Latest News

Wednesday, June 26, 2013

สุภาษิตเรื่อง สวิสดิรักษา (สุนทรภู่)



สุภาษิตเรื่อง สวิสดิรักษา สุนทรภู่แต่งถวายสมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์พระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมอบพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ ให้เป็นศิษย์ศึกษาอักษรสมัยในสำนักสุนทรภู่ สันนิษฐานว่า แต่งขึ้นเมื่อปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๔ ถึงปี พ.ศ. ๒๓๖๗


๏ สุนทรทำคำสวัสดิรักษา
ถวายพระหน่อบพิตรอิศรา
ตามพระบาลีเฉลิมให้เพิ่มพูน
เป็นของคู่ผู้มีมีอิสริยยศ
จะปรากฏเกิดลาภไม่สาบสูญ
สืบอายุสุริย์วงศ์พงศ์ประยูร
ให้เพิ่มพูนภิญโญเดโชชัย
อย่าลืมหลงจงอุตส่าห์รักษาสิริ
ตามคติโบราณท่านขานไข
ว่าเช้าตรู่สุริโยอโณทัย
ตื่นนอนให้ห้ามโมโหอย่าโกรธา
ผินพักตร์สู่บูรพ์ทิศแลทักษิณ
เสกวารินด้วยพระธรรมคาถา
ที่นับถือคือพระไตรสรณา
ถ้วนสามคราจึงชำระสระพระพักตร์
แล้วเอื้อนอรรถตรัสความที่ดีก่อน
จะถาวรพูนเกิดประเสริฐศักดิ์
ด้วยราศีที่ชะลอนรลักษณ์
อยู่พระพักตร์แต่ทิวาเวลากาล
ยามกลางวันนั้นว่าพระราศี
สถิตที่วรองค์ให้สรงสนาน
พระอุระประสุคนธ์วิมลมาลย์
จะสำราญโรคาไม่ราคี
ครั้นพลบค่ำคล้ำฟ้าสุธาวาส
ฝ่ายเบื้องบาทซ้ายขวาเป็นราศี
จงรดน้ำชำระซึ่งราคี
ห้ามสตรีอย่าให้พาดบาทยุคล
เสวยนั้นผันพระพักตร์ไปบูรพ์ทิศ
เจริญฤทธิ์ชันษาสถาผล
แม้นผินพักตร์ทักษิณถิ่นมณฑล
ไม่ขาดคนรักใคร่เวียนไปมา
ทิศประจิมอิ่มเอมเกษมสุข
บรรเท่าทุกข์ปรากฏด้วยยศถา
แต่ทิศเหนือเหลือร้ายวายชีวา
ทั้งชันษาทรุดน้อยถอยทุกปี ฯ
๏ อนึ่งนั่งบังคนอย่ายลต่ำ
อย่าบ้วนน้ำลายพาเสียราศี
ผินพักตร์สู่อุดรประจิมดี
ไม่ต้องผีคุณไสยพ้นภัยพาล
แล้วสรงน้ำชำระพระนลาฏ
จึงผุดผาดผิวพรรณในสัณฐาน
เสด็จไหนให้สรงชลธาร
เป็นฤกษ์พารลูบไล้แล้วไคลคลา ฯ
๏ อนึ่งพระองค์ทรงเจริญเพลินถนอม
อย่าให้หม่อมห้ามหลับทับหัตถา
ภิรมย์รสอตส่าห์สรงพระคงคา
เจริญราศีสวัสดิ์ขจัดภัย ฯ
๏ อนึ่งวันชำระสระพระเกล้า
อังคารเสาร์สิ้นวิบัติปัดไถม
ตัดเล็บวันพุธจันทร์กันจังไร
เรียนสิ่งใดวันพฤหัสสวัสดี ฯ
๏ อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รา
ให้มีครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี
วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี
เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล
เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว
จะยืนยาวชันษาสถาผล
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน
เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี
เครื่องวันพุธสุดดีด้วยสีแสด
กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี
วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม
วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ
แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม
หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม
ให้ต้องตามสีสันจึงกันภัย ฯ
๏ อนึ่งว่าถ้าจะลงสรงสนาน
ทุกห้วยธารเถื่อนถ้ำแลน้ำไหล
พระพักตร์นั้นผันล่องตามคลองไป
ห้ามมิให้ถ่ายอุจจาร์ปัสสาวะ
อย่าผินหน้าฝ่าฝืนขึ้นเหนือน้ำ
จะต้องรำเพรำพัดซัดมาปะ
เมื่อสรงน้ำสำเร็จเสร็จธุระ
คำนับพระคงคาเป็นอาจิณ ฯ
๏ อนึ่งวิชาอาคมถมถนำ
เวลาค่ำควรคิดเป็นนิจศีล
จึงศักดิ์สิทธิ์ฤทธิรณพ้นไพริน
ให้เพิ่มภิญโญยศปรากฏไป ฯ
๏ อนึ่งสุนัขมักเฝ้าแต่เห่าหอน
อย่าขู่ค่อนด่าว่าอัชฌาสัย
เสียสง่าราศีมักมีภัย
คนมิได้ยำเยงเกรงวาจา
อนึ่งเขฬะอย่าถ่มเมื่อลมพัด
ไปถูกสัตว์เสื่อมมนต์ดลคาถา
อนึ่งพบปะพระสงฆ์ทรงศีลา
ไม่วันทาถอยถดทั้งยศทรัพย์
อนึ่งอย่าว่าแดดแลลมฝน
อย่ากังวลเร่งวันให้พลันดับ
เมื่อเช้าตรู่สุริยงจะลงลับ
จงคำนับสุริยันพระจันทร
อนึ่งเล่าเข้าที่ศรีไสยาสน์
อย่าประมาทหมั่นคำนับลงกับหมอน
เป็นนิรันดร์สรรเสริญเจริญพร
คุณบิดรมารดาคุณอาจารย์ ฯ
๏ อนึ่งผ้าทรงจงนุ่งเหน็บข้างขวา
กันเขี้ยวงาจระเข้เดรัจฉาน
อนึ่งอย่าไปใต้ช่องคลองตะพาน
อย่าลอดร้านฟักแฟงแรงราคี
ทั้งไม้ลำค้ำเรือนแลเขื่อนคอก
ใครลอดออกอัปลักษณ์เสียศักดิ์ศรี
ถึงฤทธิ์เดชเวทมนตร์ดลจะดี
ตัวอัปรีย์แปรกลับให้อัปรา
อนึ่งไปไหนได้พบอสภซาก
อย่าออกปากทักทายร้ายนักหนา
ให้สรงน้ำชำระพระพักตรา
ตามตำราแก้กันอันตราย ฯ
๏ อนึ่งเครื่องผูกลูกสะกดตระกรุดคาด
เข้าไสยาสน์ยามหลับทับฉลาย
เครื่องอาวุธสุดห้ามอย่าข้ามกราย
อย่านอนซ้ายสตรีมักมีภัย
อนึ่งวันจันทร์คราสตรุษสารทสูรย์
วันเพ็ญบูรณ์พรรษาอัชฌาสัย
ทั้งวันเกิดเริดร้างให้ห่างไกล
ห้ามมิให้เสนหาถอยอายุ
แม้นสตรีมีระดูอย่าอยู่ด้วย
ถ้ามิม้วยก็มักเสียจักขุ
มักเกิดมีฝีพองเป็นหนองพุ
ควรทำนุบำรุงองค์ให้จงดี ฯ
๏ อนึ่งนั้นวันกำเนิดเกิดสวัสดิ์
อย่าฆ่าสัตว์เสียสง่าทั้งราศี
อายุน้อยถอยเลื่อนทุกเดือนปี
แล้วมักมีทุกข์โศกโรคโรคา
อนึ่งบรรทมถ้าลมคล่องทั้งสองฝ่าย
พระบาทซ้ายอย่าพาดพระบาทขวา
ข้างขวาคล่องต้องกลับทับซ้ายมา
เป็นมหามงคลเลิศประเสริฐนัก
อนึ่งว่าถ้าจะจรแลนอนนั่ง
สำเนียงดังโผงเผาะเกาะกุกกัก
คือคุณผีปิศาจอุบาทว์ยักษ์
ใครทายทักถูกฤทธิ์วิทยา ฯ
๏ ขอพระองค์จงจำไว้สำเหนียก
ดังนี้เรียกเรื่องสวัสดิรักษา
สำหรับองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา
ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์ขจัดภัย
บทโบราณท่านทำเป็นคำฉันท์
แต่คนนั้นมิใคร่แจ้งแถลงไข
จึงกล่าวกลับซับซ้อนเป็นกลอนไว้
หวังจะให้เจนจำได้ชำนาญ
สนองคุณมุลิกาสามิภักดิ์
ให้สูงศักดิ์สืบสมบัติพัสถาน
แม้นผิดเพี้ยนเปลี่ยนเรื่องเบื้องโบราณ
ขอประทานอภัยโทษได้โปรดเอย ฯ

ขอบพระคุณ :
http://www.reurnthai.com/wiki/สวัสดิรักษา
http://th.wikipedia.org/wiki/สวัสดิรักษา








 =============================================================



ผลงานอื่นๆของสุนทรภู่ใน โคลงกลอน

นิราศ
·       นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349) - แต่งเมื่อหลังพ้นโทษจากคุก และเดินทางไปหาพ่อที่เมืองแกลง
·       นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350) - แต่งหลังจากกลับจากเมืองแกลง และต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีในวันมาฆบูชา
·       นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371) - แต่งโดยสมมุติว่า เณรหนูพัด เป็นผู้แต่ง ไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทองที่จังหวัดอยุธยา
·       นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผลงานเรื่องเดียวของสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
·       นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375) - แต่งเมื่อครั้งยังบวชอยู่ และไปค้นหายาอายุวัฒนะตามลายแทงที่วัดเจ้าฟ้าอากาศ (ไม่ปรากฏว่าที่จริงคือวัดใด) ที่จังหวัดอยุธยา
·       นิราศอิเหนา (ไม่ปรากฏ, คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3) - แต่งเป็นเนื้อเรื่องอิเหนารำพันถึงนางบุษบา
·       รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385) - แต่งเมื่อครั้งจำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม แล้วเกิดฝันร้ายว่าชะตาขาด จึงบันทึกความฝันพร้อมรำพันความอาภัพของตัวไว้เป็น "รำพันพิลาป" จากนั้นจึงลาสิกขาบท
·       นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385) - เชื่อว่าแต่งเมื่อหลังจากลาสิกขาบทและเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปนมัสการพระประธมเจดีย์ (หรือพระปฐมเจดีย์) ที่เมืองนครชัยศรี
·       นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388) - แต่งเมื่อเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อว่าไปธุระราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง นิราศเรื่องนี้มีฉบับค้นพบเนื้อหาเพิ่มเติมซึ่ง อ.ล้อม เพ็งแก้ว เชื่อว่า บรรพบุรุษฝ่ายมารดาของสุนทรภู่เป็นชาวเมืองเพชรบุรี

 =============================================================
สุภาษิต
·       สวัสดิรักษา : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้าอาภรณ์
·       เพลงยาวถวายโอวาท : คาดว่าประพันธ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว

·       สุภาษิตสอนหญิง : เป็นหนึ่งในผลงานซึ่งยังเป็นที่เคลือบแคลงว่า สุนทรภู่เป็นผู้ประพันธ์จริงหรือไม่







สุภาษิตเรื่อง สวิสดิรักษา (สุนทรภู่)
  • Blogger Comments
  • Facebook Comments

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

Top