยชำระความเรื่องบ่าวทาสเขา
|
ใครเร่งมาร้องความตามสำเนา | | ล้วนว่างเปล่าค่อยจะชำระความ
|
ตกพนักงานของฝ่ายกองทัพ | | จะคอยรับชำระให้อย่าได้ขาม
|
แม้นบุตรสาวของผู้ใดพอใจงาม | | วิ่งแร่ตามกองทัพมาหลับนอน
|
ก็สุดแม่พ่อจะยอยก | | การจะตกลงกันจัดผันผ่อน
|
ต้องชำระเป่าปัดคิดตัดรอน | | มิให้ราษฎรเคืองรำคาญ
|
ถ้าแม้นชายพวกมากลากไปฉุด | | ซึ่งบ่าวบุตรข้าทาสทำอาจหาญ
|
คงจะตัดสินความให้ตามการ | | ซึ่งชายพาลอย่างนี้ไม่มีใคร
|
ท่านเจ้าคุณจงหวังสั่งเสมียน | | ให้มาเขียนตามบัญชาที่ปราศรัย
|
ตอบพระยาราชเสนาจะว่าไร | | คนถือหนังสือไปให้แกดู
|
พระยาโคราชบาดหมางระคางเขิน | | ใจสะเทิ้นแสนระทดจิตอดสู
|
ด้วยหาเขานั้นผิดติดประตู | | หมองนิ่งอยู่ฟังถามความทั้งปวง
|
เพราะหาโทษเขานั้นไม่มั่นคง | | ครั้นจะส่งเมียมาแก่ข้าหลวง
|
พิจารณาว่าความตามกระทรวง | | ก็หึงหวงสุดปัญญาเลยลาไป
|
ครั้นรุ่งขึ้นระบือลือกันกลุ้ม | | ว่าอีพุ่มหนีไม่รู้ไปอยู่ไหน
|
บ้างว่าเขาฆ่าตายมันหายไป | | ต่างสงสัยหนักหนาพูดจากัน
|
เรื่องหนีนั้นขัดขวางไปทางไหน | | คนระวังระไวตรวจเป็นกวดขัน
|
นายประตูนั่งยามก็ครามครัน | | เป็นหลายชั้นตามช่องด้อมมองมี
|
ตรวนก็โตโซ่ก็ใหญ่มิใช่หยอก | | จะตัดออกเห็นไม่ไหวมันไม่หนี
|
เจ้าเมืองฆ่ามันตายวายชีวี | | ครั้นเป็นผีสิ้นชีวิตแล้วปิดบัง
|
คนในจวนพูดชุมว่าอีพุ่มหนี | | ข้างคนนอกว่าเอาผีไปซ่อนฝัง
|
ต่างคนต่างลือระบือดัง | | การก็ยังไม่แท้แน่ข้างใคร
|
ความก็เรียบค่อยเงียบสงบหาย | | ไม่แพร่งพรายต่างพินิจคิดสงสัย
|
ไม่มีผู้รู้แท้หนึ่งแน่ใจ | | ก็เงียบไปวายคนสนทนา ฯ
|
|
|
๏ ครั้นวันหนึ่งทราบความตามกระแส | | ซึ่งท้องตรามาแท้ไม่กังขา
|
ข้อประกาศแก่พระยาราชเสนา | | ให้มีตราประกาศหมายเมืองรายทาง
|
ห้ามมิให้ซื้อข้าวให้ท้าวเพี้ย | | หยุดซื้อเสียเหลือจงเข้าคงฉาง
|
พวกเรารู้แจ้งใจไม่ระคาง | | ด้วยไว้วางจิตแท้เป็นแน่ใจ
|
มิให้ซื้อข้าวกล้องจ่ายกองทัพ | | คงได้กลับมั่นคงไม่สงสัย
|
คนทั้งหลายหมายแน่เซ็งแซ่ไป | | ด้วยจะได้กลับบ้านถิ่นฐานตน
|
ต่างก็เตรียมข้าวของทั้งกองทัพ | | คิดว่ากลับแน่ใจไม่ฉงน
|
คอยรอฟังท้องตราถ้วนหน้าคน | | เป็นกังวลสืบสาวถามข่าวไป
|
บางคนก็ไปเที่ยวเกี้ยวผู้หญิง | | ทำสุงสิงพากันมาหวั่นไหว
|
ไม่ว่าเหล่าบ่าวทาสบังอาจใจ | | แม้นรักใครลักพากันมาอึง
|
ข้างชาวเมืองตามร้องฟ้องกันวุ่น | | จนเจ้าคุณทราบต่อหูได้รู้ถึง
|
เขามาร้องตรองตรึกนึกคำนึง | | คิดรำพึงผ่อนผันเป็นฉันใด
|
ท่านเจ้าพระยาจอมพหลกังวลหนัก | | ด้วยเรื่องลักพากันมาหวั่นไหว
|
บัญชาสั่งตามกระทรวงหลวงพิชัย | | ประกาศไปปิดประตู้รอบบุรี
|
แม้นหญิงทาสชายพามากองทัพ | | ให้บอกกับพระชัยบูรณ์และขุนศรี
|
กะดานพลโดยตามความคดี | | ว่าหญิงหหนีตามมาสัจจาจริง
|
กำหนดสามวันรู้ให้ผู้ชาย | | จงห่อเงินไปถ่ายค่าตัวหญิง
|
แม้นไม่มีเงินตราอย่าประวิง | | ส่งตัวหญิงคืนไปให้กับนาย
|
อย่าให้ป่วยการงานหน่วงนานวัน | | ถ้าดื้อดันจะทำโทษตามกฎหมาย
|
ทั้งกองทัพรู้แจ้งไม่แพร่งพราย | | ต่างยักย้ายผ่อนผันด้วยปัญญา
|
ขืนลักพาข้าเขาเข้ามาไว้ | | ล้วนเงินไปติดตัวชั่วหนักหนา
|
ส่งตัวหญิงคืนไปไม่นำพา | | เจ้าเงินเล่าเขาด่าทำโทษทัณฑ์
|
ซึ่งอย่างนี้มีชุมเกลื่อนกลุ้มหนัก | | หญิงเฝ้ารักผู้ชายตาผายผัน
|
นายเขาเฆี่ยนก็ไม่ขามอยากตามกัน | | ดูมันขันยิ่งชุมมารุมไป
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพบังคับสั่ง | | ประกาศทั้งกองทัพบังคับไข
|
ว่าทีหลังใครอย่าพาซึ่งข้าไท | | ห้ามมิให้ลักพาซึ่งนารี
|
ถ้าผูกรักใคร่กันจงผันผ่อน | | วางเงินเขาเสียก่อนอย่าชวนหนี
|
แม้นขืนจักลักพาฝืนวาที | | จะต้องมีโทษทัณฑ์ตามบัญชา ฯ
|
|
|
๏ ถึงเดือนสามแรมแปดค่ำได้จำคืน | | พ่อจมื่นตำรวจใหญ่ชัยภูษา
|
เสร็จจึงถึงนครราชสีมา | | เชิญท้องตราราชสีห์มีสำคัญ
|
กับดอกไม้ไฟสำหรับรบทัพเจ๊ก | | และกรวดเล็กเรี่ยวแรงฤทธิ์แข็งขัน
|
อีกดินปืนที่ยัดปัศตัน | | หลายร้อยพันสำหรับกองทัพมา
|
ล้วนของหลวงทรงประทานท่านเจ้าคุณ | | ดินกระสุนของอื่นเครื่องปืนผา
|
ถึงที่ทำเนียบค่ายบ่ายเวลา | | เจ้าพระยาแม่ทัพออกรับรอง
|
พรักพร้อมด้วยเจ้าเมืองกรมการ | | แน่นขนานคอยนั่งอยู่ทั้งผอง
|
พร้อมสรรพนายทัพและนายกอง | | จึ่งฉีกท้องตราอ่านสารโองการ
|
ว่าซึ่งกองทัพฮ่อที่ก่อกวน | | อยู่เมืองพวนนักหนาล้วนกล้าหาญ
|
และเมืองสุยเชียงขวางทางกันดาร | | ฮ่อประมาณหกร้อยคอยประจญ
|
ให้เจ้าพระยารีบยกทัพบกไป | | ได้ชิงชัยต่อตีให้ปี้ป่น
|
ให้มีชื่อเสียงไว้ในสกล- | | ล โลกล้นลือนามด้วยความดี
|
ในข้อสองว่าด้วยกองเสบียงนั้น | | เมืองเวียงจันท์ไปเชียงขวางทางวิถี
|
ต้องเดินตามข้ามเขินเนินคีรี | | เห็นสุดที่ส่งลำเลียงเสบียงคน
|
ซึ่งจะให้พระยามหาอำมาตย์ | | เหลือขนาดส่งเสบียงเลี้ยงพหล
|
ด้วยว่าทางเดินยากลำบากพล | | ที่จะขนโคต่างทางกันดาร
|
บัดนี้เล่าได้สั่งเจ้าพระยาภู | | จัดแจงดูส่งเสบียงเลี้ยงทหาร
|
ได้มีตราไปกำชับบังคับการ | | ให้คิดอ่านส่งเสบียงให้เพียงพอ ฯ
|
|
|
๏ ครั้นสำเร็จเสร็จอ่านซึ่งสารศรี | | ความอื่นมีมากมายอีกหลายข้อ
|
ท่านเจ้าคุณได้ฟังไม่รั้งรอ | | แต่งตอบต่อบังคมลาฝ่ายุคล
|
บัญชาสั่งตามกระทรวงหลวงภักดี | | ผู้ว่าที่ยกกระบัตรจัดพหล
|
ให้ถ้วนตามริ้วทัพกำชับพล | | ประจวบจนวันดีได้ลีลา
|
สั่งขุนโลกนัยนาให้หาฤกษ์ | | โหรก็เลิกสมุดต้นเที่ยวค้นหา
|
แล้วลงเลขคูณหารอ่านตำรา | | แล้วเขียนว่าแม่นมั่นซึ่งวันดี
|
ในเดือนสามฤกษ์เลิศมงคล | | รอไปจนคลาดเคลื่อนถึงเดือนสี่
|
ขึ้นเจ็ดค่ำเมฆเบิกนั้นฤกษ์ดี | | รออีกทีสิบสองค่ำฤกษ์นำพล
|
พวกกองทัพทุกหมู่ต่างรู้ตัว | | เตรียมกันทั่วกองทัพดูสับสน
|
ทหม้าหาบหามแต่งพอแรงตน | | ทั่วทุกคนแต่งเสร็จสำเร็จการ
|
เจ้าพระยาจอมพหลกังวลนัก | | ด้วยว่าจักยกพหลพลทหาร
|
ทางโคกหลวงน้ำนั้นแสนกันดาร | | จะรำคาญเคืองใจแก่ไพร่พล
|
ด้วยพระมหาเทพนั้นคลาดคลาย | | มาแต่เมืองหนองคายแจ้งเหตุผล
|
กันดารน้ำลำหนองและคลองชล | | ทุกตำบลแห้งขอดตลอดทาง
|
เจ้าพระยาพาทีมีบัญชา | | ให้ขุนราชเมธาไปสืบสาง
|
ที่ด้วยเรื่องน้ำแห้งแหนงระคาง | | ตามระหว่างที่พักพำนักพล
|
พร้อมกรมการทหารหน้า | | ไปสืบซึ่งกิจจาเอาเหตุผล
|
กับขุนหมื่นริ้วตั้งในวังบน | | ทั้งสี่คนสืบการอย่านานวัน
|
ทั้งสี่นานคำนับรับบัญชา | | ต่างคลาดคลาเคลื่อนคล้ายรีบผายผัน
|
ไปสืบรู้เสร็จสรรพแล้วกลับพลัน | | ถึงพร้อมกันหมอบราบก้มกราบเรียน
|
ทางโคกหลวงเหลือแล้วน้ำแห้งขอด | | ทั่วตลอดจดกะระยะเขียน
|
เป็นหนทางกลางทุ่งเวิ้งวุ้งเตียน | | สุดแวะเวียนร่มพักสำนักคน
|
ครั้นเจ้าคุณได้ฟังไม่กังขา | | จึงปรึกษาข้อความตามนุสนธิ์
|
ด้วยหนทางที่จะไปพร้อมไพร่พล | | จะปี้ป่นทารกรรมน้ำไม่มี
|
จะยกเยื้องทางเมืองพิมายหนอ | | น้ำท่าพอทั่วระหว่างทางวิถี
|
พร้อมนายทัพนายกองร้องว่าดี | | จะเป็นที่อาศัยแก่ไพร่พล
|
หลวงภักดียกกระบัตรคนจัดเจน | | จึงกะเกณฑ์หมายไปไม่ฉงน
|
แล้วเร่งเกณฑ์เกวียนช้างโคต่างคน | | หัวเมืองบนสมทบทัพให้ฉับพลัน
|
กรมการเร่งรัดจัดมาส่ง | | ไม่ไหลหลงรีบรวดการกวดขัน
|
ต้องรีบรัดจัดหามาให้ทัน | | บ้างผ่อนผันหากินจิตยินดี
|
ราษฎรที่มีช้างโคต่างเกวียน | | บ้างถูกเฆี่ยนด้วยนำช้างโคต่างหนี
|
ราษฎรยับเยินบ้างเงินมี | | เสียให้ที่กรมการท่านผู้เกณฑ์
|
กรมการได้ทีดีใจหาย | | ผู้จัดจ่ายหน้าแดงเป็นแสงเสน
|
ได้เงินทองของตระการซ่านกระเซ็น | | ด้วยจัดเจนเคยฉ้อพอสบาย
|
ที่เกวียนดีมั่นคงไม่ส่งให้ | | ยักยอกไว้ซ่อนเร้นไม่เห็นหาย
|
ให้แต่เกวียนจวนจักหักทลาย | | โคเกือบตายผอมเต็มที่มีแต่โครง
|
จึงจัดจ่ายให้กับกองทัพมา | | พวกเราว่าเหลือทนบ่นโขมง
|
กรมการเต็มแค้นช่างแสนโกง | | ที่ปากโป้งด่าว่านินทาดัง ฯ
|
|
|
๏ กองทัพได้เกวียนต่างช้างสำเร็จ | | ถึงขึ้นเจ็ดค่ำมีสี่เดือนหวัง
|
กำหนดฤกษ์บริสุทธิ์วันพุทธัง | | พรักพร้อมพรั่งจัดกระบวนทวนทุกกอง
|
เวลาบ่ายได้ฤกษ์เลิกพหล | | ดูสับสนประดาดังคนทั้งผอง
|
เจ้าคุณเสร็จขึ้นนั่งยังจำลอง | | ก็ลั่นฆ้องโห่เดินดำเนินพล
|
ซึ่งช้างทรงองค์พระปฏิมา | | กลับผันหน้าเป็นนิมิตคิดฉงน
|
เฝ้าถอยหลังเดินกลับขยับตน | | หมอไสจนระอาใจไม่ยักเดิน
|
ผู้คนร้องวิปริตนิมิตดี | | ไปครั้งนี้คงเป็นสุขไม่ฉุกเฉิน
|
นิมิตมงคลดีมีจำเริญ | | ไม่นานเนิ่นกองทัพคงกลับคืน
|
คนเนืองนองกองทัพดูสับสน | | ฝูงไร่พลเฮฮาต่างหน้าชื่น
|
ล้วนใจคอเหี้ยมฮึกเสียงครึกครื้น | | บ้างช้างตื่นหันเหียนวิ่งเวียนวน
|
ยกนิกรจากนครราชสีมา | | มุ่งมรรคาเข้าในพฤกษ์ไพรสณฑ์
|
ระยะบ้านเรียงรายหลายตำบล | | ไม่ชอบกลป่วยการคิดราญรอน
|
ข้ามลำน้ำบริบูรณ์พูนสวัสดิ์ | | เร่งรีบรัดจรจรัลไม่ผันผ่อน
|
พอถึงสระธรรมขันธ์ตะวันจร | | หยุดพักร้อมแรมพักสำนักพล
|
พอขุนนราฤทธิไกรไปหนองคาย | | กลับผันผายคำนับน้อมจอมพหล
|
ทำหนังสือถือตรามาแต่บน | | ข้อนุสนธิ์เจ้าพระยาภูธราภัย
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพรับหนังสือ | | ประจงถืออ่านแจ้งแถลงไข
|
พร้อมนายทัพนายกองเนืองนองไป | | อ่านแจ้งใจประจักษ์ความตามยุบล
|
ว่าเมืองหลวงพระบางทางกันดาร | | ซึ่งอาหารและเสบียงเลี้ยงพหล
|
เหลือลำบากยากใจแก่ไพร่พล | | ย่อมขัดสนอดอยากลำบากใจ
|
แต่ซึ่งอ้ายพวกฮ่อทรลักษณ์ | | ไม่หาญหักรบราอัชฌาสัย
|
มาชักชวนหย่าทัพยกกลับไป | | ตั้งอยู่ในเมืองพวนเห็นรวนเร
|
ได้จัดพระสุริยภักดีไป | | ซ้ำเติมใส่เสียให้มันแตกหันเห
|
ในกำหนดเดือนสามตามคะเน | | ให้ซวนเซสำทับให้ยับเยิน
|
ในข้อสองว่ากองครัวเมืองพรวน | | อ้ายฮ่อกวนเกิดยุคยามฉุกเฉิน
|
หนีมาสู่โพธิสมภารประมาณเกิน | | แยกทางเดินไปเบื้องเมืองหนองคาย
|
ซึ่งตาแสงแขวงกำนันพันท้ายบ้าน | | และกองด่าน(?)กักขังครัวทั้งหลาย
|
ได้มีตราไปบังคับกำชับนาย | | ปล่อยโดยง่ายมิได้ตั้งกักขังนาน
|
แม้นเจ้าพระยามหินทร์รู้สิ้นสรรพ | | จะมีตราไปบังคับไปว่าขาน
|
ถึงพระยามหาอำมาตย์ราชการ | | ให้นายบ้านปลอบครัวไม่พัวพัน
|
เห็นจะดีไม่เสียขาดราชการ | | ครั้นว่าอ่านความจบเสร็จสบสรรพ์
|
เจ้าคุณแต่งเรื่องตามเนื้อความพลัน | | หนังสือนั้นเสร็จส่งให้ลงไป
|
ให้พระยาราชเสนารู้อาการ | | ในข่าวสารแจ่มแจ้งแถลงไข
|
ให้คนนำหนังสือถือครรไล | | แต่โดยในวันนั้นไม่ผันแปร
|
ครั้นจวนแจ้งแสงเสร็จสิบเอ็ดทุ่ม | | ผู้คนกลุ้มอยู่ระเบ็งเสียงเซ็งแซ่
|
พวกทหารนั้นเล่าก็เป่าแตร | | คนอัดแอผูกช้างโคต่างพลัน
|
คนพร้อมพรั่งทั้งหลายก็บ่ายบาก | | ยกออกจากสระน้ำธรรมขันธ์
|
เดินกระบวนมาในทางกลางอรัญ | | สุริยันเยี่ยมฟ้าเวลางาย
|
ประจวบถึงพึ่งเกราเข้าสำนัก | | หยุดผ่อนพักโยธาเวลาสาย
|
ต่างคนเสพอาหารสำราญกาย | | แต่พอบ่ายสุริยาท้องฟ้ามัว
|
พอลมตกยกขยับกองทัพเดิน | | ร่มจำเริญแดดแฝงแสงสลัว
|
เห็นฝนใหญ่ตั้งร่ามาน่ากลัว | | ตลอดทั่วโดยรอบขอบมณฑล ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงหนองสะแกแลสะอาด | | ที่บนโคกจอมปราสาทกลางไพรสณฑ์
|
เสร็จปลงช้างหยุดพักสำนักพล | | แรมตำบลนั้นคืนรื่นสำราญ
|
วลาหกตกอยู่เสียงซู่ซ่า | | พวกโยธาคับคั่งนั่งขนาน
|
ไม่มีที่บังร่มเปียกซมซาน | | เอาใบตาลบิดบังนั่งยองยอง
|
บางคนหักได้กิ่งไม้คลุม | | มาปกสุมมิดชิดบังปิดของ
|
บรรดาเหล่าชาวพลเปียกฝนนอง | | ฟ้าก็ร้องเปรี้ยงครืนดั่งปืนยิง
|
พอฝนหายหนาวงันสั่นเหมือนไข้ | | ต้องก่อไปขึ้นนั่งพออังผิง
|
พวกไพร่พลหนาวงันสั่นเหมือนลิง | | มันหนาวจริงจับใจผิงไฟลน ฯ
|
|
|
๏ ครั้นเช้ามืดตีสิบเอ็ดพร้อมเสร็จสรรพ | | คลาเคลื่อนทัพออกดำเนินเดินพหล
|
รุ่งแสงทองท้องฟ้านภาดล | | ประจบจนแม่น้ำลำเชียงไกร
|
น้ำก็เค็มเต็มเหลือเหมือนเกลือแช่ | | ลำกระแสน้ำแสงสีแดงใส
|
ก็เสร็จข้ามโยธารีบคลาไคล | | ก็เข้าในเขตตำแหน่งแขวงพิมาย
|
เดินในทุ่งสัมฤทธิ์พินิจแล | | ดูทิวไม้ไกลแท้น่าใจหาย
|
แลเวิ้งวุ้งทุ่งเลี่ยนเตียนสบาย | | ดูสุดสายนัยนาพฤกษาทิว
|
เห็นแนวไม้สุดคาดมาตรคะเน | | ดังทะเลบกชัดลมพัดฉิว
|
ละอองฝุ่นกลางทุ่งขึ้นฟุ้งปลิว | | แลละลิ่วเหมือนอย่างกลางทะเล
|
ผู้นำร่องเจนจัดนำตัดทุ่ง | | เคยหมายมุ่งแม่นใจไม่ไขว้เขว
|
ชำนาญทางหมายมาตรคาดคะเน | | ไม่โย้เย้เดินมุ่งตัดทุ่งเตียน
|
พอถึงหนองโรงเรือช่างเหลือร้อน | | จะพักผ่อนยากจิตสถิตเสถียร
|
พอพระพิมายหมอบราบมากราบเรียน | | น้อมจำเนียรโดยความกล่าวตามการ
|
เชิญเจ้าคุณประเทียบทำเนียบร้อน | | หยุดพักผ่อนโดยระยะสระสนาน
|
ทำเนียบปลูกไว้ท่าโอฬาฬาร | | ที่ริมธารโดยระยะขอบสระโต
|
เจ้าคุณดีที่สุดว่าหยุดอยู่ | | ซึ่งเหล่าหมู่ทวยหารประมาณโข
|
พักกลางแจ้งร้อนแสงสุริโย | | แดดออกโร่ทำเนียบหนอไม่พอกัน
|
จะอาศัยได้แต่เราเข้าไปอยู่ | | สงสารหมู่เหล่าทหารพลขันธ์
|
ด้วยคนมิใช่ร้อยหลายร้อยพัน | | จะหยุดนั้นไม่มีที่กำบัง
|
พระพิมายเลยนำทางตัดขวางทุ่ง | | เขม้นมุ่งทิวไม้ด้วยใจหวัง
|
เข้าหยุดร่มพฤกษาเป็นป่ารัง | | อยู่ริมฝั่งขอบลำแม่น้ำมูล
|
เห็นน้ำใจใหญ่โตดูโสภา | | ฝูงมัจฉากุมภิลไม่สิ้นสูญ
|
จระเข้ก็มีบริบูรณ์ | | ดูเพิ่มพูปรีดาผักปลาชุม
|
บ้างมีอวนมีแหลงแซ่เสียง | | ได้ปลาเงี่ยงปลางาหากันกลุ้ม
|
บางคนตั้งกับช้อนต้อนเข้ามุม | | บ้างก็สุ่มที่ตื้นล้วนพื้นทราย
|
ดูสนุกน่าสนานในชานชล | | เหล่าผู้คนเซ็งแซ่กระแสสาย
|
มุจฉาชุมไพร่พลกระวนกระวาย | | ครั้นว่าบ่ายลมตกเสร็จยกพล
|
เดินมาในกลางทุ่งมุ่งเขม้น | | เหลือบแลเห็นฟ้าสลัวมืดมัวฝน
|
พระสุริย์ศรีรังสรรค์อันธกล | | ฟ้ามืดมนธ์ถึงเบื้องเมืองพิมาย
|
ก็หยุดพักพวกพหลพลทหาร | | ยั้งที่ท่าสงกรานต์กระแสสาย
|
อยู่ที่ริมฝั่งน้ำมูลเนินพูนทราย | | พลนิกายล้าหลังยังไม่มา
|
บ้างเท้าบวมจะเดินเหินไม่ไหว | | บ้างเป็นไข้ต้องรอหมอรักษา
|
ฝ่ายว่าเจ้าคุณท่านมีบัญชา | | หยุดรอท่าพลพองามกว่าสามวัน
|
ครั้นรุ่งแสงสุริยาฟ้าระยับ | | เจ้าพระยาแม่ทัพเสร็จผายผัน
|
ประสาทศิลาพร้อมหน้ากัน | | ซึ่งตัวฉันพยายามติดตามไป ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงปราสาทหินเห็นภิญโญ | | สูงเติบโตนี่ใครสร้างแต่ปางไหน
|
มีหน้าบันมุขเด่นเห็นวิไล | | น่าปลื้มใจมือช่างสร้างบรรจง
|
ชั้นนอกรอบหินขอบกำแพงชิด | | มีปรางค์มุขสี่ทิศแลระหง
|
เสามุขใหญ่หินยันดูมั่นคง | | บุษบงหินรับสลับลาย
|
ลอกลวดลายมะหวดกลึงงามขึงขำ | | สง่าง้ำแลเลิศดูเฉิดฉาย
|
ปราสาทข้างปราสาทเคียงดูเรียงราย | | เห็นแยบคายต่อติดสนิทแนว
|
พร้อมรั้ววังคลังหินล้วนศิลา | | ทำหลังคาหินเคียงเรียงเป็นแก้ว
|
รอบนอกทิมดาบรายงามพรายแพรว | | แลล้วนแล้วศิลาน่าจะดู
|
ในพระราชวังหลายหลังเรือน | | ทำเหมือนเหมือนรายเรียงเคียงกันอยู่
|
เอาศิลามาแต่ไหนก็ไม่รู้ | | ไม่มีภูเขาใหญ่อยู่ใกล้เคียง
|
ไปเก็บหินฉุดลากมาจากไหน | | แท่งใหญ่ใหญ่ก่อสร้างวางเฉลียง
|
อุตสาหะแต่งตั้งเป็นวังเวียง | | พิศดูเพียงเทวฤทธิ์นิมิตทำ
|
มีกำแพงปราการชั้นด้านนอก | | มีข้างทิศตะวันออกดูขึงขำ
|
เชิงเทินดินศิลาน่าประจำ | | สง่าง้ำแข็งขันเห็นมั่นคง
|
มีถนนหินทางเดินดำเนินออก | | จากมุขด้านตะวะนออกโดยประสงค์
|
ไปนครหลวงนครวัดทางตัดตรง | | ข้ามฝ่าดงไปในป่าพนาลี
|
ล้วนหินมูลก่อเห็นเป็นถนน | | น่าฉงนชมทางหว่างวิถี
|
เขาว่าไปแต่พิมายหลายราตรี | | จึงถึงที่นครวัดโดยสัจจัง
|
เมืองนี้เดิมพารามหากษัตริย์ | | พรหมทัตทราบเรื่องในเบื้องหลัง
|
สุดจะร่ำพรรณนาว่าให้ฟัง | | ขอยับยั้งเรื่องนิยายพิมายเมือง
|
แม้นอยากรู้จงดูเรื่องปาจิตร์ | | ท่านบัณฑิตกล่าวแกล้งแสดงเรื่อง
|
ครั้นจะร่ำกล่าวจะช้าเวลาเปลือง | | จึงยักเยื้องหลีกลัดตัดนิยาย
|
เจ้าพระยาแม่ทัพบังคับหวัง | | บัญชาสั่งนิมนต์สงฆ์องค์ทั้งหลาย
|
มาหมดสิ้นตลอดเบื้องเมืองพิมาย | | แล้วถวายปัจจัยไทยทาน
|
เชิญพระทนต์พระจอมเกล้าพระเจ้าราช | | ขึ้นเหนืออาสน์ปรางค์หินในถิ่นฐาน
|
สดับปกรณ์เสร็จสำเร็จการ | | แสนสำราญรื่นเริงบันเทิงใจ
|
แล้วเลยเที่ยวไปกระทั่งถึงยังถิ่น | | เรียงวังหินมีลำแม่น้ำใหญ่
|
เห็นชาวบ้านทอดแหเซ็งแซ่ไป | | อยู่ที่ในชลธาร์แน่นสาชล
|
พวกชาวบ้านนำปลามาคำนับ | | ให้เจ้าคุณแม่ทัพอยู่สับสน
|
ท่านก็แจกเงินทั่วทุกตัวคน | | ส่งให้ขนเอาปลานั้นมาพลัน
|
มาแจกจ่ายนายทัพกับนายกอง | | จิตปรองดองมิให้เคียดขึ้งเดียดฉันท์
|
คนละหลายหลายตัวแจกทั่วกัน | | แจกจนชั้นไพร่พลคนละตัว
|
ครั้นรุ่งแสงสุริยาเวลากาล | | พวกชาวบ้านชักพามากันทั่ว
|
แต่งสำรับคับขันมาพันพัว | | คำนับพณหัวจอมโยธา
|
เจ้าคุณเรียกเงินไปแจกให้กับ | | พวกเจ้าของสำรับทั่วถ้วนหน้า
|
สมควรกับของเขาที่เอามา | | แล้วบัญชาสั่งให้พวกไพร่พล
|
ยกสำรับแบ่งปันสู่กันกิน | | คนได้ยินยกสำรับมาสับสน
|
แบ่งปันกันตามประสาเวลาจน | | เหล่าผู้คนได้สมอารมณ์ปอง
|
กองทัพแรมเมืองพิมายหลายราตรี | | เหล่าโยธีพร้อมพรั่งสิ้นทั้งผอง
|
หายล้าเลื่อยเมื่อยปวดทุกหมวดกอง | | จึงสำรองการเดินดำเนินพล
|
ครั้นรุ่งสุริย์ศรีตีสิบเอ็ด | | เตรียมพร้อมเสร็จยกเขยื้อนเคลื่อนพหล
|
ออกจากเมืองพิมายหมายตำบล | | เข้าไพรสณฑ์ออกจากทุ่งมุ่งหนทาง
|
ดูเวิ้งวุ้งทุ่งทิวแลลิ่วลับ | | เดินกองทัพตัดไปทิวไม้กว้าง
|
ถึงท่าโพหยุดร้อนพักผ่อนพลาง | | แล้วปลงช้างหยุดพักสำนักพลัน
|
อยู่ที่ริมฝั่งลำแม่น้ำมูล | | ต่างเพิ่มพูนปรีดิ์เปรมเกษมสันต์
|
ชวนกันลงสู่ท่าหาปลากัน | | พอตะวันบ่านเดินดำเนินพล
|
ถึงบ้านศาลาหักหยุดพักแรม | | พระจันทร์แจ่มส่องสว่างกลางเวหน
|
แรมสำนักพักอยู่พร้อมผู้คน | | ริมฝั่งชลแม่น้ำมูลเพิ่มพูนใจ ฯ
|
|
|
๏ ครั้นจวนรุ่งตีสิบเอ็ดพร้อมเสร็จสรรพ | | ยกกองทัพจรจรัลเสียงหวั่นไหว
|
เดินตัดท้องทุ่งกว้างหนทางไกล | | ลึกเข้าในป่าละเมาะลัดเลาะจร
|
รีบรัดไม่รั่งรอมาบหึง | | บรรลุถึงที่พักสำนักผ่อน
|
ด้วยสายแสงสุริย์ศรีระวีวร | | หยุดหนองบัวสุกรเวลาการ
|
ครั้นร้อนอ่อนแสงสุริยน | | เหล่าไพร่พลปรีดิ์เปรมเกษมศานต์
|
เสร็จคลาเคลื่อนโยธาไม่ช้านาน | | จากสถานที่พักสำนักพลัน ฯ
|
|
|
๏ มาถึงบ้านนางออรอสำนัก | | เข้าหยุดพักซึ่งพหลพลขันธ์
|
บ้านนางออมีผู้เฒ่าเขาเล่ากัน | | แต่ก่อนนั้นเรื่องนิทานนานเต็มที
|
คือว่านางอรภิมนิ่มอนงค์ | | ได้เป็นองค์เอกเอ้มเหสี
|
กษัตริย์เมืองพิมายนิยายมี | | ถิ่นที่นี้เป็นบ้านสถานนาง
|
กี่หูกปรากฎตั้งยังไม่สิ้น | | คล้ายเป็นหินชัดชัดไม่ขัดขวาง
|
ปรากฎตั้งประจำเห็นสำอาง | | ชำรุดร้างพังหักประจักษ์ตา
|
ด้วยว่าของนี้นั้นหลายพันปี | | เรื่องราวนี้ฉันไม่แสร้งแกล้งมุสา
|
เป็นเรื่องราวโบราณนมนานมา | | คือเรื่องปาจิตร์นั้นจงอ่านดู
|
ตรงนี้เดิมสร้างเมืองแต่เบื้องหลัง | | แต่คราวครั้งพรหมทัตกษัตริย์สู่
|
มีเชิงเทินเดินรอบเป็นขอบคู | | ปรากฏอยู่ตาคนจนทุกวัน
|
ฝ่ายกองทัพรอรั้งตั้งสงบ | | จวนจะพลบพร้อมพหลพลขันธ์
|
พวกไพร่พลตั้งล้อมอยู่พร้อมกัน | | เป็นชั้นชั้นริมลำแม่น้ำมูล
|
น้ำมูลเอ๋ยดักหน้าเฝ่สมาคอย | | พบบ่อยบ่อยอาบกินไม่สิ้นสูญ
|
ฉันคิดคิดขึ้นมายิ่งอาดูร | | ไม่เพิ่มพูนโหยหาแสนอาลัย
|
แต่มิ่งมิตรของพี่ต้องนิราศ | | ช่างหายขาดมิได้เห็นเป็นไฉน
|
เฝ้าพบแต่แม่น้ำมูลร่ำไป | | แม่ขวัญใจอนิจจาไม่มาเยือน
|
ตั้งแต่พี่เริศร้างห่างสวาท | | ช่างหายขาดดังคนขีดเอามีดเฉือน
|
แต่พลัดพรากจากมาห้าหกเดือน | | ไม่พบเพื่อนพิศมัยอาลัยลาน
|
เวลาค่ำย่ำฆ้องมีตีสิบเอ็ด | | พรักพร้อมเสร็จพหลพลทหาร
|
ยกจากบ้านนางออไม่รอนาน | | เสียงสะท้านสะเทื้อนพระธรณิน
|
ด้วยฝีเท้าคนเดินดำเนินดัง | | มาคับคั่งในป่าพฤกษาสิน
|
ลมระบายชายชวยมารวยริน | | รุ่งแสงทินกรอัมพรแดง ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงหนองห้วยหมูสู่สำนัก | | เข้าหยุดพักพลนิกายพอสายแสง
|
สู่ทำเนียบที่สร้างไว้กลางแปลง | | มาจัดแจงเรียบร้อยคอยเจ้าคุณ
|
ต่างจัดแจงปลงช้างโคต่างหยุด | | บ้างก็มุดเข้าอาศัยอยู่ใต้ถุน
|
บ้างขนของเอะอะชุลมุน | | บางคนวุ่นเวียนหวิวหิวไม่พัน
|
พอบ่ายแสงสุริยาฟ้าพายัพ | | ยกกองทัพพร้อมนิกายจะผายผัน
|
ข้ามท้องทุ่งเข้าทางกลางอรัญ | | มุ่งหมายมั่นเดินผ่าป่าสะแก
|
ก็เสร็จข้ามแม่น้ำลำสะแทก | | เป็นลำแยกจากมูลศูนย์กระแส
|
สิ้นเขตแดนพิมายเมืองชำเลืองแล | | เข้าแขวงแควเมืองลาวชาวอรัญ ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงหนองช้างน้ำมีทำเนียบ | | หยุดประเทียบพักพหลพลขันธ์
|
ถึงขอบหนองดูตามนามสำคัญ | | ช้างน้ำนั้นอยู่ไหนจึงไม่ยล
|
หรือตั้งชื่อย้อนยอกแกล้งหลอกพลาง | | เห็นแต่ช้างกองทัพอยู่สับสน
|
ลงสู่ในวารินดื่มกินชล | | ออกเกลื่อนกล่นหนองน้ำคละคล่ำไป
|
ก็รอรั้งตั้งทัพอยู่ยับยั้ง | | คนก็ตั้งแวดล้อมพร้อมไสว
|
ทั้งด่านนอกหอกทหารอยู่ด้านใน | | พลไพร่พรักพร้อมตั้งล้อมวง
|
กรมการพร้อมพรั่งมาคั่งคับ | | ท่านเจ้าคุณออกรับดังประสงค์
|
เขานำม้าสีดำมุ่งจำนง | | ตั้งใจจงน้อมเกล้าให้เจ้าคุณ
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพไม่รับไว้ | | ท่านคืนให้เขาพลันไม่หันหุน
|
ด้วยกริ่งเกรงหัวเมืองจะเปลืองทุน | | กลัวบุญคุณเขาจะติดไม่คิดปอง ฯ
|
|
|
๏ ครั้นพลบค่ำย่ำแสงสุริยง | | คนล้อมวงพร้อมพรั่งสิ้นทั้งผอง
|
ทั้งด้านนอกด้านในสุมไฟกอง | | บ้างตีเกราะเคาะฆ้องกระแตตี
|
พอกรมการมาพร้อมน้อมจำนง | | ว่าเมืองพุทไธสงน่าบัดสี
|
มีอ้ายผู้ร้ายมารบราวี | | ชาวบุรีจวนจะแตกวิ่งแหวกทาง
|
อ้ายผู้ร้ายพูดสำเนียงเสียงประหลาด | | เหมือนโคราชได้ฟังชัดไม่ขัดขวาง
|
ขอบารมีช่วยดับความอับปาง | | เหมือนก่อสร้างพุทไธสงให้คงเวียง
|
ท่านเจ้าคุณฟังแจ้งแถลงไข | | เป็นการใหญ่ฟังศัพท์สดับเสียง
|
จึงเอนโอษฐ์ปราศรัยแล้วไล่เลียง | | เห็นแท้เที่ยงข้อความตามคดี
|
บัญชาเยื้องสั่งเจ้าเมืองบุรีรัมย์ | | ซึ่งมานำหนทางกลางไพรศรี
|
ไปจับผู้ร้ายมาในราตรี | | กับขุนสัจจวาทีอีกหนึ่งนาย
|
หลวงพิชัยเสนาอาสารับ | | จะไปจับพวกปล้นคนทั้งหลาย
|
ท่านเจ้าคุณอนุญาตต่างคลาดคลาย | | พร้อมสามนายรีบไปในราตรี
|
ซึ่งกองทัพอยู่ทางยังห่างเมือง | | คอยฟังเรื่องผู้ร้ายจะหน่ายหนี
|
หรือจะจับได้มันในทันที | | จนฆ้องตีสิบทุ่มคนกลุ้มกัน
|
เสร็จเดินกระบวนทัพไม่ยับยั้ง | | พร้อมสะพรั่งไพร่นายเตรียมผายผัน
|
สว่างแจ้งแสงสีระวีวรรณ | | ก็พร้อมกันจรมาไม่ช้านาน
|
เข้าในเขตเมืองใหญ่พุทไธสง | | คนเรียกคงนามสิ้นทุกถิ่นฐาน
|
มีชื่อมาแต่ปฐมกาลนมนาน | | จะประมาณหมายมั่นหลายพันปี
|
พิศดูเมืองใหญ่พุทไธสง | | เห็นมั่นคงคึกคักเป็นศักดิ์ศรี
|
เชิงเทินดินล้อมรอบขอบบุรี | | หนองน้ำมีรอบเมืองติดเนื่องกัน
|
ถึงทำเนียบข้างประเทียบประทับพัก | | หยุดพร้อมพักพหลพลขันธ์
|
ขนของส่งลงวางปลงช้างพลัน | | บ้างหมายมั่นร่มไม้ด้วยใจจง
|
ฝ่ายหลวงพิชัยเสนาพาอ้ายคน | | พวกที่ปล้นเข้าในพุทไธสง
|
เข้ากราบเรียนพรั่งพร้อมน้อมจำนง | | โดยมั่นคงเรียนแยกแต่แรกมา
|
เมื่อมาถึงเห็นเหล่าพวกชาวเมือง | | จัดแจงเครื่องหาบวิ่งทิ้งเคหา
|
จวนจะแยกแตกหนีหลีกลีลา | | มาดแม้นช้าแล้วแตกแยกกันไป
|
หากมาทันปราบปรามห้ามว่าช้า | | เราจะฆ่าอ้ายคนร้ายหายไปไหน
|
ซึ่งพวกลาวชาวบุรีต่างดีใจ | | มากราบไหว้ร้องให้ช่วยด้วยขอรับ
|
ทั้งเจ้าเมืองกรมการคลานเข้าหา | | แล้วบอกว่ามีคนปล้นไล่ขับ
|
เดี๋ยวนี้อยู่โรงเหล้าแย่งเอาทรัพย์ | | ช้าขยับมันจะไปไม่ได้มัน
|
แล้วเกล้าผมตรงไปพอได้พบ | | มันลี้หลบแอบนิ่งวิ่งถลัน
|
เอาม้าล้อมควบไล่เกือบไม่ทัน | | จึงบอกมันขืนวิ่งกูยิงตาย
|
ต้องยอมให้จับตัวมันกลัวปืน | | นิ่งหยุดยืนกับที่ไม่หนีหาย
|
คือพวกในกองทัพน่าอับอาย | | มาทำร้ายปล้นสดมภ์กรมการ
|
พวกโคราชคนหนึ่งก็ถึงจิต | | มันคบคิดกันมาจึงกล้าหาญ
|
กับด้วยพวกกองทัพมารับงาน | | ซึ่งชาวบ้านตั้งบัญชีตีราคา
|
รวมเงินตามอยู่ในสามตำลึงเศษ | | เรียนตามเหตุที่ลาวเขากล่าวหา
|
เจ้าคุณได้ทราบพลันมีบัญชา | | เอาตัวมาชำระดูให้รู้ความ
|
อ้ายผู้ร้ายเป็นสัจแล้วซัดเพื่อน | | ไม่แชเชือนเรียนรับบังคับถาม
|
เจ้าคุณทราบระบิลตัดสินความ | | ใช้เงินตามของที่ตีราคา
|
ให้มุลนายออกเงินใช้ให้เจ้าของ | | แล้วรับรองตัวพิทักษ์ดูรักษา
|
แม้นวันได้ชำระจะเอามา | | ตะโหงกคาใส่ประจำทำประจาน ฯ
|
|
|
๏ เวลาค่ำย่ำฆ้องตีสองทุ่ม | | ผู้คนกลุ้มมี่ฉาวแจ้งข่าวสาร
|
เห็นพระพิมายหมอบราบมากราบกราน | | เชิญซึ่งพานท้องตรามาแต่กรุง
|
คนกองทัพรู้ข่าววิ่งกราวกรู | | อยากจะรู้วิ่งโลดกระโดดผลุง
|
ต่างคนมาคอยฟังนั่งกันมุง | | ใจเฟื่องฟุ้งชักพากันมาฟัง
|
ฝ่ายเจ้าพระยาแม่ทัพรับท้องตรา | | พร้อมบรรดานายทัพมาคับคั่ง
|
ฉีกผนึกอ่านเสียงสำเนียงดัง | | ในข้อบังคับคำล้ำวิไล
|
ให้กองทัพยับยั้งตั้งนี่ก่อน | | อยู่นครราชสีมาอย่าไปไหน
|
พวกกองทัพโยธีต่างดีใจ | | ได้กลับไปโคราชสมมาดปอง
|
ต่างเปรมปรีดิ์ดีใจจะได้กลับ | | นอนไม่หลับยินดีไม่มีสอง
|
ต่างคนเหิมใจฮึกนึกคะนอง | | บ้างโห่ร้องสักรวาเสภาอึง
|
ที่เหล่าคนเจ็บไข้ไปไม่รอด | | ครางออดออดคร้านเกียจนอนเหยียดขึง
|
ยินข่าวกลับโคราชหวาดคะนึง | | ลุกทะลึ่งหายไข้ได้ทันที
|
เจ้าคุณแจ้งทำนองในท้องตรา | | จึงปรึกษาปลื้มเปรมเกษมศรี
|
ว่าจะทำฉันใดไฉนดี | | ท้องตรามีบังคับให้กลับไป
|
ซึ่งนายทัพนายกองสนองตอบ | | ต่างเห็นชอบพร้อมกันเสียงหวั่นไหว
|
ด้วยต่างคนเปรมปรีดิ์คิดดีใจ | | อยากจะใคร่กลับโคราชไม่ขาดคน
|
ครั้นตีสิบเอ็ดทุ่มคนกลุ้มเกลื่อน | | ยกเขยื้อนกองทัพกลับพหล
|
หยุดพักระยะน้ำหลายตำบล | | ประจวบจนถึงโคราชมุ่งมาดมา
|
สู่ทำเนียบเกยพักสำนักก่อน | | สโมสรเกษมสันต์หรรษา
|
ต่างคนเป็นสุโขทั้งโยธา | | พร้อมถ้วนหน้าชุ่มชื่นต่างคืนคง
|
เมื่อวันหนึ่งจึงเจ้าคุณชำระเรื่อง | | อ้ายหกคนปล้นเมืองพุทไธสง
|
ผูกเฆี่ยนห้าสิบทีตีมันลง | | แล้วก็ส่งจำคุกให้ทุกข์ทน
|
มิให้เป็นเยี่ยงอย่างไปข้างหน้า | | พวกพาราเกะกะอกุศล
|
เฆี่ยนเป็นตัวอย่างไว้แก่ไพร่พล | | จะได้ยลเกรงระย่อไม่ก่อการ ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงวันสิ้นปีเดือนสี่สุด | | เป็นวันตรุษปรีดิ์เปรมเกษมศานต์
|
โอ้เราเอ๋ยจากมาก็ช้านาน | | จะประมาณหกเดือนไม่เคลื่อนคลาย
|
พวกชาวเมืองว้าวุ่นทำบุญทาน | | เกษมศานต์พร้อมพรั่งสิ้นทั้งหลาย
|
ล้วนแต่งตัวสวยฟ้อก่อพระทราย | | ทั้งหญิงชายพร้อมไปไพร่ผู้ดี
|
กองทัพฝ่ายเราก็ก่อพระทราย | | ทั้งไพร่นายปรีดิ์เปรมเกษมศรี
|
ต่างจัดคนมาทั่ววิ่งวัวดี | | เล่นกันที่หน้าทำเนียบเปรียบกันดู
|
เล่นกันถึงเงินทองต่อรองกัน | | วิ่งกันวันมากมายหลายหลายคู่
|
เหล่าฝูงคนคับคั่งมาพรั่งพรู | | ออกเกรียวกรูไม่เคยเห็นเล่นพนัน
|
พวกเมืองโคราชมาวิ่งน่าชม | | ชื่อว่าอ้ายเทียมลมตัวขยัน
|
มาวิ่งกับกองทัพรับพนัน | | วิ่งเดิมพันชั่งหนึ่งเสียงอึงอล
|
ชาวโคราชทำป๋อร้องต่อมี่ | | หกเอาสี่พวกเรารับร้องสับสน
|
โคราชหมายมีชัยไม่จำนน | | มันต่อล้นสองเอาหนึ่งเล่นถึงใจ
|
พอตัดเชือกปล่อยหางต่างวางวิ่ง | | มันเร็วจริงฉุยฉิวดูหวิวไหว
|
วัวกองทัพวิ่งดีก็มีชัย | | พอฉวยได้ธงแดงแกว่งให้ดู
|
วัวโคราชวิ่งแต่แพ้กองทัพ | | ต่างคนอัปยศแสนอดสู
|
พวกเราเฮฮาดังวิ่งพรั่งพรู | | บางคนรู้เต้นรำทำประจาน
|
บ้างหัวเราะเยาะเย้าพวกชาวเมือง | | นึกโกรธเคืองเมินหน้าไม่ว่าขาน
|
ชาวเมืองเสียเงินยับอัประมาณ | | สนุกสนานที่สุดเมื่อตรุษไทย ฯ
|
|
|
๏ ถึงเดือนสี่หกค่ำจำไว้สิ้น | | พระราชรินถึงพลันเสียงหวั่นไหว
|
เชิญท้องตราเสร็จถึงอีกหนึ่งใบ | | กองทัพได้แจ้งข้อวิ่งสอฟัง
|
เจ้าพระยาแม่ทัพรับท้องตรา | | พร้อมบรรดานายทัพอยู่คับคั่ง
|
กรมการพร้อมหน้าประดาดัง | | ไม่รอรั้งฉีกสารออกอ่านพลัน
|
ในสารตรามีมาถึงแม่ทัพ | | ให้ยกกลับคืนไปไอศวรรย์
|
ให้เร่งรัดจัดแจงดูแบ่งปัน | | ปัศตันกระสุนปืนคืนนคร
|
แต่ส่วนหนึ่งให้พระยามหาอำมาตย์ | | ตามพระราชดำริสั่งดังอักษร
|
กรมเขนทองขวาซ้ายนายนิกร | | พระราชวังบวรนั้นขึ้นไป
|
สมทบทัพกับพระยามหาอำมาตย์ | | อย่าให้ขาดริ้วทัพบังคับไข
|
จัดทำนาหาเสบียงพร้อมเพรียงไว้ | | อยู่ที่ในหนองคายจงหลายพัน
|
แล้งปีชวดอัฐศกได้ยกทัพ | | เข้าประจญรบรับให้คับขัน
|
อย่าให้ตั้งมั่วสุมชุมนุมกัน | | ในเขตขัณฑ์เมืองพวนให้ควรการ
|
กรมทหารอีกกองไปหนองคาย | | ทั้งไพร่นายสำหรับจัดหัดทหาร
|
ให้พวกลาวไวว่องคล่องชำนาญ | | ประจัญบานรบฮ่อต่อศักดา
|
แต่กรมพระสัสดีมิให้ขาด | | พระพิบูลย์พระชาติปีกซ้ายขวา
|
กรมเรือกันทั้งสองตามท้องตรา | | บังคับมาเสร็จสรรพให้กลับไป
|
แต่กรมพลพรรค์นั้นมีแจ้ง | | กรมแสงเสร็จสรรพบังคับไข
|
จงยกกลับพร้อมเพรียงคืนเวียงชัย | | ต่างดีใจได้สมอารมณ์ปอง
|
น่าสงสารพวกที่ต้องไปหนองคาย | | ทั้งไพร่นายง่วงเหงาจิตเศร้าหมอง
|
อนิจจาน่าสังเวชน้ำเนตรนอง | | ทุกหมวดกองเหงาหงอยโศกสร้อยครวญ
|
ข้างพวกเรานั้นไซร้จะได้กลับ | | ทั้งกองทัพฮาลั่นเสียงสันต์สรวล
|
เอิกเกริกเริงร่าน่าสำรวล | | แต่แล้วล้วนกลับคืนหน้าชื่นบาน
|
แต่เจ้าคุณแม่ทัพจะกลับถิ่น | | จิตถวิลใจพะวงคิดสงสาร
|
จะพลัดพรากจากไปอาลัยลาน | | เหล่าทหารที่จะต้องไปหนองคาย
|
เคยร่วมสุขทุกข์ยากจะจากกัน | | จะนับวันว่างเว้นำม่เห็นหาย
|
สงสารด้วยพหลพลนิกาย | | จะแพร่งพรายพลัดไปไกลกันดาร
|
แล้วท่านจัดพร้อมเพรียงเสบียงกรัง | | ขนมปังกินยืดทั้งจืดหวาน
|
ปลาซาดินอินทผาลำทั้งน้ำตาล | | ท่านเจือจานแจกจ่ายทุกนายพล
|
ทั้งพริกเกลือเยื่อเคยนมเนยนอก | | แล้วสั่งบอกไพร่มารับอยู่สับสน
|
ซึ่งข้าวของกองคละอยู่ปะปน | | ผู้คนขนคนละกองของดีดี ฯ
|
|
|
๏ ครั้นเดือนห้าล่วงเข้าขึ้นเก้าค่ำ | | เป็นวันกำหนดทัพกลับกรุงศรี
|
ทั้งนายไพร่สุขเกษมจิตเปรมปรีดิ์ | | เสียงอึงมี่พร้อมพรักคึกคักคน
|
พวกจะไปหนองคายผันผายมา | | เข้าอำลาคำนับน้อมจอมพหล
|
ต่างตรมตรองหมองมัวทุกตัวคน | | เนตรนองชลธาราให้อาวรณ์
|
ท่านเจ้าคุณออกรับสดับคำ | | ท่านก็ร่ำวาจังกล่าวสั่งสอน
|
แล้วเลยร่ำคำประภาษประสาทพร | | กล่าวสุนทรโดยตามความอาลัย
|
เดิมท่านอยู่พร้อมหน้าข้าพเจ้า | | บัดนี้เล่ามีกรรมทำไฉน
|
ต่างคนเราต่างจะห่างไป | | โดยแต่ในวันนี้ลับลี้กัน
|
พวกท่านไปได้ลำบากความยากเย็น | | จงให้เป็นสามัคคีดีขยัน
|
อย่าถือเปรียบตั้งปึ่งทำขึ้งกัน | | จงหมายมั่นราชการอย่าคร้านใจ
|
ต่างคนทำอำลาหน้าสลด | | ต่างกำสรดหม่นหมองไม่ผ่องใส
|
แสนโศกเศร้าโศกาด้วยอาลัย | | ต่างก็ไปเตรียมตัวทั่วทุกนาย
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพขยับย่าง | | มาขึ้นช้างพร้อมพหลพลทั้งหลาย
|
เหลียวหลังดูผู้ที่ต้องไปหนองคาย | | ท่านไม่วายอาวรณ์ถอนฤทัย
|
ครั้นได้ฤกษ์แล้วให้เบิกกระบวนทัพ | | ยกพลกลับพร้อมกันเสียงหวั่นไหว
|
พวกกองทัพโยธีต่างดีใจ | | ด้วยจะได้กลับบ้านสำราญมา
|
พวกชาวเมืองเนืองหน้าออกมาดู | | ยืนเป็นหมู่เรียงรายทั้งซ้ายขวา
|
บ้างตามส่งกองทัพจนลับตา | | ด้วยคบหารักใคร่พอใจกัน
|
เดินกองทัพมาทางโพกลางตรง | | พระสุริยงแสงสายรีบผายผัน
|
พ้นบ้านย่านยาวราวอรัญ | | มุ่งหมายมั่นที่พักสำนักพล
|
ครั้นถึงที่เขาลาดอาวาสใหญ่ | | หนุดอาศัยสำนักพักพหล
|
บ้างปลดม้าปลงช้างแล้วต่างคน | | อาศัยต้นร่มไม้ใบกำบัง
|
ท่านเจ้าคุณอาศัยในศาลา | | อยู่ยังอารามใหญ่ด้วยใจหวัง
|
พร้อมพหลโยธาประดาดัง | | เข้ายับยั้งอยู่หน้าพระอาราม
|
ท่านเจ้าคุณมีศรัทธาปัญญายง | | นิมนต์สงฆ์หวังผลกุศลสาม
|
ทั้งสี่วัดให้มาทั้งอาราม | | ด้วยมีความเจตนาศรัทธาทำ
|
เชิญพระบรมทนต์สู่บนพาน | | เครื่องสการแลสลอนวางซ้อนสำ
|
พระสงฆ์มาติกาครบพอจบคำ | | สมภารนำพระขยับสดับปกรณ์
|
เจ้าคุณถวายปัจจัยให้พระสงฆ์ | | ถ้วนทุกองค์นั่งรับสลับสลอน
|
แล้วแจกเงินศิษย์วัดจัดเป็นตอน | | ที่ฝึกสอนคิดเขียนร่ำเรียนมา
|
ครั้นเสร็จสรรพสดับปกรณ์แล้ว | | ก็คลาดแคล้วเข้าในไพรพฤกษา
|
ออกทุ่งเข้าทางกลางวนา | | พระสุริยาเย็นย่ำลงรำไร
|
ถึงหนองตะแบกหยุดพักสำนักแรม | | พระจันทร์แจ่มกระจ่างสว่างไสว
|
เอาเสื่อปูพรมลาดคาดผ้าใบ | | ที่อาศัยแห่งเจ้าคุณและมุลนาย
|
พวกกองทัพยับยั้งอยู่ทั้งสิ้น | | หุงต้มกินกันเป็นทิวหิวใจหาย
|
ครั้นเสร็จสรรพหลับนอนผ่อนสบาย | | พอจวนงายแสงสว่างกลางอัมพร
|
ก็เดินกองทัพมาคับคั่ง | | ไม่รอรั้งรีบรุดไม่หยุดหย่อน
|
ถึงสองเนินเดินทุ่งหมายมุ่งจร | | หยุดพักร้อนริมฝั่งน้ำลำตะคลอง
|
พวกชาวบ้านมาพร้อมพรั่งมาคั่งคับ | | หาสำรับจัดเอาซึ่งข้าวของ
|
ข้าวเหนียวปั้นปลาร้าผักต้มฟักทอง | | คนละสองสามชามตามกำลัง
|
เป็นมากมายเหลือเล่ห์คะเนนับ | | เคยได้รับเงินเฟื้องแต่เบื้องหลัง
|
จึงชักชวนกันมาประดาดัง | | มากกว่าครั้งคราก่อนเมื่อจรมา
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพนับเงินให้ | | พวกลาวได้สมมาดปรารถนา
|
คนกองทัพยกสำรับทั้งข้าวปลา | | ด้วยเวลาแสบท้องหาของกิน
|
เมื่อหยุดทัพโยธาพลากร | | ตะวันรอนอ่อนแสงพระสุรีย์สิ้น
|
ฝนชะอุ่มกลุ้มฟ้าเมฆาฆิน | | ผูกพร้อมหมดคชสินทร์กุญชรชาญ
|
เคลื่อนโยธีจากที่สำนักพัก | | ดูพร้อมพรักด้วยพหบพลทหาร
|
ต่างคนเริงรื่นชื่นสำราญ | | เดินไม่นานข้ามน้ำลำตะคลอง
|
ถึงทางแยกมรคาพระยาไฟ | | แยกหนึ่งไปพระยากลางเป็นทางสอง
|
ท่านเจ้าคุณการุณไพร่ด้วยใจปอง | | ได้ตรึกตรองไว้แต่เดิมเมื่อเริ่มมา
|
เพราะเห็นว่าวลาหกตกไม่ห่าง | | จะไปทางพระยาไฟเกรงไข้ป่า
|
ด้วยทางดงพระยาเย็นเป็นระอา | | กลัวโยธาเดินทางจะวางวาย
|
เมื่อขึ้นมาพหลมาป่นปี้ | | ถูกไข้ผีป่ากิ้นเสียสิ้นหลาย
|
เมื่อขากลับจะต้องกันอันตราย | | เดินอยกย้ายมรคาหามงคล
|
จึงได้ยกพลไพร่ไปโดยทาง | | พระยากลางถึงว่าจะต้องห่าฝน
|
ก็ไม่เกิดความไข้แก่ไพร่พล | | ทางไม่ย่นติดจะยาวถึงเก้าวัน
|
เดินทางมาในกลางพนาวาส | | ถึงยังเมืองโคราชดูคับขัน
|
เป็นเมืองแก่แต่บุราณมานานครัน | | เดี๋ยวนี้นั้นกลายเป็นชาวนาคร
|
เชิงเทินดินสูงเด่นเช่นผู้เฒ่า | | เป็นเมืองเก่าแรกสร้างแต่ปางก่อน
|
แข็งแรงกำแพงรอบขอบนคร | | ดูถาวรแต่งตั้งแต่ครั้งใด
|
เดินทัพเข้าทางผ่านกลางเมือง | | แลชำเลืองพฤกษาป่าไสว
|
ถามกรมการว่ากว้างทางเท่าไร | | พวกวัดได้ห้าสิบเส้นนับเป็นวา
|
เดินทางมาไม่นานประมาณครู่ | | ออกประตูตะวันตกรกพฤกษา
|
เจ้าคุณหยุดช้างอยู่ทำบูชา | | ซึ่งเทวาอารักษ์โดยภักดี
|
สิงสถิตที่เรืองในเมืองเก่า | | จงช่วยเป่าปัดร้ายในไพรศรี
|
อย่าให้โทษพารามายายี | | ให้โยธีกองทัพได้อับจน
|
ครั้นเสร็จทำบูชาศีลาเลื่อน | | รีบคลาเคลื่อนกองทัพมาสับสน
|
แสวงที่หยุดพักสำนักพล | | พระสุริยนเย็นย่ำลงรำไร
|
ครั้นถึงหนองบัวบานบ้านแก่นท้าว | | มีหนองยาวเวิ้งว้างทั้งกว้างใหญ่
|
ก็พักหยุดกองทัพโดยฉับไว | | เป็นสมัยมืดค่ำฝนพรำพรม
|
พวกชาวบ้านชักพากันมาวุ่น | | หาเจ้าคุณพูดสำเนียงยิ่งเสียงขรม
|
ว่าอยากเห็นเจ้าคุณบุญอุดม | | ขอเชยชมบุญญาบารมี
|
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพออกรับหน้า | | เอาเงินตราแจกลาวชาววิถี
|
แล้วพูดจาถามทักโดยภักดี | | พวกลาวลีลากลับไปฉับพลัน
|
ครั้นรุ่งแสงสุริยาฟ้าพะยับ | | ยกกองทัพเดินทางกลางไพรสัณฑ์
|
ไม่หยุดยั้งแรมราราวอารัญ | | พระสุริยันสายแสงแจ้งอัมพร ฯ
|
|
|
๏ ถึงบ้านหนองบัวมีที่ทำเนียบ | | หยุดประเทียบช้างสำนักเข้าพักผ่อน
|
หุงข้าวปลาหากินทินกร | | จะเร่งร้อนรีบเดินดำเนินพล
|
เพราะด้วยน้ำเบื้องหน้านั้นหายาก | | จะลำบากแก่สัตว์เพราะขัดสน
|
ซึ่งโคต่างช้างมาบรรดาคน | | จะอับจนด้วยน้ำจำครรไล
|
ครั้นเสร็จเสพโภชนาเวลาสาย | | ทั้งไพร่นายพร้อมกันเสียงหวั่นไหว
|
ก็เร่งผูกช้างม้ารีบคลาไคล | | ยกเข้าในป่ารังไม่รั้งรอ
|
ก็รีบเดินกองทัพมาฉับเฉียว | | ไม่ลดเลี้ยวมุ่งมาดมาปราดปร๋อ
|
น้ำไม่มีติดกระบอกจะกรอกคอ | | คนเดินท้อถอยหลังประทังตน
|
ทินกรร้อนนักบ่ายสักโมง | | ถึงวังโล่งหยุดสำนักพักพหล
|
มีแอ่งน้ำพอได้อาศัยคน | | แต่เต็มทนกล้ำกลืนเหม็นขื่นคาว
|
มีอีกแห่งหนึ่งลึกถึงวา | | กว้างสักห้าหกศอกน้ำออกขาว
|
มีน้ำพออาศัยไม่ใหญ่ยาว | | ปะเมื่อคราวมีการกันดารเดิน
|
เจ้าคุณบัญชาสั่งทั้งกองทัพ | | ท่านกำชับด้วยทางยังห่างเหิน
|
น้ำข้างหน้าหายากลำบากเกิน | | ใครอย่าเลินเล่อจิตชีวิตวาย
|
ตักน้ำใส่กระบอกไปจงให้ทั่ว | | สำหรับตัวจะได้กินสิ้นทั้งหลาย
|
ด้วยยามแล้งแห้งหมดจะอดตาย | | เร่งขวนขวายน้ำกรอกกระบอกไป
|
พวกกองทัพรับบัญชาหากระบอก | | บ้างตัดไม่ไผ่ปอกอยู่ขวักไขว่
|
เสียงเปาะเปกโปกปากถากไวไว | | คนละใบสองกระบอกเสียงออกอึง
|
ต่างหาน้ำเตรียมตัวทั่วทุกหมู่ | | หยุดพักอยู่วังโล่งสักโมงครึ่ง
|
สำเร็จกิจทั้งหลายวายคะนึง | | เสร็จแล้วจึงออกเดินดำเนินพล
|
เจ้าคุณมาบนช้างทางคะนึง | | ร่ำบ่นถึงเทวดาขอฟ้าฝน
|
ด้วยมาที่แคบคับจวนอับจน | | ด้วยขัดสนด้วยน้ำคิดรำพึง
|
แล้วคิดถึงคุณทูลกระหม่อมพระจอมเกล้า | | ระลึกเอาเป็นต้นเฝ้าบ่นถึง
|
ด้วยเป็นที่นับถือไม่ดื้อดึง | | โปรดนำซึ่งวลาหกมาตกลง
|
ได้อาศัยน้ำฝนคนและสัตว์ | | ไม่ข้องขัดสมตามความประสงค์
|
จะได้ดับคับแค้นในแดนดง | | ขอฝนจงตกให้ทันในวันเดียว
|
ก็เร่งเดินรีบรุดไม่หยุดหย่อน | | ถึงบ้านใหม่แกงร้อนโดยฉับเฉียว
|
พอเกิดลมบ้าหมูมากรูเกรียว | | พอฝนเขียวลมปลิวละลิ่วลอย ฯ
|
|
|
๏ ถึงทำเนียบช้างประเทียบประทับพัก | | หยุดสำนักที่ทำเนียบรอพอสักหน่อย
|
พิรุณร่วงรุดโรยลงโปรยปรอย | | ฝูงคนคอยมุ่งมองที่รองราย
|
พอสักครู่ซู่ซ่าลงมาใหญ่ | | ต่างรองได้น้ำฝนคนละหลาย
|
คนและสัตว์น้อยใหญ่ได้สบาย | | ครั้นฝนหายเหือดพลันในทันใด
|
ที่ท้องห้วยลำธารในย่านหนทาง | | ท่วมท้องช้างลงพังพาบอาบอาศัย
|
ทั้งช้างโคกล้ำกลืนได้ชื่นใจ | | มีแรงไปภายหน้าได้วาริน ฯ
|
|
|
๏ พอเช้ามืดตีสิบเอ็ดพร้อมเสร็จสรรพ | | ยกกองทัพเดินไปในไพรสิน
|
รีบเร่งเดินลัดหลีกดังปีกบิน | | ตั้งพักกินข้าวปลาข้างหน้าทาง
|
ครั้นอรุณรุ่งฟ้าเวลาเช้า | | เกือบจะเข้าปากดงตรงสว่าง
|
ก็เดินดงตรงผ่าพระยากลาง | | ในหนทางรกหนาลดาวัลย์
|
ในดงทึบดูทั่วคลุ้มมัวมืด | | เป็นพงพืดซ้อนซับทางคับขัน
|
เร่งรีบเดินเพลินมาในอารัญ | | รีบผายผันโดยยากออกปากดง
|
สักสามโมงเศษสังเกตไว้ | | ก็พ้นพงดงใหญ่ไพรระหง
|
เดินเลียบเนินเขาใหญ่ไถลลง | | หนทางตรงรีบเดินดำเนินพล
|
ข้ามเขาเหวตาบัวน่ากลัวโข | | ดูใหญ่โตสูงเยี่ยมเทียมเวหน
|
มีเขาใหญ่สูงชันอยู่ชั้นบน | | แลเหลือบยลแหงนฟ้าดูตาลาย
|
จำเพาะมีมรคาสองวาศอก | | แลเป็นหมอกมืดมิดใจจิตหาย
|
ข้างขวามือเขาชันกีดกั้นราย | | ข้างเบื้องซ้ายเหวลึกคิดนึกกลัว
|
จะลึกสักเท่าไรเร่าไม่รู้ | | ไม่อาจดูขนพองสยองหัว
|
แม้นตกลงคงเหลวเหวตาบัว | | ระวังตัวพลัดตกหกคะมำ
|
หนทางเดินลึกไกลไถลตรง | | กลัวช้างลงเดินเลียบเหยียบถลำ
|
ช้างเดินลากขาหลังมันช่างทำ | | กูบเอียงคว่ำข้างหน้าเมื่อขาลง
|
ถึงที่ต่ำข้ามลำพระยากลาง | | เข้าเดินทางทิวไม้ไพรระหง
|
เข้าแขวงเมืองบัวชุมเห็นพุ่มพง | | ตัดทางตรงมาทำเนียบประเทียบพัก
|
อยู่เชิงเขาบังเหยลมเชยฉ่ำ | | ริมฝั่งน้ำพระยากลางต่างประจักษ์
|
คนหิวจริงวิงเวียนเจียนจะชัก | | ถึงบ่ายสักสามโมงท้องโล่งมา
|
ด้วยอดข้าวเช้าหิวใจหวิววุ่น | | จิตฉิวฉุนโมโหเกิดโทสา
|
บ้างทิ้งหาบผลุงหุงข้าวแล้วเผาปลา | | พวกโยธาพักผ่อนอ่อนกำลัง
|
เลยพักแรมอยู่นั้นไม่ผันผาย | | ด้วยวัวควายช้างม้าเดินล้าหลัง
|
ไม่รีบรุดหยุดหย่อนผ่อนประทัง | | ก็ยับยั้งที่นั่นไม่ผันแปร
|
ครั้นพลบค่ำสนธยาย่ำราตรี | | นั่งชมสีแสงสว่างกระจ่างแข
|
ค่อยส่างโศกโรครำคาญฤดานแด | | อากาศที่นี่ดีแท้หอมรื่นรวน
|
ลมพระพายชายเชยรำเพยผิว | | เย็นฉิวฉิวน้ำค้างพรมเมื่อลมหวน
|
หอมระเรื่อยเฉื่อยฉ่ำกลิ่นลำดวน | | เมื่อจะจวนรุ่งแจ้งแสงหิรัญ
|
พอสว่างสุริยาส่องอากาศ | | เสร็จคลาคลาดกองทัพโดยคับขัน
|
เดินทางมรคาพนาวัน | | พระสุริยันแรงร้อนอ่อนกำลัง
|
ข้ามลำพระยากลางเรียกว่าท่ามะกอก | | แล้วเดินออกทุ่งใหญ่ด้วยใจหวัง
|
พินิจชมพฤกษาล้วนป่ารัง | | แลสะพรั่งดูเพลินจำเริญใจ
|
ข้ามลำพระยากลางชื่อว่าท่ามะกอ | | ก็หยุดรอพักร้อนผ่อนอาศัย
|
ครั้นอ่อนแสงสุริยาก็คลาไคล | | ยกครรไลออกทางชมยางยูง
|
ข้ามลำน้ำสันนทีต้องปริปาก | | ช้างเดินยากจริงจริงตลิ่งสูง
|
ลางคนเดินจดจ้องบ้างต้องจูง | | ที่เหล่าฝูงคนเดินเกินระอา ฯ
|
|
|
๏ ถึงท่าปูนแรมสำนักพักอยู่ที่นั่น | | ครั้นสุริยันสว่างกลางเวหา
|
ก็ออกเดินกองทัพคับคั่งมา | | กำนันพานำทางไม่คลางแคลง
|
เข้าป่ารังบังร่มพระสุริยน | | เสร็จเดินพลข้ามลำแม่น้ำแห้ง
|
เรียกลำสันนทีใหญ่ไม่ระแวง | | บ้านประแดงจองกอพอกลางวัน ฯ
|
|
|
๏ ถึงท่าฉางลำสักหยุดพักร้อน | | สโมสรปรีดิ์เปรมเกษมสันต์
|
เหล่ากรมการเมืองบัวชุมมากลุ้มกัน | | ของกำนัลมาคำนับรับเจ้าคุณ
|
เจ้าพระยาแม่ทัพออกรับรอง | | ซึ่งข้าวของกำนัลไม่หันหุน
|
ท่านนับเงินตราให้ช่วยใช้ทุน | | มิให้บึญคุณติดด้วยคิดอาย
|
ซึ่งข้าวสารราคาตั้งให้ถังหนึ่ง | | สองสลึงราคาชาวนาขาย
|
ซ้ำแจกเงินให้เขาท้ังบ่าวนาย | | ทั้งหญิงชายตามประดามาด้วยกัน
|
อีกเสื้อผ้าแจกให้ขอบใจเขา | | คิดจะเอาบุญคุณไม่หุนหัน
|
กรมการดีใจได้รางวัล | | แล้วผายผันเสร็จกลับคำนับลา
|
ครั้นว่าบ่ายลมตกยกขยับ | | เดินกองทัพเข้าในไพรพฤกษา
|
เห็นเขาใหญ่ขวางกั้นอรัญญา | | ชื่อเขาตากลิ้งขวางหนทางจร
|
เห็นคิรีดีแท้แลคล้ายคล้าย | | นึกไม่วายหายกริ่งรูปสิงขร
|
แลแต่ไกลชอบกลเหมือนคนนอน | | มีกายกรไหล่หัวตัวและมือ
|
เขาว่าสังกรณีตรีชวา | | บนยอดผาตากริ่งมีจริงหรือ
|
เป็นแต่คำคนเขามาเล่าลือ | | หาตัวคือใครได้ก็ไม่มี ฯ
|
|
|
๏ ถึงท่าสำโรงสำลักจวนจักค่ำ | | ต่างข้ามน้ำปลื้มเปรมเกษมศรี
|
ข้ามตรงตื้นพื้นทรายสบายดี | | ดูวารีใสสะอาดมีหาดทราย
|
เขาว่ามีจระเข้เดรัจฉาน | | ตัวประมาณโตใหญ่ดุใจหาย
|
ถ้ำมันเนาอยู่ในเขาตากับยาย | | ด้วยเชิงชายเขายั้งกระทั่งธาร
|
เสร็จข้ามน้ำลำสักหยุดพักเนา | | ริมเชิงเขาตากับยายชายละหาน
|
เข้าเขตแขวงเมืองไทยไชยบาดาล | | กรมการมาคำนับคอยรับรอง
|
พักแรมทัพอยู่ที่นั่นไม่ผันผาย | | ครั้นจวนงายพร้อมพรั่งพลทั้งผอง
|
จวนอรุณรุ่งแจ้งเรื่อแสงทอง | | ออกเดินกองทัพใหญ่ครรไลจร
|
ถึงที่ห้วยเดินข้ามถึงสามแห่ง | | สุริย์แสงส่องฟ้าระอาอ่อน
|
กึ่งท่าลาวลำสักพักนิกร | | สำนักผ่อนพอประทังกำลังตน
|
เหล่าพวกชาวนิคมกรมการ | | ในเมืองไชยบาดาลมาสับสน
|
พร้อมทั้งบ่าวทั้งนายมาหลายคน | | ด้วยกังวนคอยรับกองทัพมา
|
เจ้าคุณแจกเงินให้ไม่เสียดาย | | ทั้งบ่าวนายสมมาดปรารถนา
|
บ่ายลมตกเดินได้ก็ไคลคลา | | ยกโยธากองทัพเลยลับไป
|
ถึงบ้านโคกถลุงเป็นทุ่งกว้าง | | คนมาสร้างเคหาอยู่อาศัย
|
มีเรือนหลายสิบหลังชั่งกระไร | | มาอยู่ในกลางป่าทำนากิน
|
เจ้าคุณเลือกเงินขาวขาวแจกชาวบ้าน | | กระทำทานสุดจะนับเสียทรัพย์สิน
|
ชาวบ้านได้เงินตราไม่ราคิน | | ต่างคนยินดีได้ดังใจจง ฯ
|
|
|
๏ ครั้นกองทัพล่วงพ้นตำบลบ้าน | | เข้าเชิงชานเขาใหญ่ไพรระหง
|
เป็นเหลี่ยมคูลดหลั่นสูงชันตรง | | ชื่อเขาพระยาเดินธงอยู่ริมทาง
|
เข้าประเทศเขตเบื้องเมืองพระบาท | | รีบคลาคลาดพ้นเขาลำเนาขวาง
|
ล้วนป่าไม้ใหญ่สูงต้นยูงยาง | | ต้นแคคางเคี่ยมมะค่าพญารัง
|
ครั้นถึงหนองกระดี่ที่สำนัก | | ก็แรมพักหยุดทัพคนคับคั่ง
|
ล้วนอ่อนพับหลับนอนอ่อนประทัง | | ครั้นรุ่งรังสีสว่างกระจ่างพราว
|
เสร็จคลาเคลื่อนเขยื้อนยกขยับ | | เดินกองทัพโยธีเสียงมี่ฉาว
|
เหล่าคนเดินพรั่งพรูมากรูกราว | | เสียงฝีเท้าคนสะเทื้อนเมื่อเคลื่อนคลา
|
เข้าปากดงวังส้มร่มชอุ่ม | | ด้วยยางพุ่มไสวใบพฤกษา
|
บังแฝงแสงสีสุริยา | | ที่ในป่าดงคลุ้มชอุ่มมัว
|
ศิลาหลายอย่างต่างต่างสี | | อยู่ในพื้นปฐพีตลอดทั่ว
|
มาตั้งทำหินได้แล้วไม่กลัว | | คงเอาตัวรอดได้เห็นไม่จน
|
ไม่ต้องใช้หินฝรั่งแล้วครั้งนี้ | | เมืองไทยมีมากถนัดไม่ขัดสน
|
ถ้าทำวังทำวัดแล้วจัดคน | | ขึ้นมาขนส่งไปเห็นได้การ
|
ด้วยหินอ่อนลายสะอาดประหลาดเหลือ | | งามทั้งเนื้อละเอียดดีสีสัณฐาน
|
มีมากมายหลายล้นพ้นประมาณ | | จะทำบ้านปูวัดไม่ขัดเลย
|
เจ้าคุณให้คนสำรวจตรวจดูทั่ว | | เก็บเอาตัวอย่างมาไม่ชาเฉย
|
ให้พวกช่างหินดูที่ผู้เคย | | ก็ชมเชยเนื้อศิลาไม่ราคิน ฯ
|
|
|
๏ มาถึงดงบ่อทองมองเขม้น | | ไม่แลเห็นทองจิตคิดถวิล
|
เขาว่ามีอยู่ในใต้แผ่นดิน | | แต่ล้วนหินคนจะขุดก็สุดแรง
|
แต่ก่อนมาคนปองขุดทองคำ | | ครั้นทำทำขุดพบกระทบแข็ง
|
ทั้งโตทั้งหนาศิลาแดง | | เอาชะแลงเข้าขุดสุดกำลัง
|
สิ้นมานะจึงได้ละไม่ลงขุด | | เพราะสิ้นสุดความคิดที่จิตหวัง
|
คนเราทุกวันนี้ไม่อินัง | | ทองอยู่ทั้งดงใหญ่ไม่นำพา ฯ
|
|
|
๏ ครั้นถึงที่โป่งตะแบกไม่แยกย้าย | | เดินเลียบชายเขาไศลใหญ่หนักหนา
|
อยู่กลางแจ้งบังแสงพระสุริยา | | สูงเยี่ยมฟ้าแลเป็นควันยอดบรรพต
|
ครั้นออกจากชายดงเดินตรงมา | | ถึงที่โคกตากฟ้าร้อนปรากฏ
|
เดินกองทัพฉับเฉียวไม่เลี้ยวลด | | รีบขับคชสารเป็นการไว
|
ครั้นถึงพุกำจานมีธารน้ำ | | เข้าหยุดสำนักร้อนผ่อนอาศัย
|
พออ่อนแสงสุริยาก็คลาไคล | | เร่งครรไลรีบร้นมาลนลาน
|
มาถึงที่พุทธบาทสมมาดหมาย | | ทั้งไพร่นายปรีดิ์เปรมเกษมศานต์
|
ต่างคนเอิกเกริกใจเบิกบาน | | และเข้านมัสการพระบาทา
|
พวกชาวบ้านพร้อมพรั่งมานั่งราย | | หวังจะขายเทียนธูปและบุปผา
|
ฝ่ายเจ้าเมืองกรมการลนลานมา | | คลานเข้าหาเจ้าคุณอยู่วุ่นวาย
|
จับปลาแห้งแตงกวามาคำนับ | | เจ้าคุณรับขอบใจเขาไม่หาย
|
หยิบผ้าเสื้อแจกให้ไม่เสียดาย | | ทั้งบ่าวนายแจกเงินให้ดังใจจง
|
พักแรมหยุดอยู่ที่พุทธบาทนั้น | | หวังจะวันทาตามความประสงค์
|
ด้วยท่านเจ้าคุณคิดมีจิตจง | | หวังจำนงในมนัสนมัสการ
|
ครั้นพร้อมดวงพระหลวงทั้งปวงแล้ว | | ก็คลาดแคล้วขึ้นไปในสถาน
|
เข้าในโบสถ์บวรรัตน์ชัชวาลย์ | | หัตถ์ประสานโดยสุภาพกราบวันทา
|
แล้วอาราธนาพระสงฆ์มาองค์หนึ่ง | | สำแดงซึ่งธรรมวิเศษเทศนา
|
ครั้นเคารพจบคำพระธรรมา | | ถวายผ้ากับปัจจัยไทยทาน
|
แล้วนิมนต์สงฆ์มาทั้งอาวาส | | วัดพระบาทด้วยศรัทธาท่านกล้าหาญ
|
เชิญพระทนต์ขึ้นเสร็จเสด็จพาน | | แล้วกราบกรานบังคมบรมทนต์
|
นิมนต์สงฆ์ทรงสดับปกรณ์ | | แลสลอนพระอันดับนั่งสับสน
|
ถวายปัจจัยพระไม่ปะปน | | แล้วแจกคนผู้รักษาพระบาโท
|
เสร็จสรรพกลับมาสู่สำนัก | | ที่แรมพักผ่อนทุกข์เย็นสุโข
|
ครั้นจวนแจ้งแสงสีสุริโย | | จวนอโณทัยแล้วคลาดแคล้วจร
|
ออกทางหลวงล่วงพ้นไม่วนวก | | ถึงศาลเจ้าเขาตกเชิงสิงขร
|
เจ้าคุณเสร็จผันผายถวายพร | | แล้วรีบร้อนเร่งเดินดำเนินพล ฯ
|
|
|
๏ มาถึงบางโขมดเห็นโบสถ์วัด | | เจ้าคุณศรัทธาใคร่ได้กุศล
|
ดำริพลางบัญชาใช้สั่งให้คน | | ไปนิมนต์สงฆ์มาข้างอาราม
|
ถวายเงินแก่พระสงฆ์องค์ละบาท | | ไม่หวั่นหวาดตระหนี่จิตจะคิดขาม
|
เด็กศิษย์วัดแจกให้เปลืองเงินเฟื้องงาม | | ด้วยมีความศรัทธาปัญญาชาญ ฯ
|
|
|
๏ ครั้นมาถึงท่าเรือเหลือวิเศษ | | สว่างเนตรเหมือนถึงซึ่งสถาน
|
ประดุจดังได้สบพ้องพบพาน | | ซึ่งบุตรหลานภรรยาที่ราแรม
|
ต่างคนต่างดีใจด้วยไกลบ้าน | | เกษมศานต์สุกใสหัวใจแจ่ม
|
บ้างพบปะพวกพ้องร้องอ๊ะแฮม | | บ้างยิ้มแย้มทายทักรู้จักกัน
|
ชาวท่าเรือที่พวกพ้องต้องไปทัพ | | ยืนคอยรับลูกผัวตัวกระสัน
|
ได้ปะพบกันใหม่ใหม่ชื่นใจครัน | | บางคนนั้นคอยเปล่ายืนเศร้าใจ
|
พอเขาบอกว่าผัวของตัวตาย | | ลงทอดกายกลิ้งซบสลบไสล
|
บ้างโหยหวนครวญคร่ำแล้วร่ำไร | | ด้วยผัวไปกองทัพไม่กลับมา
|
บ้างมีชู้รู้ว่าเจ้าผัวตาย | | ทำฟูมฟายร่ำไรร้องไห้หา
|
ทำตรอมตรมซมซานด้วยมารยา | | กลัวแต่ว่าผัวหายไม่ตายจริง
|
แต่ที่แท้นิยมอยากชมชู้ | | ถ้าผัวอยู่กลัวจะนุ่งเกิดยุ่งยิ่ง
|
เขาบอกว่าผัวตายวายประวิง | | นึกกริ่งกริ่งร้องไห้กลัวไม่ตาย ฯ
|
|
|
๏ ครั้นมาถึงศาลาท่าสมเด็จ | | เจ้าคุณเสร็จจรจรัลรีบผันผาย
|
ต่างคนลงปลงช้างของวางราย | | มุ่งมาดหมายอาศัยในศาลา
|
ด้วยไม่มีนาวาขึ้นมารับ | | ต้องแรมทัพรอคอยละห้อยหา
|
คอยดูเรือมารับยิ่งลับตา | | จนเวลาเทศกาลสงกรานต์ไทย
|
ต้องอยู่ที่ศาลาใหญ่หาเรือ | | รำคาญเหลือหม่นหมองไม่ผ่องใส
|
ยามสงกรานต์ไม่เป็นสุขสนุกใจ | | สักเมื่อไรเรือจะมาคอยท่านาน
|
ณวันหนึ่งเรือถึงมาทอดท่า | | ล้วนนาวาจอดเรียงเคียงขนาน
|
เรือขึ้นมาสอสอเกินพอการ | | ด้วยพวกบ้านหมายใจจะไม่พอ
|
เรือโตโตขึ้นมาเป็นว่าเล่น | | เจ้าคุณเห็นตกใจนี่ใครหนอ
|
จัดเรือแพมาชั่งไม่รั้งรอ | | เหมือนเงินบ๋อกระเป๋าอู๋ไม่รู้การ
|
มิหมายใจว่าเราได้ของกำนัล | | คงสำคัญใจจิตคิดวิตถาร
|
จะมีอะไรด้วยไปราชการ | | คำโบราณขาว่าตำรามี
|
ไม่เห็นน้ำรีบรัดตัดกระบอก | | จะต้องออกแรงแบกแหวกวิถี
|
กระเป๋าอู๋เงินบ๋อก็พอดี | | สมกับที่จัดเรือมาเหลือพาย
|
ครั้นเรือแพนาวาพร้อมมาเสร็จ | | วันแรมเจ็ดค่ำเดือนห้าเวลาสาย
|
ท่านเจ้าคุณจัดแจงตบแต่งกาย | | เสร็จผันผายสู่ท่านาวาพลัน
|
เจ้าคุณลงแล้วบอกให้ออกแจว | | ต่างคลาดแคล้วปรีดิ์เปรมเกษมสันต์
|
เรือมาคว้างคว้างพอกลางวัน | | ถึงวังจันทเกษมต่างเปรมปรีดิ์
|
แลเห็นเรือกลไฟพระภัยรัตน์ | | ท่านได้จัดขึ้นมารับประทับท่า
|
ฝ่ายว่าเจ้าคุณท่านมีบัญชา | | เข้าจอดหน้าวังจันท์ด้วยทันที
|
แล้วให้หากรมการเจ้าบ้านเมือง | | มาแจ้งเรื่องกองทัพกลับกรุงศรี
|
ตามแบบอย่างราชการบุราณมี | | ด้วยบัดนี้กองทัพจะกลับไป
|
ด้วยว่ามีท้องตราให้หากลับ | | บอกคำนับชี้แจงแถลงไข
|
แล้วเสร็จออกนาวาล่วงคลาไคล | | เรือกลไฟจูงมาในสาคร
|
ถึงวัดเชิงจอดประทับเข้ากับท่า | | แวะนาวาจอดเรียงเคียงสลอน
|
เจ้าคุณขึ้นจ้องจดบทจร | | ชุลีกรพระใหญ่ด้วยใจจง
|
แล้วเชิญพระบรมทนต์ขึ้นบนวัด | | ด้วยจิตศรัทธาปลื้มไม่ลืมหลง
|
แจกเงินให้ผู้เฝ้าเหล่าเฮียกง | | นิมนต์สงฆ์หมดมาทั้งอาราม
|
สดับปกรณ์พระทนต์ยุคลบาท | | พระจอมปราชญ์ซึ่งบำรุงกรุงสยาม
|
ถวายแผ่อุทิศผลกุศลตาม | | เพราะด้วยความกตัญญูรู้พระคุณ
|
ครั้นสำเร็จเสร็จตรงลงนาวา | | เรือไฟพาอีกพักใบจักรหมุน
|
ผลักเรือออกกลางน้ำถ่อค้ำจุน | | ควันไฟกรุ่นกลุ้มมาในสาคร
|
เรือละลิ่วลิ่วมาเวลาสาย | | แสนสบายสุโขสโมสร
|
ไม่แวะเวียนแห่งใดครรไลจร | | เร่งรีบร้อนเรือเรื่อยแล่นเฉื่อยมา
|
เรือเลยพ้นออกจากคลองปากเกร็ด | | เจ้าคุณเข็ดคนจะครหา
|
เพราะด้วยการท่านไปทางไกลมา | | ไม่เห็นว่ามีสิ่งใดไปให้ปัน
|
บัญชาให้เรือฉุดรอหยุดจักร | | เข้าจอดพักด้วยอายไม่ผายผัน
|
จะรีบรัดขัดขวางเป็นกลางวัน | | ด้วยกระชั้นถึงบ้านรำคาญใจ
|
เข้าจอดรอให้ย่ำค่ำสักหน่อย | | จึงจะค่อยไปให้ถึงจึงจะได้
|
ครั้นจอดอยู่ช้านานรำคาญใจ | | แล้วเลยไปท่าอิฐคิดบรรเทา
|
ด้วยมะปรางท่าอิฐติดจะลือ | | จะต้องซื้อไปให้มากได้ฝากเขา
|
แม้นใครทวงออกปากของฝากเรา | | จะต้องเอามะปรางให้เห็นได้การ
|
เที่ยวถามซื้อมะปรางใหญ่ก็ไม่พบ | | แจวจนจบทั่วสิ้นพ้นถิ่นบ้าน
|
ด้วยจวนวายคลายผลไม่ทนทาน | | มะปรางหวานหน้านี้ไม่มีโต
|
ครั้นจวนเย็นแล้วก็กลับมาฉับพลัน | | ด้วยตะวันจวนจักบ่ายอักโข
|
สั่งเรือไฟให้ลอยปล่อยบุโล | | ออกแล่นโร่รีบมาเวลากาล ฯ
|
|
|
๏ ถึงกรุงเทพทวาราเวลาเย็น | | พอแลเห็นปรีดิ์เปรมเกษมศานต์
|
ด้วยไปทัพกลับมานั้นช้านาน | | จะประมาณเจ็ดเดิอนไม่เคลื่อนคลาย
|
ถึงเดือนห้าแรมแปดค่ำถ้วนคำรบ | | พอดีครบเจ็ดเดือนเหมือนยังหมาย
|
จิตเอิบอิ่มมาในเรือเหลือสบาย | | ค่อยวางวายทุกข์ใจอาลัยวรณ์ ฯ
|
|
|
๏ จบฉบับทัพเรื่องเมืองหนองคาย | | สิ้นจดหมายแกมนิราศคลาดสมร
|
ซึ่งตัวข้าผู้แต่งแสดงกลอน | | ขออวยพรแต่งไว้เรื่องไปทัพ
|
ล้วนความจริงไม่แกล้งมาแต่งปด | | ได้จำจดผูกพันจนวันกลับ
|
ถึงความร้ายการดีที่ลี้ลับ | | ได้สดับเรื่องหมดจำจดมา
|
ซึ่งบางพวกไม่ได้ขึ้นไปทัพ | | บางคนกลับผูกจิตริษยา
|
แล้วกล่าวโทษติฉินแกล้งนินทา | | ขอดค่อนว่ากองทัพเสียยับเยิน
|
ที่เหล่าพวกหูป่าตากะสือ | | ฟังเขาลือเชื่อใจมิได้เขิน
|
พูดเสริมส่งเลยล้นไปจนเกิน | | อย่าด่วนเพลินเผลอพร่ำพูดลำพัง
|
คอยผูกใจผูกจิตคอยอิจฉา | | แอบนินทากองทัพอยู่ลับหลัง
|
ถ้าใครอยากรู้สิ่งที่จริงจัง | | จงวานฟังข้อคำที่รำพัน
|
ทำอย่างนั้นผิดอย่างนี้ที่ตรงไหน | | ตัดสินให้เที่ยงแท้อย่าแปรผัน
|
ช่วยตรึกตรองตั้งใจให้เป็นธรรม์ | | อย่าชวนกันนินทามุสาตาม
|
จงไล่เลียงสืบสวนให้ถ้วนถี่ | | ก็ย่อมมีผู้คนไปล้นหลาม
|
อย่ากล่าวโทษโฉดเขลาว่าเบาความ | | พูดซุ่มซ่ามโดยเดาเปล่าเปล่าเอย ฯ
|
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment