สุภาษิตสอนหญิง พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 6
|
|
|
ขอประพันธ์จรรยาสุภาษิต
|
ไว้เตือนจิตหญิงไทยในสยาม
|
ทั้งเริ่มรุ่นลักขณาสง่างาม
|
อยู่ในความดำริควรติตรอง
|
เป็นสตรีนี้ไซร้มิใช่ง่าย
|
สงวนกายเราไว้อย่าให้หมอง
|
จะยากจนข้นไร้วิสัยทอง
|
ย่อมจะต้องมีค่าราคาแพง
|
เหมือนพิกุลดีจริงไม่ทิ้งกลิ่น
|
ถึงตกดินจมทรายไม่หน่ายแหนง
|
ยังหอมหวานชวนชื่นระรื่นแรง
|
ไม่เหี่ยวแห้งไม่ทรามความนิยม
|
แต่หอมกลิ่นมาลาที่ว่าหอม
|
ชั่วถนอมเชยชิดสนิทสนม
|
เฉพาะเมื่อจับต้องประคองชม
|
เวลาดมชั่วครั้งไม่ยั่งยืน
|
อันหอมนามความดีสตรีนั้น
|
ไม่มีวันทรามเชยระเหยหืน
|
ถึงมาตรแม้นตัวตายไม่คลายคืน
|
ยังหอมชื่นชูนามเพราะความดี
|
เป็นผู้หญิงตำราที่ว่าสวย
|
ต้องกอปรด้วยเบญจลักษณ์เป็นศักดิ์ศรี
|
ถึงไม่ครบทั้งห้าตามมาลี
|
สมัยนี้สำคัญด้วยจรรยา
|
อันงามรูปงามทรัพย์บังคับยาก
|
มีน้อยมากก็ตามชาติวาสนา
|
ถึงร่างกายบุญกรรมก็ทำมา
|
มิใช่ว่าสรรสร้างได้ดังใจ
|
คงแต่เพียงที่สามให้งามจิต
|
งามจริตกิริยาอัชฌาสัย
|
งามวาจาไพเราะเสนาะใน
|
ดำรงไว้ให้งามสามประการ*
|
แม้สตรีมีงามเพียงสามสิ่ง
|
นับว่าหญิงน่ารักสมัครสมาน
|
ถึงรูปทรัพย์คับแค้นแสนกันดาร
|
ต้องประมาณว่างามตามตำรา
|
อีกนัยหนึ่งเครื่องประดับสำหรับนาฏ*
|
ศิลปศาสตร์เป็นของจะต้องหา
|
งามอะไรก็ไม่เยี่ยมเทียมวิชา
|
อาจจะพาให้กายสบายเบา
|
อันสตรีที่งามด้วยความรู้
|
เป็นที่ชูโฉมเชิดเลิศเฉลา
|
แต่อย่าเพียรเรียนเล่นพอเป็นเรา
|
ต้องเรียนเอารู้ดีจึงมีคุณ
|
ถึงพ่อแม่เราไซร้จะให้ทรัพย์
|
ก็สำหรับขาดเหลือช่วยเกื้อหนุน
|
ย่อมจะเป็นแต่ละเมื่อที่เจือจุน
|
ไม่เหมือนทุนทางวิชาจะหากิน
|
ด้วยความรู้นั้นเลิศประเสริฐสุด
|
เปรียบประดุจดังแควกระแสสินธุ์
|
จะวิดวักตักมาเป็นอาจินต์
|
ไม่รู้สิ้นแห้งขอดตลอดกาล
|
เท่ากับทรัพย์ตอดตัวชั่วชีวาตม์
|
ใครไม่อาจลอบลักมาหักหาญ
|
มีวิชาห้าข้อพอประมาณ
|
ที่นงคราญไทยเราควรเล่าเรียน
|
ข้อที่หนึ่งชี้อ้างทางหนังสือ
|
ต้องหัดปรือให้ชำนาญทั้งอ่านเขียน
|
เป็นเบื้องต้นของวิชาอันภเกียรณ์
|
จงพากเพียรพยายามตามปัญญา
|
แม้ยังไม่เติบโตตามโอกาส
|
จะสามารถเรียนได้หลายภาษา
|
อย่าย่นย่อท้อถอยตามเวลา
|
หาวิชาเสียก่อนอย่านอนใจ
|
มิเสียแรงเรียนรู้ถึงผู้หญิง*
|
ถ้าดีจริงอย่าพะวงคิดสงสัย
|
รัฐก็นิยมใช้ถมไป*
|
เมื่อทำได้รอบรู้เหมือนผู้ชาย
|
เช่นตัวอย่างยังมีที่สถาน
|
สำนักงานโทรศัพท์คอยรับสาย
|
ใช้สตรีทำแทนแสนสบาย
|
ไม่เสียหายการกิจสนิทดี
|
อย่าทำถ่อมยอมแพ้แก่บุรุษ
|
เรามนุษย์นี่หนามารศรี
|
ถึงกำเนิดเกิดมาเป็นนารี
|
วิชามีในตัวอย่ากลัวคน
|
ข้อที่สองนั้นทางช่างประดิษฐ์
|
หัตถกิจเย็บปักเป็นมรรคผล
|
สรรพสิ่งขึ้นชื่อฝีมือตน
|
ตลอดจนหักฝ้ายทำด้ายปอ
|
ควรจะเพียรเรียนรู้อย่าอยู่เปล่า
|
เป็นงานเบากิจหญิงจริงจริงหนอ
|
ยามธุระจะใช้ทำได้พอ
|
ไม่ต้องง้อจ้างวานชาวบ้านเขา
|
ด้วยความรู้รู้ไว้มิใช่ว่า
|
เอาใส่บ่าแบกหามเลยงามขำ
|
ถึงจะมีเงินทองไม่ต้องคลำ
|
ไว้แนะนำวิชาเป็นอาจารย์
|
ก็มีคุณจุนเจือเหมือนเกื้อชาติ
|
ให้สามารถรู้กิจโดยพิสดาร
|
เพื่อวิชาสารพัดหัตถการ
|
แผ่ไพศาลฟุ้งเฟื่องในเมืองไทย
|
ข้อที่สามวิทยาทางค้าขาย
|
ต้องขวนขวายฝืนหัดดัดนิสัย
|
ให้รู้จักชักทุนหนุนกำไร
|
และสิ่งได้ผลดีมีกำไร
|
ที่ซื้อง่ายขายคล่องต้องไม่ค้าง
|
เนื่องในทางพานิชจะคิดหา
|
จงพากเพียรเรียนจำเป็นตำรา
|
ซึ่งวิชาอย่างนี้ดีเหมือนกัน
|
เพราะหาทรัพย์นั้นไซร้ไม่จำกัด
|
เราถนัดทางไหนต้องใฝ่ฝัน
|
เมื่อได้โดยสุจริตไม่ผิดธรรม์
|
ย่อมเป็นอันต้องตามความนิยม
|
การจำหน่ายขายค้าใช่ว่าเล่น
|
รวยจนเป็นเศรษฐีมีไปถม
|
ถ้าถูกช่องไม่ช้าอย่าปรารมภ์
|
อาจอุดมเร็วพลันไม่ทันนาน
|
ข้อที่สี่นี้ไซร้ให้รู้จัก
|
ทางพิทักษ์ไข้ป่วยช่วยสังขาร
|
ต้องฝึกหัดซึ่งวิชาพยาบาล
|
ให้ชำนาญรู้ไว้ในวิธี
|
อีกทั้งกิจต่างๆทางรักษา
|
เป็นวิชาล้ำเลิศประเสริฐศรี
|
เพราะโรคาอาพาธอาจจะมี
|
รู้ไว้ดีติดขัดบำบัดตน
|
ยังประโยชน์ยิ่งแท้แก่ประเทศ
|
เมื่อมีเหตุยุทธนาโกลาหล
|
ฝ่ายบุรุษนั้นเขาเข้าประจัญ
|
เรานั้นเป็นพยาบาลทหารไป
|
เกิดเป็นตัวชั่วดีต้องมีจิต
|
กระหน่ำกิจช่วยชาติอย่าหวาดไหว
|
เพื่อดำรงอิสระคณะไทย
|
ของเราไว้ให้จำเริญดำเนินทัน
|
ข้อที่ห้าหน้าที่สตรีแท้
|
ทั้งควรแก่กิจหญิงทุกสิ่งสรรพ์
|
คือวิชาแพทย์บำรุงผดุงครรภ์
|
หญิงเหมือนกันสิ่งใดไม่ระคาง
|
ถึงโดยที่ลี้ลับจะจับต้อง
|
ก็แคล่วคล่องทำถนัดไม่ขัดขวาง
|
ความระอายฝ่ายเขาก็เบาบาง
|
เพราะแก่ทางวิทยาของนารี
|
แพทย์ผู้ชายอย่างไรไม่สนิท
|
ย่อมจะคิดอึดอัดน่าบัดสี
|
เพราะฉะนั้นควรหัดแพทย์สตรี
|
แต่ต้องมีเมตตากรุณาชน
|
สำหรับใครไร้ทรัพย์ที่คับเข็ญ
|
ก็จำเป็นช่วยเหลือเพื่อกุศล
|
ถ้าผู้ดีมีทรัพย์ไม่อับจน
|
จะหวังผลบ้างก็พอประมาณ
|
ทุกข์ของหญิงยิ่งยอดการคลอดบุตร
|
อกมนุษย์เหมือนกันสันนิษฐาน
|
ต้องเผื่อแผ่วิทยาเป็นสาธารณ์
|
อย่าต้องการลาภผลทุกคนไป
|
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment